สมาคมนักวิจัยไทยจับมือ ม.โฮจิมินห์ เตรียมผู้ประกอบการรับ AEC ด้านเอกชนไทยระบุ สินค้าไทยคงเหลือในเวียดนามแค่ 1% เมื่อเทียบกับเมื่อ 20 ปีก่อนที่มีสินค้าไทยอยู่ในเวียดนามถึง 90% เหตุเพราะไทยไม่เอาจริงเอาจัง
สมาคมนักวิจัย ร่วมกับมหาวิทยาลัยโฮจิมินห์และเทคโนโลยี แห่งประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม จัดการสัมมนาวิชาการหัวข้อ โอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการเวียดนามในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC 2015: Opportunities and Challenges for Vietnam Enterprises) เมื่อวันที่ 30 ต.ค.57 ณ มหาวิทยาลัยโฮจิมินห์และเทคโนโลยี ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม มีวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ จากภาครัฐและเอกชนให้ข้อมูล รวมทั้งประเทศไทย โดยมีผู้ประกอบการและผู้สนใจในประเทศเวียดนามเข้าร่วมงานกว่า 200 คน
ดร.กิตติพงษ์ ศิริโชติ อุปนายกสมาคมนักวิจัย เปิดเผยว่า สมาคมนักวิจัยภายใต้การบริหารงานของคณะกรรมการบริหารมุ่งเน้นที่จะพัฒนาศักยภาพของนักวิจัยไทยให้เป็นสากลมากขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมความร่วมมือในด้านต่างๆ ทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลก เพื่อสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติที่จะพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้โดยให้บุคลากรในภาครัฐจะต้องมีความรู้ทางวิชาการในระดับพื้นฐาน ควบคู่ไปกับการมีคุณธรรมจริยธรรมในการวิจัย ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นนักวิชาการ หรือนักวิจัยระดับคุณภาพต่อไป
"สมาคมจึงเล็งเห็นความสำคัญของความร่วมมือกับโครงข่ายวิจัยในกลุ่มประชาคมอาเซียนจึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยโฮจิมินห์และเทคโนโลยีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามจัดการสัมมนาวิชาการเรื่อง โอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการเวียดนามในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนขึ้น เพื่อรายงานผลงานวิจัยเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการ SMEs ในเวียดนามในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน นอกจากนี้ยังมีนักธุรกิจจากประเทศไทยที่กำลังประกอบธุรกิจอยู่ในประเทศเวียดนามได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำธุรกิจร่วมกับนักธุรกิจเวียดนามที่มีการขยายธุรกิจไปในกลุ่มประเทศอาเซียน จะเป็นการประสานงานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานวิจัยในประเทศไทยและเวียดนามในด้านวิชาการแล้ว ยังเป็นการพัฒนาต่อยอดความร่วมมือในการวิจัยในด้านอื่นๆ รวมทั้งพัฒนาโครงการวิจัยร่วมกัน ในการสร้างเครือข่ายของนักวิจัยไทยในอาเซียน" ดร.กิตติพงษ์ระบุ
ทั้งนี้ ทางสมาคมนักวิจัยและมหาวิทยาลัยโฮจิมินห์และเทคโนโลยี กำหนดจะจัดพิธีลงนามความร่วมมือทางการวิจัยในการนำเสนอผลงานวิจัยในต้นปี 2558 โดยสมาคมนักวิจัยจะจัดให้มีการนำเสนอผลงานวิจัยไทยที่มีคุณภาพและศักยภาพต่อนักวิจัยและนักวิชาการของเวียดนาม เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักวิจัยทั้งสองประเทศ
ด้าน นายสุชาติ เศวตกมล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจทางการค้าการลงทุน ไทย-เวียดนาม กล่าวว่า ปัจจุบันสินค้าไทยคงเหลืออยู่ในประเทศเวียดนามเพียง 1% เท่านั้น เมื่อเทียบกับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เรามีสินค้าไทยอยู่ในเวียดนามถึง 90% อันเนื่องมาจากประเทศไทยไม่เอาจริงเอาจังต่อการลงทุนในเวียดนาม เหมือนในหลายๆประเทศที่ได้ให้ความสำคัญกับการค้าและการลงทุนในอาเซียน เมื่อประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนจะต้องเร่งสร้างความร่วมมือเพื่อหาพันธมิตรในการสร้างเครือข่ายในการลงทุนให้ได้ผลผลิตให้มากในเวลาที่จำกัด โดยต้องพึ่งพางานวิจัยทางด้าน SMEs มาเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการไทยต่อไป
ด้านนายสันติ วิศวเมธีกุล กรรมการผู้จัดการบริษัทศรีไทย (เวียดนาม) จำกัด กล่าวว่า บริษัท ได้ประกอบธุรกิจในประเทศเวียดนามมากว่า 18 ปีแล้ว ถือว่าประสบผลสำเร็จมากในการผลิตขวดน้ำเพชร หมวกกันน๊อค อุปกรณ์เครืองดื่ม ฯลฯ ซึ่งถือว่าบริษัทได้สร้างความน่าเชื่อถือ ความปลอดภัย เกิดความคุ้นเคยให้กับลูกค้าในเวียดนาม ซึ่งบริษัทไม่หยุดที่จะพัฒนาในการประกอบธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์ จึงมีนโยบายจะเพิ่มการลงทุนสร้างโรงงานผลิตภาชนะเมลามีนในโฮจิมินห์ทดแทนโรงงานเก่าที่มีกำลังผลิตน้อยเกินไป โรงงานผลิตเมลามีนแห่งใหม่จะเพิ่มกำลังผลิตได้อีก 3 เท่า โดยทางบริษัทจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 เพื่อต้อนรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และจะเป็นศูนย์กลางการผลิตเมลามีนใน AEC
"ผมคิดว่าโฮจิมินห์มีความเหมาะสมที่จะลงทุนประกอบธุรกิจเป็นอย่างมากอันเนื่องมาจากความเหมาะสมหลายประการ สิ่งหนึ่งคือความสะดวกอยู่ใกล้ประเทศไทยเมื่อมีความต้องการสินค้าในประเทศก็สามารถส่งจากเวียดนามไปไทยได้อย่างรวดเร็ว เพราะประเทศไทยอาจประสบกับปัญหาขาดแรงงาน ในอนาคตอาจส่งเสริมให้มีการผลิตในเวียดนามเพิ่มขึ้นแล้วส่งไปขายในประเทศไทย เพื่อลดต้นทุนจากการจ้างแรงงาน เพราะเวียดนามมีความพร้อมมากกว่า สำหรับอุปสรรคในการประกอบอุตสาหกรรมพลาสติกคือ การขาดแคลนผงสีในเม็ดพลาสติก ยังต้องสั่งจากประเทศไทยหรือสิงคโปร์ การขาดกำลังไฟฟ้าเพื่อการผลิตได้อย่างต่อเนื่องในหนึ่งเดือนจะปิดไฟหนึ่งวันจึงจะให้การผลิตล่าช้า ปัญหาจากการขาดแคลนช่างเทคนิคที่มีความรู้ทางด้านภาษาอังกฤษยังไม่เพียงพอยังมีความต้องการถึง 95% ในเรื่องสภาพภูมิอากาศและวัฒนธรรมก็มีความคล้ายคลึงกับประเทศไทย" นายสันติระบุ
*******************************