xs
xsm
sm
md
lg

นักอนุรักษ์ถาม..คิดจะนำ "นกแต้วแร้ว" มาจากพม่า แล้วจัดการป่าดีหรือยัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นกแต้วแร้วท้องดำ (ภาพโดย นายเข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง)
อาจจะเหลือแค่ “ปาฏิหาริย์” ที่จะทำให้ “นกแต้วแร้วท้องดำ” สัตว์ป่าสงวนแสนสวยกลับมาบินสยายปีกอวดหุ่นกลมป้อมสีสันสดใสในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม จ.กระบี่อีกครา เพราะการลงสำรวจพื้นที่ในช่วง 3 ปีหลังที่ผ่านมาไม่พบแม้กระทั่งเงาเสียง จึงเกิดโครงการตามหานกแต้วแร้วท้องดำในฤดูผสมพันธุ์ออกมา พ่วงกับการหาช่องทางจับมือพม่าเพื่อแลกเปลี่ยนนกแต้วแร้วท้องดำกับละมั่งของไทยเพื่อสร้างโอกาสการกลับมาใหม่ในดินแดนไทยของนกแต้วแร้วท้องดำอีกครั้ง

เมื่อเร็วๆ นี้เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อทีวีช่องหนึ่งว่า ได้เตรียมประสานทีมนักวิจัยนกแต้วแร้วท้องดำ ในพื้นที่ป่าที่ราบต่ำเขานอจู้จี้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม จ.กระบี่ เนื่องจากเป็นฤดูนกจับคู่วางไข่ เพื่อสำรวจประชากรและจับมาทดลองขยายพันธุ์ในกรง พร้อมทั้งเปรยถึงโครงการแลกเปลี่ยนนกแต้วแร้วท้องดำของพม่ากับสัตว์ป่าของไทยที่พม่าต้องการ เช่น ละมั่ง ละอง เพื่อศึกษาและเพาะขยายพันธุ์เพื่อสร้างโอกาสการกลับมาของนกแต้วแร้วท้องดำในไทยอีกครั้ง

โครงการการแลกเปลี่ยนสัตว์ป่าดังกล่าวได้สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในแง่บวกและลบเป็นวงกว้าง ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงติดต่อไปยังนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญ และนักอนุรักษ์นกถึงความคิดเห็นและมุมมองที่มีต่อโครงการ
 รศ.ดร.ฟิลิป ดี ราวด์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
รศ.ดร.ฟิลิป ดี ราวด์ (Assosiate Prefessor Dr.Philip D. Round) อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นักปักษีวิทยาผู้ค้นพบนกแต้วแร้วท้องดำคนแรกเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า สถานการณ์นกแต้วแล้วท้องดำในประเทศไทยขณะนี้เกือบเป็นศูนย์ เพราะพื้นที่อาศัยของนกแต้วแล้วท้องดำในปัจจุบันได้กลายสภาพเป็นสวนปาล์มน้ำมัน เป็นสวนยางพารา และกลายเป็นที่อยู่อาศัยของคน

สภาพป่าที่ราบต่ำเขานอจู้จี้ ที่ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม แตกต่างจากสมัยก่อนไปถนัดตา จนทำให้เขาเองเชื่อว่าปัจจุบันคงไม่มีนกแต้วแร้วท้องดำอาศัยอยู่แล้ว หรือถ้ายังมีอยู่ก็คงต้องบินไปอีกไกลมากจนถึงฝั่งพม่า เพราะพื้นที่เขาประ-บางคราม เป็นป่าที่ราบต่ำผืนสุดท้ายในประเทศไทย ที่งานวิจัยหลากหลายระบุว่าป่าประเภทนี้มีความเหมาะสมกับนกแต้วแร้วท้องดำมากที่สุด

