xs
xsm
sm
md
lg

จากญี่ปุ่นสู่อีสาน “โคราชวากิว” เนื้อคุณภาพจากงานวิจัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

โกโบริ วัวพ่อพันธุ์แท้นำเข้าจากประเทศออสเตรเลีย
ถ้าพูดถึงเนื้อวัวที่อร่อยที่สุด ต้องมี “เนื้อวากิว” อยู่ในอันดับต้นๆ เป็นแน่ ด้วยชื่อเสียงอันลือเลื่องของความนุ่มละมุนละไมจนแทบละลายในปาก ทำให้เนื้อวากิวกลายเป็นที่ต้องการของคนทั่วโลก แต่ด้วยราคาที่แพงแสนแพงทำให้หลายคนเอื้อมไม่ถึง แต่ไม่ต้องเสียใจไป วันนี้นักวิจัย มทส.พัฒนา “โคราชวากิว” วัวลูกผสมไทยญี่ปุ่น เนื้อละมุนไขมันแทรกกระจาย ด้วยเทคนิคปรับปรุงพันธุ์ยกระดับ

ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ได้เดินทางไปยังมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จ.นครราชสีมา เพื่อพูดคุยกับปรมาจารย์ทางด้านการปรับปรุงพันธุ์สัตว์อย่าง รศ.ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร และหัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีตัวอ่อนและเซลล์ตั้งต้น มทส. และเยี่ยมชมสถานที่พัฒนาวัวพันธุ์ผสมชั้นเลิศชนิดใหม่ "โคราชวากิว"

รู้จักต้นตำรับ “เนื้อวากิว”
“โควากิว” เป็นโคเนื้อพันธุ์แท้พื้นเมืองของประเทศญี่ปุ่น เป็นเนื้อโคคุณภาพที่เยี่ยมที่ได้รับความนิยมมากจากเหล่านักชิมทั่วโลก โดยเฉพาะในออสเตรเลีย เกาหลี อิตาลี อเมริกา ยุโรป รวมถึงไทยเพราะเป็นเนื้อที่มีไขมันแทรกในกล้ามเนื้อสูง รสสัมผัสจึงนุ่มละมุนไม่แข็งกระด้างเหมือนเนื้อวัวทั่วไป ส่งผลให้มีราคาจำหน่ายสูงถึง 10,000-30,000 บาทต่อกิโลกรัม

คนทั่วไปมักเข้าใจว่า โควากิวและโคโกเบเป็นคนละสายพันธุ์กัน แต่ความจริงแล้วเป็นสายพันธุ์เดียวกัน โดยชื่อโกเบได้มาจากเมืองโกเบ เมืองท่าเรือขนาดใหญ่ที่มีการขนส่งเนื้อวากิวเป็นจำนวนมาก จนทำให้เนื้อวัวกลายเป็นสัญลักษณ์ของเมืองโกเบ จนถูกเรียกเป็นเนื้อโกเบมาตลอด

ที่มาที่ไปของการยกระดับสายพันธุ์
ด้วยพันธุกรรมของโควากิวที่ดีที่สุดด้านการให้ไขมันแทรก ทำให้เนื้อมีความนุ่มที่สุดเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อกลุ่มเล็กๆ ประมาณ 10 คนจึงสนใจในวัวสายพันธุ์นี้ ประกอบกับประสบการณ์ส่วนตัว ของ รศ.ดร.รังสรรค์ที่ได้เดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ด้านการปรับปรุงพันธุ์ การผสมเทียม การโคลนนิง ณ มหาวิทยาลัยเกียวโต เป็นเวลากว่า 4 ปี ทำให้เขาคุ้นเคยกับวัววากิวเป็นอย่างดี

“ผมไปเรียนทางด้านปรับปรุงพันธุ์ โคลนนิงพอดี ทำให้ทุกๆ วันพฤหัสบดีผมต้องไปที่โรงเชือด เพื่อไปเก็บรังไข่วัววากิวมารีด แล้วเลี้ยงให้เป็นไข่สุกเพื่อผลิตตัวอ่อนในหลอดแก้วเห็นมันแทบทุกวัน คลุกคลีกับมันตลอด เลยมีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับวากิวพอสมควร แล้วก็เห็นความเป็นไปได้ว่าจะสามารถเพาะเลี้ยงในไทยได้ด้วยเพราะวากิวไม่มีปัญหาต่อความร้อนที่จะต้องประสบกับสภาพอากาศของบ้านเรา และวากิวแรกคลอดมีน้ำหนักตัวน้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องการคลอดยาก แล้วเริ่มคิดโครงการที่จะนำเอาวัววากิวมาเลี้ยงที่เมืองไทย” รศ.ดร.รังสรรค์กล่าว

