แทนที่จะหมกหมุ่นกับงานวิจัยและการตีพิมพ์ผลงานลงวารวารวิชาการเหมือนนักวิจัยคนอื่นๆ เขาเลือกที่จะปลุกปั้นความรู้ให้กลายเป็นสินค้าที่มีนวัตกรรม นั่นคือแนวทางของ "ผศ.ดร.อุทัย มีคำ" อาจารย์มหาวิทยาลัยดังจากที่ราบสูงโคราช ที่ต้องการเป็นแบบอย่างให้ลูกศิษย์เห็นว่าความรู้นอกตำรานั้นเป็นเช่นไร
เมื่อหวายแท้กลายเป็นวัตถุดิบหายาก และกฎหมายสั่งห้ามตัดพืชชนิดนี้ เอกชนผู้ค้าขายผลิตภัณฑ์จากหวายจึงต้องเปลี่ยนไปใช้วัสดุสังเคราะห์ทดแทนพืชธรรมชาติ แต่การปรับเปลี่ยนที่เหมือนกระโดดจากโลกหนึ่งไปยังอีกโลกหนึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย
วัตถุดิบผลิตหวายเทียมก็คือเม็ดพลาสติกประเภทหนึ่ง เมื่อนำมาสายเข้าเหลี่ยมเข้ามุมปรากฏว่าเกิดลักษณะขาวขุ่น ไม่เป็นที่ต้องการของลูกค้า และยังประสบปัญหาเมื่อลูกค้านำไปใช้งานตากแดดตากลมเฟอร์นิเจอร์จากหวายเทียมก็กรอบแตกได้ง่าย
ในฐานะนักพอลิเมอร์ ผศ.ดร.อุทัย มีคำ จากภาควิชาวิศวกรรมพอลิเมอร์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) อธิบายได้ทันทีว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นคุณลักษณะของพอลิเมอร์ประเภทโพลีโพรพีลีน (PP) ที่ใช้ผลิตเครื่องใช้พลาสติกทั่วไป และเมื่อเสนอตัวเป็นที่ปรึกษาแก่ผู้ประกอบการหวายเทียม เขาจึงแนะให้เปลี่ยนไปใช้โพลีเอทีลีน (PE) แทน
นั่นคือหนึ่งในการแก้ปัญหาให้แก่ผู้ประกอบการผลิตเฟอร์นิเจอร์จากหวายเมื่อหลายปีมาแล้ว ซึ่งปัจจุบันเขายังคงภาคเอกชนรายเดิพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง และล่าสุดเพิ่งเปิดตัวเฟอร์นิเจอร์หวายเทียมเติมกลิ่นสมุนไพร ซึ่งเขาเผยว่าเป็นงานไม่ง่าย เพราะใรโจทย์ว่า จะป้องกันไม่ให้เกิด “กลิ่นไหม้” จากการเติมอนุภาคกลิ่นจากวัตถุดิบธรรมชาติลงในกระบวนการขึ้นรูปหวายเทียมที่ใช้อุณหภูมิสูงหลายร้อยองศาเซลเซียสได้อย่างไร
การเป็นที่ปรึกษาแก่ภาคเอกชนเป็นงานที่ ผศ.ดร.อุทัยทำควบคู่ไปกับการงานสอนและการวิจัย โดยเมื่อไม่กี่ปีมานี้เขาเพิ่งพัฒนา “ไม้เชิงวิศวกรรมสมรรถนะสูง” จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร อาทิ แกลบข้าว เยื่อชานอ้อย ขี้เลื่อยไม่ เยื่อยูคาลิปตัส มาผ่านกระบวนการทางวิศวกรรม และเสริมแรงด้วยใยแก้วจนได้ไม้เชิงวิศวกรรมที่มีคุณสมบัติเทียบเคียงไม้เนื้อแข็ง เช่น สวยงาม ทนความชื้นและไม่โก่งงอแม้แช่น้ำนานเป็นปี ทนต่อมอดและปลวก เป็นต้น ซึ่งได้ต่อยอดแก่ภาคเอกชนแล้ว