รศ.ดร.ฟิลิป กล่าวว่าสำหรับโครงการดังกล่าว เขายังไม่เห็นรายละเอียดโครงการมากนักจึงยังให้คำตอบไม่ได้ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่เขาอยากรู้คือ จะเอานกแต้วแร้วท้องดำมาทำอะไร และถ้าเอามาจะมั่นใจว่าเลี้ยงรอดหรือไม่ เพราะนอกจากพื้นที่ป่าเดิมที่มันเคยอยู่จะทรุดโทรมมากแล้ว องค์ความรู้ด้านการเลียนแบบธรรมชาติ เพื่อเลี้ยงนกแต้วแร้วท้องดำในกรงก็ยังไม่เคยมีผู้ใดทำสำเร็จ ฉะนั้นสิ่งที่แรกที่กรมอุทยานฯ ควรทำก่อนจะนำนกแลกเปลี่ยนเข้ามา คือการเร่งฟื้นฟูป่า เพื่อฟื้นฟูที่อยู่อาศัยของนก โดยอาจขอความร่วมมือจากองค์กรอนุรักษ์นกและธรรมชาติในระดับนานาชาติ หรือองค์การที่เกี่ยวข้องมาร่วมมือกันพัฒนาพื้นที่ป่าราบต่ำเขานอจู้จี้

“นกแต้วแร้วท้องดำเป็นสัตว์สงวนของไทย ผมพบมันเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน แต่ตอนนี้เรารักษามันไว้ไม่ได้ ผมว่าภาครัฐฯ หน้าแตกนะ เพราะมันแปลว่าเรารักษาป่าไว้ไม่ได้เลย แล้วถ้ากรมอุทยานยังรักษาป่าไม่ได้ เอานกมาจะรักษาได้ไหมอีกก็ไม่รู้ เพราะตอนนี้พื้นที่มันเปลี่ยนไปหมด ในบริเวณใกล้กันที่เป็นสระมรกตก็มีนักท่องเที่ยวมากแล้วได้ข่าวว่าทำเงินได้เยอะมากด้วย เอาอย่างนี้ดีไหม เอาเงินที่เก็บได้จากการเที่ยวชมสระมรกตปีละ 12 ล้าน เจียดไปซื้อที่ให้ชาวบ้านแล้วเอาพื้นที่ที่เขาบุกรุกคืนมา แล้วจับมือกับทุกภาคส่วนช่วยกันฟื้นป่าแบบนี้ถึงดี พอป่าดีนกแต้วแร้วท้องดำของไทยที่เคยหายไปอาจจะกลับมา โดยเราไม่ต้องไปขอแลกเปลี่ยนจากพม่าก็ได้” รศ.ดร.ฟิลิป ให้ความเห็นและเสนอแนะผ่านทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
น.สพ.ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ นายกสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย
ด้าน น.สพ.ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ นายกสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในฐานะนักอนุรักษ์นกเมื่อได้ยินโครงการดังกล่าวก็รู้สึกดี ที่เห็นภาครัฐค่อนข้างตื่นตัว ไม่นิ่งเฉยต่อภาวะแทบจะสูญพันธุ์ของนกแต้วแร้วท้องดำ และยังรู้สึกชื่นชมที่รัฐมีแนวคิดที่ดีในการแลกเปลี่ยนสัตว์ป่าเพราะนอกจากพม่าแล้ว ประเทศอื่นก็ไม่น่ามีการพบนกแต้วแร้วท้องดำ แต่เมื่อมองให้ลึกลงไปแล้วกลับพบว่าต้องพิจารณาในหลากหลายมิติว่าจะคุ้มได้มากกว่าคุ้มเสียหรือไม่ เพราะหากทำพลาด นอกจากชีวิตนกที่จะต้องเสียไป ยังเป็นผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

