xs
xsm
sm
md
lg

แก่แล้วจะเข้าใจ...นวัตกรรมตอบโจทย์ผู้สูงวัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมศักดิ์ พิพัฒน์ผจง กรรมการบริหาร บ.อีโคเพนท์ จำกัด หนึ่งในผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการ iTAP ร่วมทดสอบเก้าเพื่อผู้สูงวัย
"จะลุกก็โอย จะนั่งก็โอย" ปัญหาสุขภาพที่ตามมาพร้อมกับตัวเลขที่เพิ่มขึ้นของอายุ ทำให้หลายๆ บริษัทเดินหน้าพัฒนานวัตกรรม ผุดเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ตามความต้องการของบรรดาคุณลุง คุณป้า คุณปู่ คุณตา ผู้มีกำลังซื้อแต่สุขภาพร่างกายเริ่มไม่อำนวย
เก้าอี้ไม้สักถูกออกแบบมาให้มีลักษณะโค้งมนเพื่อรองรับสรีระ มีหูจับเพื่อความแข็งแรงและอีกด้านหนึ่งเป็นแท่งไม้ธรรมดา เพราะผ่านการสอบถามความเห็นจากผู้สูงวัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการจับเก้าอี้ ที่ส่วนมากมักชอบนำฝ่ามือไปขูดกับสันไว้เพื่อการผ่อนคลาย บ.ดีสวัสดิ์ จำกัด จึงออกแบบเก้าอี้ออกมาให้มีหน้าตาอย่างที่เห็น ซึ่งไม้ในลักษณะนี้สามารถเปียกน้ำได้ จึงเหมาะเป็นเก้าอี้อาบน้ำของผู้สูงอายุ
ผลิตภัณฑ์กลุ่มแรกที่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์จะแนะนำให้รู้จักคือเป็นผลิตภัณฑ์จาก บริษัท ดีสวัสดิ์ อินดัสทรี จำกัด บริษัทผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์และของใช้ภายในบ้านจากไม้สักฝีมือคนไทย ผู้ประกอบการเดิมจากโครงการ สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) รักษ์โลก ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่ได้สร้างสรรค์ผลงานจากไม้สักจำนวนมากด้วยแนวความคิดแบบนอกกรอบ
เก้าอี้เพื่อผู้สูงอายุแบบมีเบาะ เหมาะสำหรับการนั่งเป็นเวลานานๆ ช่วยให้ไม่ปวดหลัง ปวดก้น
หัวด้านหนึ่งของเก้าอี้ผู้สูงอายุ ถูกออกแบบมาให้รองรับกับพฤติกรรมชอบนวดฝ่ามือของผู้สูงอายุ
ก่อนการสร้างโต๊ะผู้ออกแบบได้ลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับผู้สูงวัย ทำให้ทราบว่าพวกเขามักมีปัญหามือแห้งทำให้การหยิบจับเป็นไปด้วยความลำบาก จึงออกแบบให้โต๊ะมีร่องอยู่ด้านล่างเพื่อเพิ่มพื้นที่ผิวการจับ
ไม้สักถูกแซะให้เป็นร่องเพื่อให้สะดวกต่อการจับเคลื่อนที่ของผู้สูงอายุ
เก้าอี้สำหรับผู้ป่วยพาร์กินสัน ถูกฝังหมุดไว้ที่บริเวณแขนเก้าอี้เพราะเมื่อผู่ป่วยจับจะทำให้เกิดการนวดกระตุ้นบริเวณนิ้วมือซึ่งเป็นการบำบัดพาร์กินสันไปในตัว
เก้าอี้อักษรเบลล์ ที่เขียนคำอ่านไว้ว่า ถ้านั่งเก้าอี้นี้คนเดียว ช่วยเขยิบไปข้างๆ ให้คนอื่นนั่งด้วยสิ เฟอร์นิเจอร์แนวใหม่ที่ผู้ออกแบบเผยว่าน่าจะตอบโจทย์สังคมได้ดีในยุคปัจจุบัน
นายจิรชัย ตั้งกิจงามวงศ์ ประธานฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัท ดีสวัสดิ์ อินดัสทรี จำกัด กล่าวว่า ดีสวัสด์เคยทำผลิตภัณฑ์มาแล้วแทบครบทุกแบบ ทั้งในส่วนของผลิตภัณฑ์รักษ์โลก หรือผลิตภัณฑ์แนวศิลปะซึ่งก็ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี แต่ไม่ตอบโจทย์ในใจเขาจากการเดินทางไปประกวดผลงานในหลายๆ ประเทศเขาได้เห็นมุมมองของการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ทำขึ้นเพื่อผู้สูงอายุซึ่งในประเทศไทยยังไม่มี จึงริเริ่มการออกแบบผลิตภัณฑ์แบบใส่ใจ โดยทำการลงพื้นที่สำรวจปัญหาและความต้องการของผู้สูงอายุด้วยตัวเอง

