xs
xsm
sm
md
lg

สัญลักษณ์ประกอบอำนาจและปริศนา? “เก๋งจีนพระเจ้าตาก” / กฤษณะ ทิวัตถ์สิริกุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
โดย...กฤษณะ ทิวัตถ์สิริกุล
---------------------------------------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ : ถอดสรุปความย่อจากบทความวิชาการ ในรายวิชา “สัมมนาประเด็นสำคัญในการศึกษาเอเชีย” ภาคการศึกษา 1/2558 หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตเอเชียศึกษา ม.วลัยลักษณ์

บทความชิ้นนี้ ถอดสรุปจาก “มังกร” สัญลักษณ์ประกอบอำนาจจักรพรรดิในอารยธรรมจีน ซึ่งมุ่งเสนอในเชิงเปรียบเทียบสัญลักษณ์ประกอบอำนาจของจักรพรรดิ ในอารยธรรมจีน กับสัญลักษณ์ที่ปรากฏบนสถาปัตยกรรมอาคาร “เก๋งจีนพระเจ้าตาก” ผนวกกับเรื่องเล่าตำนานที่กรมศิลปากรจำกัดอยู่ในกรอบความรู้แบบประวัติศาสตร์บอกเล่า ท่ามกลางเรื่องเล่า หลักฐาน ประวัติศาสตร์ ความเชื่อในท้องถิ่น ซึ่งเป็นความเชื่อของชาวนครศรีธรรมราช จำนวนไม่น้อย ที่แตกต่างไปจากประวัติศาสตร์กระแสหลัก

“มังกร” เป็นสัญลักษณ์การประกอบสร้างอำนาจของฮ่องเต้ หรือจักรพรรดิ ในโบราณราชประเพณีของจีน รวมทั้งเครื่องประกอบที่เป็นสัญลักษณ์เกี่ยวกับสัตว์ชั้นสูงหลายรูปแบบล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เกื้อหนุนในอำนาจแห่งฮ่องเต้ หรือจักรพรรดิ พบว่า “มังกร” เป็นสัญลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นจากอำนาจธรรมชาติ ดิน ฟ้า น้ำ เป็นนัยแห่งอำนาจที่อำนวยความสมบูรณ์ ประกอบกับเรื่องเล่าตำนานที่ยิ่งใหญ่ของชาวจีนที่เกี่ยวข้องข้องกับพระเจ้าหวงตี้ บรรพกษัตริย์แห่งแผ่นดินจีนที่กลายเป็นเทพมังกร
 
 

 
ขณะที่ศิลปะความเชื่อในสัญลักษณ์มังกรและเครื่องประกอบของ “เก๋งจีนพระเจ้าตาก” ใน จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งใช้สัญลักษณ์ของฮ่องเต้ หรือจักรพรรดิ แบบอย่างราชประเพณีจีน และสถาปัตยกรรมอาคารแบบจีน สถานที่นี้เป็นโบราณสถานที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประวัติศาสตร์บอกเล่าสัญลักษณ์มังกร อีกทั้ง เครื่องประกอบที่บ่งบอกนัยแห่งจักรพรรดิ หรือกษัตริย์จีน จะถูกนำมาเทียบเคียงอธิบายหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในแนวแบบอารยธรรมข้ามพรมแดน ที่ถูกส่งผ่านคนเชื้อสายจีนอย่างมีเหตุมีผล ผ่านหลักฐานสิ่งปลูกสร้าง “เก๋งจีนพระเจ้าตาก” ด้วยศิลปะสำหรับฮ่องเต้ หรือจักรพรรดิแบบจีน ที่ซ่อนเร้นความหมายการเปลี่ยนผ่านอำนาจ การเมือง และความหมายของบุคคลสำคัญ

สถานที่นี้ มีความเชื่อท้องถิ่นเก่าแก่ว่า นี่คือที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรืออีกพระนามคือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สิ่งนี้คือส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนครศรีธรรมราช ที่ถูกจำกัดวงขอบเขตแค่ความหมายของ “ประวัติศาสตร์บอกเล่า” และมีนัยสำคัญทางด้านอำนาจ การเมือง การปกครอง ที่ถูกให้ความหมายท้าทายในบริบททางประวัติศาสตร์กระแสหลักอย่างแตกต่างในอีกมิติ ด้วยการวิเคราะห์ในแนววิชาการ
 

