สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยโปรแกรมของ iTAP ร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย นำผลงานภายใต้ โครงการอัปไซคลิ่ง สร้างคุณค่าด้วยวัสดุเหลือใช้ มาร่วมออกบูทภายในงาน TIFF 2016 โดยมีผู้ร่วมโครงการ 5 บริษัทนำผลงานมาโชว์ ชี้อัปไซเคิลเป็นงานวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์มาใช้ สร้างมูลค่าขยะเหลือทิ้งภายใต้การออกแบบของ ดร.สิงห์ อินทรชูโต ตั้งเป้าเพิ่มผู้ประกอบการร่วมโครงการ 6 รายในปีต่อไป
นางสุวิภา วรรณสาธพ รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช. เปิดเผยว่า ทางสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย ได้จัดทำโครงการอัปไซคลิ่ง สร้างคุณค่าให้วัสดุเหลือใช้ด้วยการออกแบบ (Upcycling Value Creation with Design) ด้วยการแปลงเศษวัสดุหรือขยะที่เหลือทิ้งจากการผลิตที่มีจำนวนมหาศาลในโรงงาน สู่แนวคิด “การบริหารจัดการกับขยะ เป็นการออกแบบเพื่อเพิ่มมูลค่าอย่างยั่งยืน” มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ของแต่งบ้านที่มีดีไซน์สวยงามไม่เหมือนใคร
สำหรับโครงการอัปไซเคิลถือว่าเป็นการเพิ่มส่วนขยายของคำว่าวิจัยและพัฒนา โดยนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้ามาเสริมในกระบวนการแปลงเศษวัสดุเหลือใช้ให้กลายเป็นวัสดุใหม่ที่มีมิติขึ้นกว่าเดิม เช่น คุณภาพ รูปลักษณ์ ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนปลายทางสุดท้าย คือ การเพิ่มมูลค่าให้กับเศษวัสดุเหลือใช้จนสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการ ถือว่าเป็นภาระกิจหลักของ สวทช.ที่ให้การสนับสนุนต่อเนื่องเรื่อยมา
ทั้งนี้ โครงการอัปไซเคิลได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทยมาตั้งแต่ปี 2552 โดยได้มอบพื้นที่ในงาน TIFF 2016 งานเฟอร์นิเจอร์ระดับนานาชาติ จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 20 ให้นำผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลงานของผู้ประกอบการเข้าร่วมแสดงผลงานในครั้งนี้ซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น 5 บริษัท ได้แก่ บริษัท ครีเอชั่น เฟอร์นิเจอร์ อินดัสตรี จำกัด บริษัท อินเตอร์เฟอร์นิเจอร์ เอเชีย จำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด โมรัล เอ็นจิเนียริ่ง ห้างส่วนจำกัด บัวคำสกลนครก่อสร้าง และห้างหุ้นส่วนจำกัด รักชาติพาณิชย์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ภาคอุตสาหกรรมในการนำเศษเหลือใช้จากการผลิต ได้ตระหนักถึงการนำวัสดุเหลือใช้เหล่านั้นมาเพิ่มมูลค่า โดยการสนับสนุนของ iTAP ซึ่งในปี 2559 รับสมัครเพิ่มอีก 6 บริษัท เพื่อเข้าร่วมโครงการต่อไป
น.ส.วลัยรัตน์ จังเจริญจิตต์กุล ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรม iTAP สวทช. กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาทีมงานได้เจอปัญหาโรงงานไม้ เช่น เฟอร์นิเจอร์ ไม้แปรรูป ไม้อัด เศษไม้ที่มีเยอะมาก โดยไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์นอกจากเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งมูลค่าต่ำมาก ทางทีมงานจึงได้ประสานไปยัง ดร.สิงห์ อินทรชูโต นักวิชาที่มีบทบาทเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์รักษ์โลก เพื่อให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในโครงการ Waste To Wealth ในปี 2551 จนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 9 ปี โดยทาง สวทช.ได้มีส่วนผลักดันอย่างมาก เพื่อให้บริษัทได้เรียนรู้ถึงการพัฒนาตั้งแต่เริ่มต้นคิดจนนำไประกอบเป็นผลิตภัณฑ์จริง
ด้าน รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญ สังกัด ศูนย์ปฏิบัติการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะที่ปรึกษาของโครงการ กล่าวว่า ปัญหาขยะล้นโลก และวัสดุเหลือทิ้งล้นโรงงาน เราทุกคนต้องลงมือปฏิบัติ ผู้ประกอบการต้องเพิ่มการบริการจัดการของเสียด้วยกระบวนการใหม่ๆ อย่างกระบวนการอัปไซเคิล การเพิ่มมูลค่าของเหลือใช้ การสร้างคุณค่าจากของเสีย และการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่สามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ ดังเช่นผลงานผลิตภัณฑ์ต้นแบบโครงการอัพไซเคิลสิ่งที่นำมาเสนอในงาน TIFF 2016 ครั้งนี้ ซึ่งเป็นผลงานที่เป็นความร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการ ช่างฝีมือ และนักออกแบบ โดยได้รับการสนับสนุนจากโปรแกรม iTAP สวทช. ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *