สวทช.หนุนผลิตเฟอร์นิเจอร์จากของเหลือทิ้งต่อเนื่อง 8 ปี กระตุ้นผู้ประกอบการสร้างมูลค่าจากขยะโรงงาน จุดประกายถึงแรงงานระดับล่างตระหนักใช้ของเหลือทิ้ง
ภายในงานแสดงสินค้าเฟอร์นิเจอร์ 2559 (TIFF 2016) ที่จัดขึ้นระหว่าง 9-13 มี.ค.59 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 2-3 อิมแพ็คเมืองทองธานี มีผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากโครงการ "อัพไซคลิ่ง: สร้างคุณค่าให้วัสดุเหลือใช้ด้วยการออกแบบ"
การนำเสนอผลงานโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย
นางสุวิภา วรรณสาธพ รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช.กล่าวว่า โครงการอัพไซคลิ่งเป็นการต่อยอดจากโครงการเปลี่ยนขยะเป็นเงิน ซึ่งนำร่องก่อนในช่วง 6 ปีแรก และ 2 ปีต่อมาได้ต่อยอดโดยนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเสริมในกระบวนการแปลงเศษวัสดุเหลือใช้ให้กลายเป็นวัสดุใหม่ มีคุณภาพและรูปลักษณ์มากกว่าเดิม
เป้าหมายสุดท้ายของโครงการคือเพิ่มมูลค่าให้แก่เศษวัสดุเหลือใช้ และได้รับการสนับสนุนพื้นที่จัดแสดงผลงานภายในงาน TIFF จากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทยมาตั้งแต่ปี 2552
สำหรับผลงานภายใต้โครงการอัพไซคลิ่งที่จัดแสดงภายในงาน TIFF2016 เป็นผลงานของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ 5 บริษัท ได้แก่
1.บริษัท ครีเอชั่น เฟอร์นิเจอร์ อินดัสตรี จำกัด ซึ่งมีผลงานแปรรูปจากเศษเหลือจากการผลิตชุดครัว และเคาเตอร์ เช่น หินสังเคราะห์ กระเบื้องมี่มีตำหนิและหินแกรนิต ตัวอย่างผลงานที่น่าสนใจ เช่น ที่วางหนังสือรูปคลื่นหัวใจ
2.บริษัท อินเตอร์เฟอร์นิเจอร์ เอเชีย จำกัด ซึ่งมีผลงานแปรรูปจากแผ่นไม้ MDF เหลือใช้จากการผลิตเฟอร์นิเจอร์ ตัวอย่างผลงานที่น่าสนใจ เช่น โต๊ะ เก้าอี้
3.ห้างหุ้นส่วนจำกัด บัวคำสกลนครก่อสร้าง มีผลงานจากการใช้เศษไม้คุณภาพที่เหลือจากการแปรรูปงานไม้ ตัวอย่างผลงานที่น่าสนใจ เช่น ห้องอบซาวน่าจากไม้
4.ห้างหุ้นส่วนจำกัด โมรัล เอ็นจิเนียริ่ง มีผลงาจากการแปรรูปเศษเหล็กที่เหลือจากการผลิตงานโลหะ ตัวอย่างผลงานที่น่าสนใจ เช่น ชั้นวางของที่มีรูปทรงแต่ละชิ้นเป็นเอกลักษณ์
5.ห้างหุ้นส่วนจำกัดรักชาติพาณิชย์ มีผลงานจากดารแปรรูปเศษเสื่อจากวัสดุรีไซเคิล ตัวอย่างผลงานที่น่าสนใจ เช่น กระเป๋าชายหาด เบาะนั่งรูปขนมบะจ่าง
ด้าน น.ส.วลัยรัตน์ จังเจริญจิตต์กุล ที่ปรึกษาอาวุโส โครงการ iTAP สวทช.กล่าวว่า โครงการนี้ต่อยอดจากโครงการเปลี่ยนขยะเป็นทองตั้งแต่ปี 2551 โดยโครงการอัพไซคลิ่งเป็นโครงการเพื่อช่วยกันกำจัดเศษเหลือจากโรงงาน และมี ดร.สิงห์ อินทรชูโต พร้อมคณะทำงานจากศูนย์ปฏิบัติการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นผู้เชี่ยวชาญในโครงการ iTAP ที่ช่วยให้คำแนะนำและฝึกอบรมแก่นักออกแบบของผู้ประกอบการแต่ละราย
ผลกระทบจากการดำเนินโครงการที่ผ่านมา น.ส.วลัยรัตน์กล่าวว่าในแง่เศรษฐกิจทำให้ผู้ประกอบการนำเศษเหลือทิ้งมาเพิ่มมูลค่าให้เศรษฐกิจและนำเสนอผลงานแก่ลูกค้าได้ โดยเฉพาะลูกญี่ปึ่นและยุโรปที่ยอมรับสินค้าในกลุ่มนี้ ผู้ประกอบที่มีความพร้อมและมีนักออกแบบอยู่แล้วจะได้แนวคิดจาก ดร.สิงห์ ส่วนผู้ประกอบการที่ไม่มีนักออกแบบ ก็มีแนวคิดที่นำไปเสนอให้ ดร.สิงห์ช่วยวิจารณ์และให้คำแนะนำ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
สำหรับความแตกต่างระหว่างโครงการเปลี่ยนขยะเป็นทองกับโครงการอัพไซคลิ่งนั้น น.ส.วลัยรัตน์อธิบายว่า โครงการแรกเป็นเพียงการเปลี่ยนขยะให้มีราคาแต่ยังไม่มีนิยามชัดเจน ส่วนโครงการอัพไซคลิ่งนั้นเป็นคำที่คนเริ่มใช้กันมากตั้งแต่ปี 2555 โดยเป็นสินค้าที่มีการพัฒนาขึ้นจากเศษเหลือทิ้ง
"ในแง่เศรษฐกิจนอกจากใช้เศษที่เหลือแล้ว บุคลากรก็ยังได้พัฒนาไปด้วย และบริษัทยังตระหนักถึงการใช้วัสดุให้คุ้มค่า และเป็นความตระหนักที่ลงไปถึงระดับคนงาน มี่ช่วยกันเสนอความคิดว่าจะนำเศษเหลือทิ้งไปใช้อย่างไร หรือหากระบวนการผลิตที่ทำให้เศษเหลือน้อยที่สุด" น.ส.วลัยรัตน์กล่าว