 
ในโบราณราชประเพณีจีน “จักรพรรดิ” ทรงถูกแวดล้อมสมมติอยู่ในสรวงสวรรค์ อัตลักษณ์ งานศิลปะต่างๆ บนเครื่องราชูปโภคล้วนเป็นศิลปะชั้นสูง เป็นเครื่องแสดงถึงอำนาจของผู้ที่มีวาสนา บารมีสูงส่ง และอยู่ในความหมายของโอรสแห่งสวรรค์ที่เหนือกว่ามนุษย์ เครื่องประกอบราชศักดิ์ ในราชสำนักจีน จะถูกประกอบขึ้นด้วยองค์ความรู้ คติความเชื่อ พิธีกรรม ภูมิศาสตร์ หรือเรียกว่าฮวงจุ้ย ซึ่งเป็นศาสตร์โบราณชั้นสูงของจีน รวมทั้งประติมากรรมรูปลักษณ์ต่างๆ เป็นเครื่องหนุนสร้างอำนาจ จักรพรรดิจึงมีศักดิ์ในอำนาจที่สูงส่ง และสิทธิขาดในความเป็นเจ้าเหนือชีวิตของทุกคน

แม้ว่าสัญลักษณ์ต่างๆ ในแบบศิลปะจีนผ่านรูปสัญลักษณ์สัตว์ที่ทรงอำนาจ ที่ประกอบขึ้นเป็นความหมายของผู้มีอำนาจ และสัญลักษณ์นั้นจะถูกจำกัดใช้เฉพาะผู้ที่อยู่ในสถานะของความเป็น “ผู้สูงส่ง” เท่านั้น จะเห็นได้ว่า ตามโบราณประเพณี วัฒนธรรม จะถูกจัดระเบียบไว้อย่างชัดเจน และมีแบบแผนโดยเฉพาะทางด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรม เฉพาะสำหรับผู้ที่มีราชศักดิ์เท่านั้น จึงสามารถใช้สิ่งเหล่านั้นประกอบได้ ด้วยคุณลักษณะและสัญลักษณ์แบบอย่างจีน ดังความข้างต้น กลายเป็นความหมายสำคัญในการเทียบเคียงสืบค้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ในศิลปะโบราณสถาน “เก๋งจีนพระเจ้าตาก” ซึ่งเป็นศิลปะสถาปัตยกรรมและเครื่องประกอบแบบอย่างราชประเพณีชั้นสูงจีน
 

 
โบราณสถานแห่งนี้ ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดประดู่ ถนนราชดำเนิน ต.ท่าวัง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ที่นี่ถูกระบุเป็นที่เก็บพระบรมอัฐิของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ผนวกกับเรื่องเล่าที่ปรากฏในบั้นปลายพระชนม์ชีพ ที่ทรงดำรงพระชนม์ชีพอยู่ในนครศรีธรรมราช เหล่านี้ เป็นประวัติศาสตร์จัดอยู่ในหมวดหมู่ “ประวัติศาสตร์บอกเล่า” ที่มีนัยแตกต่างจากประวัติศาสตร์กระแสหลักที่ถูกบันทึกไว้อย่างเป็นทางการ ผ่านพงศาวดารฉบับต่างๆ และประวัติศาสตร์ที่ถูกเรียนรู้ผ่านชุดความรู้อย่างเป็นทางการ ในนามประวัติศาสตร์ชาติไทย

“เก๋งจีนพระเจ้าตาก” หรือศาลพระเจ้าตากสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2358 ตัวอาคารตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดประดู่พัฒนาราม ติดกับถนนราชดำเนิน ถูกสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 23-24 ถูกขึ้นทะเบียนไว้เป็นโบราณสถานแห่งชาติ เมื่อ 17 กันยายน 2479 ตัวอาคารเป็นศิลปะแบบจีน ทรงอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 6.40 เมตร ยาว 10.30 เมตร หันหน้าไปทางทิศใต้ ผนังก่ออิฐถือปูนหนา 45 ซม. ผนังทึบ 3 ด้าน ด้านหน้ามีการวางผังรูปแบบในลักษณะท้องพระโรงเข้าเฝ้าจักรพรรดิ หรือฮ่องเต้ ตัวอาคารบริเวณทางเข้าโถงประกอบเครื่องสูงสำหรับจักรพรรดิ หรือฮ่องเต้ อย่างจีนประดับอย่างครบถ้วน มีศิลาบันทึกความสำคัญของสถานที่ว่าเป็นเก๋งจีนบรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระเจ้าตากสิน โดยไม่ลืมที่จะบันทึกไว้ว่า เป็นประวัติศาสตร์บอกเล่า
 

