xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยไทยผลิตพอลิเมอร์อุ้มน้ำ 200 เท่า ช่วยเกษตรกรหน้าแล้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แปลงข้าวโพด
สทน.- นักวิจัย สทน. ผลิต พอลิเมอร์ดูดซึมน้ำจากแป้งมันสำปะหลัง ดูดซึมน้ำสูงสุด 200 เท่า สามารถนำมาใช้ผสมดิน เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติในการอุ้มน้ำในแปลงปลูกพืชที่มีพื้นที่แห้งแล้ง หรือสามารถใช้ผสมกับดินช่วยลดความถี่ในการรดน้ำต้นไม้ลง นำไปทดลองกับพืชไร่ได้ผลดี

ดร.สมพร จองคำ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) เปิดเผยว่า จากปัญหาภัยแล้งในปีที่ผ่านมา น้ำซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการทำการเกษตรจะขาดแคลน ในส่วนของ สทน. มีผลงานวิจัยที่สามารถนำในช่วยเกษตรกรในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ได้แก่ พอลิเมอร์ดูดซึมน้ำสูง ซึ่งเป็นโพลิเมอร์ที่ผลิตจากธรรมชาติ นำมาผ่านการฉายรังสี เพื่อปรับคุณสมบัติให้ไม่ละลายน้ำ แต่บวมน้ำได้ดี โดยสามารถดูดซึมน้ำได้ปริมาณประมาณ 200 เท่า เมื่อเทียบกับน้ำหนักแห้ง

“พอลิเมอร์ดูดซึมน้ำสูงสามารถนำมาใช้ผสมดิน เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติในการอุ้มน้ำในแปลงปลูกพืชที่มีพื้นที่แห้งแล้ง หรือสามารถใช้ผสมกับดินเพื่อปลูกในอาคารหรือบ้านเรือน ซึ่งสามารถช่วยลดความถี่ในการรดน้ำต้นไม้ลงได้ ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว สทน. จะได้นำโพลิเมอร์นี้ไปให้เกษตรกรที่สนใจใช้ในช่วงหน้าแล้งนี้  โดยเฉพาะในจังหวัดที่ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติแล้ง” ผอ.สทน.กล่าว

ด้าน ดร.พิริยาธร สุวรรณมาลา นักวิจัยเจ้าของผลงานชิ้นนี้ อธิบายเพิ่มเติมว่า แป้งมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นพอลิเมอร์ธรรมชาติที่หาได้ง่าย มีราคาถูก และมีปริมาณมากในประเทศไทย คุณสมบัติเหล่านี้ทำให้แป้งมันสำปะหลังเป็นวัสดุที่มีศักยภาพสูงในการนำมาใช้ทดแทน หรือลดต้นทุนในการผลิตพอลิเมอร์ การที่แป้งมันสำปะหลังมีหมู่ไฮดรอกซิลที่ว่องไวในการทำปฏิกิริยา (Reactive hydroxyl group) ทำให้สามารถเปลี่ยนสมบัติของแป้งเพื่อให้มีสมบัติในการดูดซับน้ำได้ในปริมาณมาก โดยการใช้กระบวนการทางรังสีมาสังเคราะห์ เป็นวัสดุสำหรับดูดซึมน้ำสูงเพื่อใช้ในทางการเกษตรเพื่อรักษาความชื้นของดิน  ซึ่งเป็นการเพิ่มคุณค่าของแป้งมันสำปะหลัง

“สำหรับการใช้งานเกษตรกรนำโพลิเมอร์แช่น้ำไว้ 1 คืน หลังจากนั้นนำโพลิเมอร์ที่บวมน้ำแล้วไปผสมในดินที่จะใช้ปลูกต้นไม้  และเนื่องจากโพลิเมอร์นี้ทำมาจากธรรมชาติ ไม่มีปัญหาเรื่องมลภาวะในดิน เพราะสามารถย่อยสลายไปได้ภายใน 16 เดือน และสามารถทดแทนการนำเข้าโพลิเมอร์จากต่างประเทศ ซึ่งเป็นฌพลิเมอร์สังเคราะห์มาจากสารเคมีที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย” ดร.พิริยาธร แนะนำวิธีใช้โพลิเมอร์นี้

ปัจจุบัน สทน.ได้นำโพลิเมอร์อุ้มน้ำนี้ไปใช้ในไนไร่ยาง ไร่มะละกอ และสวนหน่อไม้ไผ่ตง ที่ จ.ร้อยเอ็ด และ จ.กาฬสินธุ์  ซึ่งเกษตรกรที่นำไปใช้สามารถเพิ่มผลผลิตได้ดี นอกจากพอลิเมอร์ดังกล่าวจะสามารถช่วยอุ้มน้ำในหน้าแล้วได้ดีแล้ว การใช้โพลิเมอร์ที่ผลิตได้เองในประเทศส่งผลให้ลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์โพลิเมอร์ที่เป็นสารเคมีจากต่างประเทศ ทำให้ประหยัดเงินตราต่างประเทศ และลดปัญหามลภาวะทางสิ่งแวดล้อมในการย่อยสารสลายโพลิเมอร์ในระยะยาวได้

ด้าน ดร.สมพรเผยอีกว่าได้ผลงานวิจัยนี้ไปเปิดแพร่ในที่ประชุมด้านโพลิเมอร์ที่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือไอเออีเอ (IAEA) และได้รับความชื่นชมจากผู้เข้าร่วมประชุมจากนานาประเทศเป็นอย่างมาก
ต้นข้าวโพดในแปลงที่ใช้พอลิเมอร์ดูดซึมน้ำ
ต้นข้าวโพดในแปลงที่ไม่ใช้พอลิเมอร์ดูดซึมน้ำ
พอลิเมอร์ดูดซึมน้ำจากแป้งมันสำปะหลัง
เปรียบเทียบขนาดข้าวโพดจากแปลงที่ไม่ใชพอลิเมอร์ดูดซึมน้ำ (ซ้าย) และแปลงที่ใช้พอลิเมอร์ดูดซึมน้ำ

Instagram











กำลังโหลดความคิดเห็น