มิติแรกที่ต้องมอง น.สพ.ดร.บริพัตร กล่าวว่า เป็นการกลับไปทบทวนกรอบความร่วมมือเดิมระหว่างประเทศว่าระหว่างไทยและพม่า มีโครงการความร่วมมือทางด้านใดและในเรื่องใดบ้าง จากนั้นจึงมาสู่ขั้นพิจารณาการพิทักษ์พื้นที่สิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ เช่น เทือกเขาตะนาวศรี ว่ามีความสัมพันธ์ในรูปแบบใด ชัดเจนหรือไม่ คณะทำงานเป็นอย่างไร โดยส่วนนี้กรมอุทยานฯ ควรตั้งโต๊ะให้หน่วยงานทางทหาร, หน่วยงานทางภาครัฐที่เกี่ยวข้อง, คนทำงาน, นักวิจัย รวมไปถึงเอ็นจีโอมาหารือร่วมกัน

มิติที่สอง น.สพ.ดร.บริพัตร กล่าวว่า ต้องถามพม่าให้แน่ชัดว่าอยากได้สัตว์ป่าแลกเปลี่ยนเป็นอะไร เขายังขาดงานวิจัยเรื่องอะไร ให้เขาเสนอมา เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างความต้องการระหว่างผู้รับและผู้ให้ ส่วนมิติที่ 3 เป็นเรื่ององค์ความรู้เกี่ยวกับนกที่ต้องทำวิจัยเพิ่ม เพราะจากการบริหารและทำงานกับกลุ่มผู้รักนกในพม่าทำให้เขาพอทราบว่าในพม่ายังมีนกแต้วแร้วท้องดำอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะยังมีพื้นที่ป่าให้นกอาศัยอยู่ได้อย่างปลอดภัย ทำให้มีแนวโน้มว่าพม่าน่าจะส่งมอบนกให้กับไทยได้อย่างไม่ขัดข้องหากมีโครงการแลกเปลี่ยนนกเกิดขึ้นจริง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ควรเร่งศึกษาว่าถ้าปล่อยนกฝูงใหม่ นกจะอยู่รอดได้อย่างไร จะต้องปล่อยที่ใด จะเพิ่มประชากรได้อย่างไร

“เอานกมามันไม่ยากครับ แต่เราจะรู้ได้ยังไงว่าถ้าเอาเขามาปล่อยมันจะไม่ตาย ไม่จะไม่โดนงูกินหมดภายในไม่กี่วัน เราควรปล่อยเยอะน้อย ปล่อยตอนไหน เขาถึงจะผสมพันธุ์กัน นี่เป็นสิ่งที่เราต้องทำ ถ้าจะเอามาแล้วปล่อยในธรรมชาติ ส่วนตัวผมมองว่าถ้าจะเพาะขยายพันธุ์ในกรง เราทำได้ เพราะมันก็คือสัตว์ปีกทั่วไป แค่เราจะมั่นใจได้ยังไงว่าทำแล้วจะไม่สูญพันธุ์อีก เรื่องจำนวนและพื้นที่เป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องคิดถึง ซึ่งอาจถอดบทเรียนจากโมเดลนกกระเรียน ที่ จ.บุรีรัมย์ได้ แต่ยังไงก็ต้องถกกันให้ชัดเจนเพราะเป็นเรื่องระหว่างประเทศ”นายกสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ให้ความเห็น

ส่วนอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน น.สพ.ดร.บริบัตร ระบุว่าเป็นเรื่องของคนกับป่า โดยเฉพาะเกษตรกรชาวสวนยางและสวนปาล์มที่บุกรุกพื้นที่ป่าเข้ามาทำการเกษตร ซึ่งปัญหานี้เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องช่วยเหลือกันว่าจะจัดบทบาทอย่างไร ให้การอนุรักษ์นก ไม่เป็นปัญหาต่อการประกอบอาชีพของคนในท้องถิ่น เพราะส่วนตัวเขาเชื่อมั่นว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังรอการกลับมาของ “นกแต้วแร้วท้องดำ”
นกแต้วแร้วท้องดำ (ภาพโดย นายเข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง)









กำลังโหลดความคิดเห็น