"คนแก่นี่ถ้าได้ลงไปคุยกับหลายๆคนจะรู้เลยว่าเขาป่วยไม่เหมือนกัน ปัญหาสุขภาพไม่เหมือนกันสักคน เพราะกว่าจะแก่แต่ละคนทำงาน หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันมา ไม่เหมือนเด็กที่ถูกเลี้ยงมาเหมือนๆ กัน งานแต่ละชิ้นที่ผมทำจึงต้องใส่ใจว่าปัญหาที่มักพบของคนแก่คืออะไร หลักๆ คือการยึดเกาะเพราะเขาลุกเดินไม่ค่อยไหว เก้าอี้ของเราจึงเน้นไปที่หูจับ และผิวสัมผัสที่ไม่ลื่น สำหรับผมถ้าลูกค้าสัก 10 คนพอใจผมก็มีความสุขแล้ว มันรู้สึกดีว่าเราได้ทำอะไรเพื่อคนที่ใกล้ตัวจริงๆ ไม่เหมือนสินค้ารักษ์โลกที่ทำไปเท่าไหร่ก็ไม่รู้ว่ารักจริงไหม โลกจะหายร้อนขึ้นบ้างหรือเปล่า" ผู้ประกอบการ บ.ดีสวัสดิ์ จำกัด ไล่เรียง
นายจิรชัย ตั้งกิจงามวงศ์ ประธานฝ่ายวิจัยและพัฒนา บ.ดีสวัสดิ์ อินดัสทรี จำกัด
ต่อมาเป็นส่วนของ บริษัท โมเดิร์นฟอร์ม จำกัด ซึ่งได้นำเตียงเพื่อผู้สูงอายุที่สามารถปรับนั่ง นอนและแยกส่วนเป็นโซฟาได้มาจัดแสดง ทำให้เห็นนวัตกรรมที่ล้ำไปอีกขั้น เพราะนอกจากเตียงจะทำจากไม้จริงที่มีความสวยงามและอะลูมิเนียมที่คงทนแข็งแรงแล้ว ยังมีการนำเทคโนโลยี Micro- Simulation System หรือระบบปีกผีเสื้อที่ช่วยกระจายน้ำหนัก ลดแรงกดทับของร่างกายและช่วยกระตุ้นปลายประสาทในขณะที่นอน พร้อมด้วยระบบรับคำสั่งอัตโนมัติอัจฉริยะอีกมากมาย สนนราคาอยู่ที่เตียงละ 440,000 บาท ซึ่งขณะนี้มีใช้ในโรงพยาบาลรัฐและเอกชนบางแห่ง
เตียงเอนกประสงค์สำหรับผู้สูงอายุ ผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุดจากโมเดินฟอร์ม
ระบบปีกผีเสื้อ รับแรงดันและช่วยกระจายน้ำหนัก
ขวดน้ำถูกออกแบบให้มีช่องตรงกลางเพื่อความสะดวกของผู้สูงวัยที่ไม่มีแรงแขน ซึ่งจะให้น้ำเพียงแค่หนึ่งอึกเมื่อยึกขึ้นดื่ม  แก้ปัญหาการสำลักน้ำที่พบได้บ่อย
ในส่วนต่อมาเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบฝีมือนักศึกษาปริญญาตรี จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่ออกแบบผลิตภัณฑ์ "ขวดน้ำ" เพื่อผู้สูงอายุที่มีพฤติกรรมดื่มน้ำน้อย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเส้นเลือดในสมอง ที่มีปัญหามืออ่อนแรง ไม่มีแรงยกขวดน้ำขึ้นดื่มและมักสำลักน้ำเพราะควบคุมปริมาณน้ำในแต่ละครั้งไม่ได้ ด้วยการออกแบบให้ขวดมีช่องว่างตรงกลางเพื่อง่ายกับการสอดมือหยิบจับ และสามารถเปิดปุ่มดื่มได้ง่ายเพียงกดคลิ้กเดียว โดยน้ำที่ออกมาจากขวดจะออกมาในปริมาณเพียง 1 อึกเท่านั้นเพื่อป้องกันการสะอึก
นายโพธ นิลสอาด อาจารย์ สาขาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มจธ. หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญที่จะมาช่วยในโครงการ iTAP
โต๊ะทำครัวเพื่อผู้สูงอายุได้แรงบันดาลใจมาจากห่อหมกที่เป็นการรวมทุกอย่างไว้ด้วยกันบนโต๊ะเอนกประสงค์
นวัตกรรมชิ้นสุดท้ายที่นำมาเสนอในวันนี้คือ โต๊ะทำงานเอนกประสงค์เพื่อผู้สูงอายุ ผลงานของ น.ส. ณิชกมล เตชะทวีกิจกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มจธ.ที่ได้ไอเดียการออกแบบจากการสังเกตพฤติกรรมของผู้สูงวัยที่ชอบทำกับข้าว