การก้าวออกจากห้องปฏิบัติการและห้องเรียนสู่การเป็นที่ปรึกษาแก่ผู้ประกอบการภาคเอกชนเป็นหนึ่งในแนวทางสอนของ ผศ.ดร.อุทัย ที่ต้องการทำให้ลูกศิษย์เห็นเป็นตัวอย่าง ความรู้มากมายจากในตำราสามารถนำมาต่อยอดใช้งานได้จริง ซึ่งเขาบอกแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า เขาชอบโจทย์ยากๆ เพราะเป็นเหมือนความท้าทายที่ทำให้นักวิจัยฉลาดขึ้น อีกทั้งการร่วมงานกับภาคเอกชนยังทำให้ได้ความรู้ด้านการตลาดและธุรกิจ ซึ่งลูกค้ามักมีโจทย์แปลกๆ ท้าทายมาให้เสมอ
“จากหวายที่หายากขึ้นและมีกฎหมายห้ามตัดหวายในประเทศ เราจึงต้องพัฒนาหวายเทียม ซึ่งหวายเทียมของต่างประเทศก็มี แต่เราต้องนำเข้าวัตถุดิบราคาแพง ก็เป็นโจทย์ให้เราได้พัฒนาวัสดุทดแทนหวาย บางโจทย์ลูกค้าอยากได้วัสดุมีขนเหมือนหญ้าแต่ไม่คัน หรือทำวัสดุได้เหมือนหวายแล้ว แต่ลูกค้าไม่ชอบ อยากได้แบบไม่เหมือน ก็เป็นโจทย์ยากๆ ที่ท้าทาย” ผศ.ดร.อุทัยกล่าวถึงความหลากหลายของโจทย์จากผู้บริโภค
จากการได้ขลุกกับภาคเอกชนยังทำให้เขามองเห็นถึงความท้าทายของการทำธุรกิจว่า ในการทำธุรกิจต้อง “เร็ว” เมื่อคิดอะไรได้ต้องรีบลงมือทำ คนที่มีความคิดเชิงนวัตกรรมมากกว่าก็จะคิดต่อยอดได้เร็วกว่า และส่งผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้ในเวลาไม่นาน และเมื่อทำอะไรได้ก่อก็มักจะเป็นเจ้าตลาด
แม้จะเป็นอาจารย์ด้านพอลิเมอร์แต่ในชีวิตส่วนตัวเขากลับเลือกแต่งตัวด้วยผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติทั้งหมด อาทิ ผ้าฝ้าย รองเท้าหนัง ด้วยเหตุผลว่าไม่ต้องการทำร้ายธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็พัฒนาผลิตภัณฑ์ทดแทนวัสดุธรรมชาติ เพื่อลดการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งการพัฒนา “ไม้เชิงวิศวกรรมสมรรถนะสูง” เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในกรณีนี้
ตลอดการสัมภาษณ์ ผศ.ดร.อุทัยเผยให้เห็นแง่มุมความสนใจต่อแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ที่ทันสมัย ตลอดจนการตลาดและธุรกิจ จนทำให้เราอดถามไม่ได้ว่าทำไมจึงเลือกเรียนวิทยาศาสตร์ ซึ่งเราได้รับคำตอบตรงๆ ว่า วัยเด็กมีฐานะยากจนแต่เรียนเก่ง หากเลือกเรียนแพทย์อาจมีปัญหาเรื่องทุนการศึกษา จึงตัดสินใจรับทุนการศึกษาในโครงการพัฒนาและส่งเสริม ผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ซึ่งเขาเป็นนักเรียนรุ่นที่ 2 ในโครงการนี้ และได้เรียนเคมีที่มหาวิทยาลัยใหม่ ก่อนได้ไปเรียนต่อด้านวิศวกรรมพอลิเมอร์ที่มหาวิทยาลัยแบรดฟอร์ดในอังกฤษ
ท้ายที่สุดเขาก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ความชอบและความถนัดสามารถผสานกันได้อย่างลงตัว และยังมีงานพัฒนาวัสดุเลียนแบบธรรมชาติอีกหลายผลงานที่กำลังรอออกสู่ตลาดในอนาคต
*******************************
*******************************