 
ทางเข้าไปถึงโถงด้านหน้าประกอบด้วยแผ่นศิลา 3 แผ่น ตามคติถูกให้ความหมายแผ่นแรกคือ ตำแหน่งการกราบไหว้ฟ้าดิน แผ่นที่สองคือ จุดกราบไหว้เทพเทวา และแผ่นที่สามคือ จุดกราบไหว้ภูมิเจ้าที่ ด้านหลังประตูแบบจีนคือ บัวประดิษฐานพระบรมอัฐิ แต่ทว่า ประวัติศาสตร์บอกเล่าในท้องถิ่นกลับสวนทางกับประวัติศาสตร์กระแสหลัก แต่สัญลักษณ์ที่ปรากฏอยู่บน “บัว” หรือสถูปนี้คือ “ครุฑพ่าห์” ทั้งสี่ทิศ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งนี้ เป็นด้วยที่ชาติกำเนิดของสมเด็จพระเจ้าตากสิน มีเชื้อสายจีนจากฝ่ายพระราชบิดา การให้ความหมายของกษัตริย์ยังคงถือเป็น “โอรสแห่งสวรรค์” เครื่องประกอบสถาปัตยกรรมแห่งนี้ จึงเป็นอย่างฮ่องเต้ หรือจักรพรรดิทั้งหมด บันทึกสำคัญของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า สิ่งของเครื่องสูงเหล่านี้ถูกสั่งมาจากเมืองจีน โดยเจ้าพระยานคร (น้อยกลาง) เป็นผู้ดำเนินการสร้าง โดยบางช่วงบางตอนได้ระบุในบันทึกดังนี้ ราสัญลักษณ์เฉพาะของเจ้าเมืองชั้นสูง หรือกษัตริย์เท่านั้น

“เจ้าพระยานครน้อยกลาง เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นบุตรเจ้าพระยานครน้อยได้สั่งวัสดุทุกชิ้นส่วนจากเมืองจีน นำมาประกอบเป็นเก๋งจีนที่วัดประดู่พัฒนาราม ซึ่งเป็นวัดเล็กๆ อยู่ในป่านอกเขตตัวเมือง เพื่อแอบซ่อนไว้ บานประตูเก๋งแกะสลักรูปสัญลักษณ์มงคลของจักรพรรดิจีน เป็นนกกระเรียนขาวหมวกแดง ไก่ฟ้าทองคำ ดอกโบตั๋น ลูกท้อ สวยงามมาก เหนือบานประตูเก๋ง แกะสลักเป็นรูปมังกรสองพ่อลูก ด้านหน้าเก๋งลงบันไดมาจะมีแท่นไหว้ 3 จุด เป็นระยะเข้าเฝ้าแบบกษัตริย์”
 

 
แต่อย่างไรก็ตาม ในปริศนาของการก่อสร้างศิลปะชั้นสูงและเครื่องหมายรูปสัญลักษณ์ชั้นสูงประกอบแสดงถึงราชศักดิ์ของฮ่องเต้ หรือจักรพรรดิแบบอย่างจีน ถูกนำมาประกอบไว้ในอาคารแบบเก๋งจีนหลังนี้ แต่ทว่าตัวสถูป หรือ “บัว” มีศิลปะอย่างไทยภาคใต้ และยังมีเครื่องสูงประกอบแสดงถึงราชศักดิ์คือ “ครุฑพ่าห์” ซึ่งเป็นเครื่องสูงสำหรับพระมหากษัตริย์ไทยเท่านั้น นี่อาจเป็นคำตอบ ส่วนภายนอกเป็นเครื่องสูงสำหรับจักรพรรดิ หรือฮ่องเต้ อย่างวัฒนธรรมจีน การให้ความหมายเหล่านี้ เป็นปริศนาที่ถูกปกปิดมาถึง 200 ปี แต่ตลอดห้วงเวลากว่า 200 ปี ยังคงมี “พิธีกรรม” การถวายพระราชกุศลยังปฏิบัติต่อมาอย่างต่อเนื่อง จากลูกหลานในสายสกุล ณ นคร ต้นสายสกุลคือ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (เจ้าน้อย) พระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าตากสิน และผู้ที่มีความศรัทธา ผูกพัน ถูกเล่าขานสืบต่อมาในสายตระกูลของตนมารุ่นต่อรุ่น