"ผู้สูงอายุเวลาอยู่บ้านเฉยๆ ไม่ได้ทำอะไรก็มักจะทำกับข้าวค่ะ รอคนในบ้านกลับมากิน เลยคิดออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สามารถทำให้เขาทำทุกอย่างได้แบบไม่ต้องลุกไปหยิบนั่นนี่บ่อยๆ ออกมาเป็นโต๊ะอเนกประสงค์ที่สามารถเปิดเข้าเปิดออก ยกถอดประกอบได้ ตามลักษณะของ "ห่อหมก" แนวคิดหลักของการสร้างสรรค์งานชิ้นนี้ที่เป็นการจับทุกอย่างมาหมกๆ ไว้รวมกัน" ณิชกมล กล่าว
น.ส. ณิชกมล เตชะทวีกิจกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มจธ.
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และโครงการ iTAP สวทช. ได้ร่วมมือจัดโครงการ "ผลิตภัณฑ์ตามแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์สำหรับผู้สูงอายุ" เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการที่มีความสนใจร่วมทำการวิจัยการออกแบบผลิตภัณฑ์ กระบวนการ และการบริการสำหรับนวัตกรรมสินค้า ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุ

น.ส.ชนากานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาเทคโนโลยี โครงการ iTAP สวทช. กล่าวว่า โครงการที่จัดทำขึ้นเป็นความร่วมมือระหว่าง สวทช. ภายใต้โครงการ iTAP ที่มีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมในรูปแบบต่างๆ ด้วยเทคโนโลยีไทยทำร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่มีการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและการฟื้นฟู มจธ. (CART) เพื่อวิจัยและประยุกต์เทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้กับการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการเพื่ออำนวยความสะดวกรวมถึงการฟื้นฟูผู้สูงอายุ ผู้ป่วยและผู้พิการ

นอกจากนี้ศูนย์บริการวิจัยและออกแบบ มจธ.ยังได้ร่วมมือกับ CART ในการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของผู้สูงอายุ หรือ เอเบิลแล็บ (ABLE LAB) เพื่อทำการวิจัยออกแบบผลิตภัณฑ์ กระบวนการและบริการสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อให้เกิดความพร้อมของภาคธุรกิจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ

"เรื่องเทรนด์ผู้สูงอายุนี่ได้มาตอนไปดูงานที่ญี่ปุ่น เห็นเทคโนโลยี เฟอร์นิเจอร์ หรือแม้แต่มหาวิทยาลัยผู้ใหญ่ เขาก็ทำทุกอย่างแบบแคร์ผู้สูงอายุ เห็นแล้วรู้ว่าเขาใส่ใจ จึงเกิดแนวคิดว่าเราควรจะมีผลิตภัณฑ์เพื่อผู้สูงอายุบ้าง สวทช.มีโครงการ iTAP ที่จะให้การสนับสนุนเรื่องเทคโนโลยีและงบประมาณอยู่แล้ว เราจึงเริ่มมองหาพันธมิตรที่มีศักยภาพด้านโครงการเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ซึ่ง มจธ.มีศูนย์ที่ดูแลจุดนี้อยู่ จึงเกิดเป็นความร่วมมือระหว่างเรา, มจธ. และเอเบิลแลป ที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือภาคเอกชนที่ต้องการผลิตสินค้าเพื่อผู้สูงอายุ"

ทั้งนี้ สวทช.จะคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีแนวคิดที่สอดคล้องกับนโยบายของโครงการ เป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่มีวงเงินลงทุนไม่เกิน 200 ล้านบาทและเป็นเอกชนที่อยู่ในภาคการผลิต ทั้งสิ้น 8 บริษัทมาดำเนินโครงการนำร่อง โดยใช้ผู้เชี่ยวชาญจาก มจธ.เป็นที่ปรึกษา โดย สวทช.จะให้การสนับสนุนผู้ประกอบการด้านค่าตอบแทนผู้เชี่ยวชาญ 50%, ค่าการทดสอบทดลองผลิตภัณฑ์เพื่อมาตรฐาน 50% และการใช้วัสดุสิ้นเปลืองอีก 50% หรือไม่เกินงบประมาณบริษัทละ 400,000 บาท โดยหลังจากการคัดเลือกจะมีการฝึกอบรมพัฒนาธุรกิจเป็นระยะ และคาดว่าภายใน 6 เดือน ผลิตภัณฑ์ต้นแบบชิ้นแรกของแต่ละบริษัทจะเสร็จพร้อมส่งออกสู่สายตาประชาชน

**** ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโครงการได้ "ภายในเดือน ก.ค." ที่ น.ส.พนิดา ศรีประย่า โครงการ iTAP สวทช. โทร 02-5647000 ต่อ 1301 หรือที่ อีเมลล์ panita@tmc.nstda.or.th
น.ส.ชนากานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาเทคโนโลยี โครงการ iTAP สวทช.






*******************************



กำลังโหลดความคิดเห็น