ทว่าการจะนำวัววากิวตัวเป็นๆ ออกนอกญี่ปุ่นเพื่อมาเลี้ยงในไทยก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทางญี่ปุ่นมีกฎหมายห้ามนำวัววากิวออกนอกประเทศ รศ.ดร.รังสรรค์ จึงมีแนวคิดนำพันธุกรรมวัววากิวมาผสมกับวัวไทย เพื่อยกระดับพันธุกรรมโคเนื้อ ให้ลูกวัวพันธุ์ผสมที่เกิดจากพ่อพันธุ์วากิวและแม่วัวไทยมีไขมันแรกในเนื้อมากขึ้น

น้ำเชื้อแพงหูฉี่
เริ่มแรกของการผลิตวัวพันธุ์โคราชวากิว ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างวัววากิวและวัวไทยพันธุ์พื้นเมือง รศ.ดร.รังสรรค์ ต้องนำเข้าน้ำเชื้อจากพ่อวัววากิวพันธุ์แท้ในสหรัฐฯ และออสเตรเลียที่มีราคาต่อหลอดประมาณ 1,000 บาท และแม่วัว 1 ตัวต้องใช้น้ำเชื้อเฉลี่ย 2 หลอดถึงจะติดลูก 1 ครั้ง ด้วยงบประมาณที่ค่อนข้างสูง กลายเป็นแรงกดดันให้เขาต้องหาวิธีใหม่ ซึ่งทางออกที่ลงตัวที่สุดคือ การซื้อพ่อพันธุ์วัววากิวพันธุ์แท้เพศผู้จากประเทศออสเตรเลีย

รศ.ดร.รังสรรค์ จึงตั้งระดมทุนจากสมาชิกในเว็บไซต์ไทยคาวด็อทคอม โดยมีเงื่อนไขว่าแต่ละคนให้ถือหุ้นขั้นต่ำ 1,000 บาท โดยผู้ถือหุ้นจะได้รับน้ำเชื้อแช่แข็งไปใช้ฟรี 10 หลอดและยังมีสิทธิ์เป็นเจ้าของโคตามหุ้นที่ถืออยู่ ซึ่งได้รับความสนใจจากเกษตรกรเป็นอย่างมาก จนระดมทุนได้กว่า 7 แสนบาท เป็นที่มาของ “โกโบริ” วัวพ่อพันธุ์วากิวเพศผู้พันธุ์แท้ตัวแรกจากประเทศออสเตรเลียที่ถูกส่งมายังประเทศไทย เมื่อวันที่ 6 ก.ย.50 ซึ่งได้นำมาเลี้ยงอยู่ที่ฟาร์มของศูนย์วิจัยเทคโนโลยีตัวอ่อนและเซลล์ต้นกำเนิด มทส. จ.นครราชสีมา จนถึงทุกวันนี้

“งงล่ะสิ ว่าทำไมนำเข้าจากออสเตรเลีย จริงที่ว่าญี่ปุ่นมีกฎหมายห้ามนำพันธุ์วากิวออกนอกประเทศ แต่สหรัฐฯ และออสเตรเลียเขาเร็วกว่าเรา เขานำวากิวออกไปเลี้ยงที่ประเทศเขาตั้งแต่ยังไม่มีกฎหมายนี้บังคับใช้แล้ว ถ้าเราจะนำพันธุกรรมวากิวมาเราจึงต้องซื้อจากออสเตรเลีย ตอนแรกซื้อมาในรูปน้ำเชื้อหลอดละพันบาท ซึ่งแพงมากแต่เราก็ต้องซื้อเพื่อมาลองผสมก่อน พอรู้ว่าใช้ได้ เลี้ยงวากิวในไทยได้ มีความต้องการจากเกษตรกรมากขึ้นเราจึงต้องขยับขยายเพื่อลดต้นทุน โดยการซื้อพ่อพันธุ์มาผลิตน้ำเชื้อเองซะเลย ซึ่งถูกกว่ามาก น้ำเชื้อหลอดนึงตกไม่เกิน 100 บาท แล้วเราก็นำมาขายให้เกษตรกรที่ต้องการเพียงหลอดละ 150 บาท” รศ.ดร.รังสรรค์ เผย

