สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ iTAP เดินหน้าแถลงผลงานในรอบ 5 เดือน สามารถปลดล็อกข้อจำกัดทางธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้ SMEs ได้มากถึง 400 ราย ครอบคลุมพื้นที่ 17 แห่งทั่วประเทศ ชี้ สวทช.จับมือ สมอ.กำหนดมาตรฐานสินค้านวัตกรรมให้รวดเร็วขึ้น เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เปิดเผยผลงานการดำเนินงานในรอบ 5 เดือนของโปรแกรม iTAP ว่า จากการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเห็นชอบมาตรการสร้างความเข้มแข็งของ SMEs ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์เสนอ โดยมอบหมายให้ iTAP สนับสนุน SMEs เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า จาก 400 โครงการในปีที่ผ่านมาเพิ่มเป็น 800 โครงการนั้น ขณะนี้ทาง iTAPสามารถให้การสนับสนุน SMEs ภายในระยะเวลา 5 เดือน นับตั้งแต่ตุลาคม 2558 ถึง กุมภาพันธ์ 2559 ได้ดำเนินการวินิจฉัยให้คำปรึกษาเบื้องต้นแก่ SMEs ไปแล้วกว่า 393 ราย เกินกว่าเป้าที่ตั้งไว้
ทั้งนี้ ทาง สวทช.ตั้งเป้าไว้ว่าภายในระยะเวลา 5 เดือนข้างหน้าสามารถวินิจฉัย และให้คำปรึกษาธุรกิจได้มากถึง 800 ราย และคาดว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนมากกว่า 555.4 ล้านบาท โดยเกิดการลงทุนในภาครัฐร้อยละ 23 และการลงทุนในภาคเอกชนร้อยละ 77 และก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 3,421 ล้านบาท และจากการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังพบว่า SMEs ที่เข้าร่วมโครงการรับผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มขึ้นถึง 8.5 เท่าจากเงินที่ลงทุนภายในระยะเวลา 1 ปี
สำหรับหน่วยงานเครือข่ายที่ทำงานร่วมกับโปรแกรม iTAP ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัย ตั้งอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า และสถาบันไทย-เยอรมัน และเครือข่ายความร่วมมือ 7 แห่ง ได้แก่ ราชมงคลธัญบุรี ราชมงคลอีสาน ราชมงคลล้านนา ราชมงคลกรุงเทพ พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย รวมเครือข่ายความร่วมมือกับ iTAP ในครั้งนี้จำนวน 17 แห่ง
นอกจากนี้ ในส่วนของการนำเสนอบัญชีนวัตกรรมให้กับรัฐบาลนั้น ทาง สวทช.ได้มีการนำเสนอไปแล้วทั้งสิ้น 34 รายการ บัญชีที่ผ่านทางเทคนิค 18 รายการ จากบัญชีนวัตกรรมที่มีทั้งหมด 80 รายการ ซึ่งขณะนี้ทางรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี จะทำการพิจารณา และคัดเลือก พร้อมทั้งให้ทางสำนักงบประมาณจัดงบประมาณเพื่อมาเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อบัญชีนวัตกรรมดังกล่าวด้วย
ดร.ณรงค์กล่าวต่อว่า ล่าสุดทาง สวทช.ยังได้ร่วมหารือกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. ในการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก.ให้กับสินค้านวัตกรรมที่เป็นผลงานของ สวทช.ด้วย ซึ่งการกำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรม มอก.ให้กับสินค้านวัตกรรมในครั้งนี้ถือว่าเป็นการทำงานร่วมกันของ 2 กระทรวงหลัก โดย สมอ.ได้มีการกำหนดระยะเวลาการทำงานในขั้นตอนการขอ มอก.ให้เร็วขึ้นเหลือไม่เกิน 1-2 เดือน เพื่อรองรับการขึ้นลงของสินค้านวัตกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ขั้นตอนการขอมาตรฐานต่างๆ ก็ควรจะรวดเร็วด้วย
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *