xs
xsm
sm
md
lg

เป็นมากกว่ารั้ว...บล็อคกำแพงดูดซับเสียงรบกวนนอกบ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปฏิเวธ ศลิษฏ์อรรถกร
เป็นแค่รั้วกั้นอาณาเขตบริเวณดูธรรมดาไป นวัตกรรมสร้างบ้านผลงานคนไทยจึงเพิ่มฟังก์ชันให้บล็อคสร้างรั้วที่มีคุณสมบัติเพิ่มอย่างการดูดซับเสียง ซึ่งแม้เป็นปัญหามลภาวะที่คนไทยยังไม่ค่อยตระหนัก แต่ก็เป็นทางเลือกสำหรับผู้ต้องการสร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นจากที่อยู่อาศัย

“เราทำธุรกิจรั้วเป็นหลัก แต่เราต้องการผลิตรั้วที่มากกว่ารั้ว มีฟังก์ชันมากกว่าป้องกันขโมย” ปฏิเวธ ศลิษฏ์อรรถกร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยงสวัสดิ์คอนสตัคชั่น โปรดักส์ จำกัด เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

จากความต้องการพัฒนารั้วให้มีคุณสมบัติมากกว่าแค่แบ่งกั้นอาณาเขต ทางยงสวัสดิ์คอนสตัคชั่นจึงเข้าร่วมโครงการ “นวัตกรรมการพัฒนาที่พักอาศัยกึ่งสำเร็จรูป” (Prefabrication) หรือพรีแฟบ (Prefab) ของโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

การพัฒนาบล็อคกำแพงดูดซับเสียงเป็นหนึ่งใน 3 นวัตกรรมที่ยงสวัสดิ์คอนสตัคชั่นพัฒนาขึ้นภายใต้โครงการดังกล่าว ซึ่งมี กัลยา โกวิทวิสิทธิ์ อาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสร์การผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหัวหน้าคณะในการให้ความรู้ โดยบล็อคที่พัฒนาขึ้นถูกออกแบบเป็นรูปข้าวหลามตัดเพื่อใช้โครงสร้างช่วยในการดูดซับเสียง และจากการทดสอบเบื้องต้นพบว่าดูดซับเสียงได้ 40-50% แต่ทางบริษัทต้องการสร้างความเชื่อมั่นแก่ลูกค้าโดยได้ติดต่อไปยังคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีห้องปฏิบัติการด้านการดูดซับเสียงเพียงแห่งเดียวในประเทศ แต่ยังต้องรอคิวในการทดสอบ

“ทางอาจารย์เสนอว่ามีหลักการลดเสียงรบกวน 2 แบบ คือ ใช้การสะท้อนเสียงออกกับการดูดซับเสียง ซึ่งเราไม่ต้องการสร้างมลภาวะเพิ่มให้แก่สังคม จึงเลือกการลดเสียงรบกวนแบบดูดซับเสียง เนื่องจากเราทำเรื่องรั้วเป็นหลัก รั้วส่วนมากจะอยู่ติดถนน การลดเสียงรบกวนจากการจราจรได้จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้อยู่อาศัย แต่ปัญหานี้คนไทยยังมองเป็นเรื่องไกลตัว และไม่มีเทคโนโลยีลดเสียงรบกวนของคนไทย เทคโนโลยีนี้มีให้เห็นบ้างตามทางด่วนหรือทางยกระดับที่อยู่ติดที่อยู่อาศัยประชาชน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของต่างประเทศ แต่การประยุกต์ใช้ตามบ้านนั้นยังไม่มีให้เห็น”  ปฏิเวธระบุ

ทั้งนี้ บล็อคดูดซับเสียงของยงสวัสดิ์คอนสตัคชั่นยังอยู่ระหว่างการพัฒนา โดยนอกจากรอวัดประสิทธิภาพจากห้องปฏิบัติการของจุฬาฯ แล้ว ปฏิเวธระบุว่า อาจจะปรับปรุงเรื่องน้ำหนักของบล็อค จากที่ใช้วัสดุเป็นคอนกรีตอาจเปลี่ยนไปใช้เป็นวัสดุมวลเบา นอกจากนี้ทางบริษัทยังมีผลิตภัณฑ์อีก 2 อย่างที่ร่วมพัฒนาภายใต้โครงการของ iTAP คือ รั้วดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งอยู่ระหว่างการหาสารเคมีช่วยดูดซับคาร์บอน และผนังกรีนวอลล์ (Green Wall) ที่สามารถปลูกไม้ดอกไม้ประดับได้

สำหรับโครงการนวัตกรรมการพัฒนาที่พักอาศัยกึ่งสำเร็จรูปของ iTAP นี้ นางเกศวรงค์ หงส์ลดารมภ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช.ระบุว่า เป็นโครงการที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2553-2557 ซึ่งช่วยสนับสนุนนวัตกรรมและการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ หรือสร้างความแตกต่างผ่านการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ภายใต้ทรัพยากรของโรงงานที่มีจำกัด  
บล็อคดูดซับเสียงรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ที่มีโครงสร้างช่วยดูดซับเสียงรบกวน (ภาพจาก ปฏิเวธ ศลิษฏ์อรรถกร)
บล็อคดูดซับเสียงที่มีโครงสร้างช่วยดูดซับเสียงรบกวนอีกรูปทรง (ภาพจาก ปฏิเวธ ศลิษฏ์อรรถกร)
Green Wall รั้วปลูกไม้ดอก ไม้ประดับได้  (ภาพจาก ปฏิเวธ ศลิษฏ์อรรถกร)






*******************************

"ผมไม่ได้ถ่ายภาพดาราศาสตร์เพื่อล่ารางวัล แต่ผมถ่ายเพราะผมมีความสุข" คำพูดจาก สิทธิ์ สิตไทย อาจารย์มหาวิทยาลัยที่อุทิศเวลาว่างให้การถ่ายภาพดาราศาสตร์ จนคว้า 3 รางวัลจากการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2557 ไปครอง อ่านต่อเพิ่มเติม www.manager.co.th/science #managersci #sciencenews #astronomy #astrography #astvscience

A photo posted by AstvScience (@astvscience) on


กำลังโหลดความคิดเห็น