ปรับปรุงพันธุ์เพื่อคนไทยได้กินของดี
จนถึงตอนนี้การปรับปรุงพันธุ์ได้ดำเนินไปจนถึงลูกรุ่นที่ 3 แล้ว ทำให้ลูกวัวพันธุ์ผสมที่เกิดมามีลักษณะพันธุกรรมใกล้เคียงพันธุ์แท้ถึง 87.5 % มีลายไขมันแทรกสวยระดับ 4-10 ใกล้เคียงกับเนื้อวากิวนำเข้า แต่มีราคาที่ถูกกว่ามาก โดยมีราคาขายอยู่ที่ประมาณ 2,000-5,000 บาทต่อกิโลกรัมแล้วแต่ส่วน ซึ่งขณะนี้มีเกษตรกรใน จ.นครราชสีมา และ จ.สุรินทร์นำไปเลี้ยงและขยายพันธุ์ต่อนับพันตัว และมีการฝึกอบรมที่ มทส. พร้อมคู่มือการเลี้ยงโดยคณะทำงานของ รศ.ดร.รังสรรค์ ซึ่เป็นที่ปรึกษา

วัวบางส่วนได้ถูกชำแหละขายให้แก่ภัตตาคารและโรงแรมห้าดาวในชื่อของ “วัวพันธุ์โคราชวากิว” เพื่อจัดทำเป็นเมนูพิเศษต่างๆ เป็นที่เรียบร้อย และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในเรื่องรสชาติ แต่ รศ.ดร.รังสรรค์ ก็ยังตั้งใจว่าจะพัฒนาพันธุ์ต่อให้ถึงลูกรุ่นที่ 5 ซึ่งจะมีพันธุกรรมใกล้เคียงกับวาวากิวพันธุ์พื้นเมืองแท้ในญี่ปุ่นมากถึง 99.99% ซึ่งพันธุกรรมที่ดีขึ้นจะทำให้ไขมันแทรกมีเพิ่มขึ้น จนสามารรถผลิตเนื้อไขมันแทรกกล้ามเนื้อได้สูงถึงระดับ 8-12 ที่จะทำให้ราคาพุ่งไปถึงเกือบหลักหมื่นบาท

“ไขมันแทรกกล้ามเนื้อทำให้เราเห็นเนื้อมีริ้วสีขาวๆ แทรกอยู่ในเนื้อแดง นันแหละคือสวรรค์ของนักกิน เพราะมีมันนั่นแปลว่านุ่ม ไม่ว่าจะเอาไปทำอะไรมันก็อร่อยไปหมด ซึ่งวัววากิวเด่นที่พันธุกรรมตรงนี้ ในขณะที่วัวไทยหากสังเกต เราจะไม่มีไขมันแรกในเนื้อ แต่จะมีไขมันพอกบริเวณรอบๆ แทนทำให้เนื้อค่อนข้างแข็ง กระด้าง ทานสดไม่อร่อย ต้องนำไปต้มหรือตุ๋นนานๆ จึงจะรสชาติดี พอเรานำพันธุกรรมวากิวเข้าไปผสม ที่นี้วัวไทยก็จะเริ่มมีไขมันแทรกเนื้อแล้วก็มีรสชาติที่อร่อยขึ้น ทำให้ประชาชนได้กินของอร่อย ในราคาที่ไม่แพงมากเหมือนนำเข้าจากญี่ปุ่น และเกษตรกรก็จะขายเนื้อได้ราคาดี ในขณะที่การเลี้ยงดูก็ไม่ได้ยุ่งยากเพียงแต่ต้องทำตามระบบ และไม่ได้ใช้เวลาในการเลี้ยงนานไปกว่าการเลี้ยงวัวเนื้อปกติ” รศ.ดร.รังสรรค์ กล่าวแก่ ผู้จัดการวิทยาศาสตร์

เลี้ยงวัววากิว คือ งานละเอียด
รศ.ดร.รังสรร์ เผยว่า การเลี้ยงวัววากิวเป็นงานประณีตที่ต้องใช้ความละเอียดและตรงเวลาในการทำ และต้องทำตามวิธีอย่างเคร่งครัดเพราะทั้งหมด คือ องค์ความรู้ที่ประมวลได้จากการวิจัย หากไม่ทำตามจะทำให้การขุนวัวไม่ได้ผล วัวจะไม่โตอ้วนไม่พอและได้ไขมันแทรกต่ำ โดยจะเริ่มขุนเมื่อวัวมีอายุประมาณ 13-18 เดือน อาหารเริ่มแรกจะเหมือนกับวัวปกติที่จะกินอาหารข้น, กากถั่ว, จมูกข้าวโพด, หญ้า, ฟาง เป็นอาหาร จากนั้นจะหยุดให้อาหารที่มีสีเหลืองและสีเขียว เช่น หญ้าสดและข้าวโพด เพราะวิตามินเอ ที่อยู่ในอาหารเหล่านั้นจะยับยั้งการสร้างไขมันในชั้นกล้ามเนื้อ ให้เหลือแต่อาหารข้น ฟาง และแร่ธาตุในช่วงเวลาที่กำหนดที่อาจแบ่งออกเป็น 2 มื้อ หรือ 3 มื้อใหญ่ต่อวัน โดยจะให้อยู่ภายในคอกที่มีขนาดไม่กว้างนักประมาณ 4x6 เมตรต่อตัวเพื่อลดกิจกรรมการเดินของวัว และขุนไปแบบนี้จนถึงอายุประมาณ 30 เดือนจนมีน้ำหนักตามต้องการที่ประมาณ 700-800 กิโลกรัมจึงจะส่งเข้าโรงเชือด