และยังพบข้อมูลจากบันทึกเอกสาร หลักฐานที่สำคัญอีกหลายประการที่ระบุว่า นี่คือสถานที่เก็บพระบรมราชอัฐิของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ด้วยนัยศิลปกรรม รูปสัญลักษณ์ชั้นสูงเครื่องประกอบอำนาจของจักรพรรดิจีน หรือฮ่องเต้ ถูกนำมาประกอบเป็นสิ่งปลูกสร้างสถาปัตยกรรมแบบจีนหลังนี้ เป็นการสะท้อนให้มีการสืบค้นถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับสถูปหรือ “บัว” ซึ่งใช้สำหรับเก็บกระดูกหรืออัฐิ ที่เป็นหัวใจหลักในเก๋งหลังนี้ “ครุฑพ่าห์” ที่ตัวสถูปหรือ “บัว” ย่อมแสดงให้เห็นถึงความสูงศักดิ์ที่หมายความเฉพาะพระมหากษัตริย์ เท่านั้น แต่ประวัติศาสตร์ชาติไทยไม่ได้บอกว่าเป็นสถานที่เก็บพระบรมราชอัฐิ ของบรรพกษัตริย์พระองค์ใด เว้นเสียแต่ประวัติศาสตร์บอกเล่าในท้องถิ่นนครศรีธรรมราชเท่านั้น ที่ระบุไว้อย่างชัดเจน และดูเหมือนว่า ชุดข้อมูลนี้จะห่างไกลจากการยอมรับจากวงการประวัติศาสตร์กระแสหลักอย่างมาก
 

 
ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงยังถูกจำกัดวงอยู่ในกลุ่มของประวัติศาสตร์บอกเล่าเท่านั้น แม้ว่าคุณค่าของหลักฐานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งชุดข้อมูลแวดล้อมต่างๆ ที่เป็นประจักษ์หลายส่วนที่กระจัดกระจายอยู่ใน จ.นครศรีธรรมราช ไม่ใช่เฉพาะในบทความฉบับนี้เท่านั้น เป็นประเด็นที่น่าศึกษาค้นคว้าต่อไปอย่างยิ่ง และอาจเกิดข้อค้นพบความจริงในมิติที่แตกต่าง ถือเป็นการท้าทายนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดีที่มั่นใจในการบันทึกหลักฐาน “องค์ความรู้” ที่เป็น “ทางการ” นั้น แท้แล้วมันคือ “ความจริง” ที่ “จริงแท้” ใช่หรือไม่

ในการศึกษาอารยธรรม วัฒนธรรม สัญลักษณ์ อำนาจเป็นการแสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนบางอย่างในการเปลี่ยนผ่านเชิงอำนาจ ระเบียบแบบแผนโบราณราชประเพณี ที่มีความแตกต่างกับปัจจุบัน เป็นคนละช่วงเวลา บริบท ความเชื่อ วิธีการ มิติของกาลเวลาที่ต่างกัน ย่อมที่จะเอาความเชื่อปัจจุบันไปเทียบเคียงความหมายในอดีตไม่ได้ ทว่าในการศึกษาเรียนรู้ความหมายเหล่านี้ ล้วนแต่มีคุณค่าสูงยิ่งในความหลายแง่มุม โดยเฉพาะรูปสัญลักษณ์ที่แสดงความหมายเชื่อมโยงบริบททางประวัติศาสตร์การเปลี่ยนผ่านของแต่ละช่วงสมัย “อันเป็นรากเหง้าที่แท้จริง”
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น