หลังร่วมพัฒนาจนได้เส้นพอลิเมอร์ทดแทนหวายธรรมชาติ นักวิจัยไทยรับโจทย์เอกชนต่อ เดินหน้าพัฒนาเฟอร์นิเจอร์หวายเทียมที่เติมผงสมุนไพรสร้างกลิ่นบำบัดเป็นรายแรกของไทย ให้กลิ่นยาวนาน 3-4 เดือน ประเดิมกลิ่นตะไคร้ ส้ม อบเชยและโป๊ยกั๊ก
ผศ.ดร.อุทัย มีคำ จากภาควิชาวิศวกรรมพอลิเมอร์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ในฐานะนักวิชาการที่ปรึกษาภายใต้โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เผยว่า ได้ช่วยบริษัทเอกชนพัฒนาเส้นหวายเทียมทดแทนวัสดุธรรมชาติที่ถูกตัดตามกฎหมาย และล่าสุดได้พัฒนาให้หวายเทียนมีกลิ่นด้วยการเติมผงสมุนไพรลงไป
“ตรงนี้นับเป็นความท้าทาย เพราะเราใส่ผงสมุนไพรลงไป แต่ในกระบวนการผลิตต้องใช้อุณหภูมิสูงกว่า 200 องศาเซลเซียส จะทำให้วัสดุธรรมชาติเหล่านี้เปลี่ยนเป็นกลิ่นไหม้ ซึ่งเราก็ต้องใช้เทคนิคเชิงวิศวกรรมเข้ามาชวยในการแก้ปัญหา” ผศ.ดร.อุทัยเผย และบอกทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์อีกว่า กลิ่นในหวายเทียมนี้สามารถคงอยู่ได้นาน 3-4 เดือน และเมื่อหมดกลิ่นแล้วสามารถฉีดหรือเช็ดด้วยกลิ่นสมุนไพรที่ต้องการ โดยกลิ่นคงทน 15-30 วัน ขณะที่เส้นหวายแบบเดิมนั้นกลิ่นจางไปภายใน 5 นาที
ทั้งนี้ เป็นการพัฒนาเพื่อแก้โจทย์ปัญหาให้แก่ บริษัท ฮาวายไทย จำกัด ซึ่ง ผศ.ดร.อุทัยระว่า มีความร่วมมือกันมานานกว่า 10 ปี เนื่องจากทางบริษัทประสบปัญหาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากหวายเทียม และได้ลงประกาศผ่านหนังสือพิมพ์เพื่อรับผู้เชี่ยวชาญมาช่วยแก้ปัญหา เขาจึงได้ติดต่อไปยังบริษัทและเสนอตัวช่วยแก้ปัญหา
เดิมทีฮาวายไทยเลือกใช้พลาสติก PP หรือ โพลีโพรพีลีน แต่ในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ต้องมีการสานเข้าเหลี่ยมเข้ามุม แล้วพบปัญหาว่าเมื่อพอลิเมอร์ถูกยืดแล้วจะกลายเป็นสีขาว และไม่เป็นที่ต้องการของลูกค้า นอกจากนี้เมื่อวางตากแดดแล้วจะแห้งกรอบ ซึ่งวิศวกรพอลิเมอร์ทราบดีว่าเป็นลักษณะเฉพาะที่พบได้ในพอลิเมอร์ชนิดนี้ เขาจึงแนะนำให้ทางบริษัทหันมาใช้พลาสติก PE หรือ โพลีเอทีลีนแทน และเขายังแนะนำและร่วมพัฒนาวัสดุเลียนแบบผักตบชวาที่ทำจากพลาสติก อีกทั้งต่อยอดมาถึงเรื่องการเติมกลิ่นลงหวายเทียม ซึ่ง iTAP ให้ทุนสนับสนุน 50% ของงบประมาณโครงการ
หวายเทียมดังกล่าวประเดิมกลิ่นสมุนไพร 4 กลิ่น คือ กลิ่นตะไคร้ กลิ่น้สม กลิ่นอบเชย และกลิ่นโป๊ยกั๊ก ซึ่ง นายวิวัฒน์ วิภวพาณิชย์ กรรมการบริหารฮาวายไทย ระบุว่า เลือกกลิ่นดังกล่าวเนื่องจากเป็นกลิ่นเชิงพาณิชย์ ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือกลุ่มธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท สปา และร้านอาหาร โดยปลายปีนี้จะประเดิมส่งออกไปยังยุโรปและญี่ปุ่น และได้จดสิทธิบัตรภายใต้แบรนด์ HAWAII THAI