“หลังเข้าโรงเชือดส่วนต่างๆ ก็จะถูกแยกออก ทั้งหนัง กระดูก หัว หาง พวกนี้ก็จะถูกนำไปแปรรูปต่อกับโรงงานหนังหรืออะไรก็แล้วแต่ ส่วนเนื้อจะถูกนำไปบ่มต่ออีกประมาณ 1-2 สัปดาห์ ไม่ใช่นำไปขายได้ทันที เพราะธรรมเนียมที่ญี่ปุ่นทำและผลยืนยันจากงานวิจัยบอกว่า การนำเนื้อไปบ่มที่อุณหภูมิติดลบ 3 องศาเซลเซียสหลังการชำแหละ จะทำให้เนื้อมีคุณภาพดีขึ้น เพราะกลูตามิกแอซิดหรือรสอร่อยในเนื้อจะออกมา เป็นเคล็ดลับที่ทำกันมานานแต่คนไม่ค่อยรู้ จากนั้นจึงค่อยส่งขายตามภัตตาคารต่างๆ” รศ.ดร.รังสรรค์ ระบุ

หวังโคราชวากิวช่วยดึงราคาตลาดเนื้อให้สูงขึ้น
อีกแรงบันดาลใจที่ทำให้ รศ.ดร.รังสรรค์สนใจปรับปรุงพันธุ์วัวโคราชวากิวเพราะราคาเนื้อวัวในประเทศตกต่ำจากการแทรกแซงของเนื้อเกรดต่ำจากต่างประเทศที่ถูกส่งเข้ามาขายในประเทศไทยแบบราคาถูก ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในประเทศถูกกดราคา ประกอบกับไทยและประเทศออสเตรเลียได้ลงนามเปิดเขตการค้าเสรี หรือ FTA ร่วมกัน ทำให้ในอนาคตตลาดเนื้อวัวในประเทศจะถูกกลืนด้วยเนื้อพันธุ์พื้นเมืองจากประเทศออสเตรเลียซึ่งมีคุณภาพพอๆ กับเนื้อไทยแต่มีราคาถูกกว่า ในขณะที่ออสเตรเลียไม่สามารถผลิตวัววากิวที่มีคุณภาพถูกกว่าไทยได้ ด้วยปัจจัยของต้นทุนที่สูงกว่า เขาจึงหวังว่าสายพันธุ์วัวโคราชวากิวที่เขาพัฒนาขึ้นจะเป็นตัวยืนราคาในตลาด และช่วยลดการนำเข้าเนื้อวัววากิวจากประเทศออสเตรเลียที่มีมูลค่าสูงถึง 2,000-3,000 ล้านบาทต่อปีได้ โดยในอนาคตอันใกล้ เมื่อพัฒนาสายพันธุ์รุ่นลูกได้เทียบเคียงกับวัววากิวพันธุ์แท้จะส่งขายไปยังประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และจีน ซึ่งเป็นตลาดรองรับเนื้อที่ใหญ่ที่สุดของโลกด้วย
วัววากิวมีพันธุกรรมไขมันแทรกกล้ามเนื้อ ทำให้เนื้อนุ่มอร่อย ยิ่งมีไขมันแทรกมากราคายิ่งสูงมาก
ฟาร์มในศูนย์วิจัยเทคโนโลยีตัวอ่อนและเซลล์ต้นกำเนิด มทส. จ.นครราชสีมา
ทาโร่ วัววากิวพันธุ์แท้ พ่อพันธุ์อีกตัวที่นำเข้าจากประเทศออสเตรเลีย ถูกเลี้ยงอยู่ในคอกเปิดรับอากาศธรรมชาติได้ เพราะวัววากิวไม่มีปัญหาต่ออากาศร้อนในเมืองไทย
วัววากิวขนาดโตเต็มวัย มีลำตัวใหญ่ปกคลุมด้วยขนสีดำสั้น มีน้ำหนักตัวได้มากถึง 1 ตัน
อาหารข้น อาหารหลักของวัววากิว
ฟาง อาหารหลักของวัววากิว
ลักษณะคอกของพ่อพันธุ์วัววากิว
รศ.ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร และหัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีตัวอ่อนและเซลล์ตั้งต้น มทส.






*******************************



กำลังโหลดความคิดเห็น