สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สวทช.ยกระดับเอสเอ็มอีด้านสินค้าผัก ผลไม้ เตรียมพร้อมสู่ AEC ด้วย ThaiGAP เผยผู้ผ่านเกณฑ์จำนวน 17 ราย จากเป้าที่ตั้งไว้ 50 รายในปี 2560 ด้านห้างดังพร้อมขายสินค้า เตรียมขยายผลโครงการรองรับแนวทาง “ประชารัฐ” การสร้างเกษตรกรยุคใหม่
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าไทย เปิดเผยถึงความร่วมมือระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) สถาบันอาหาร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการยกระดับ และพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้านสินค้าผัก และผลไม้ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ AEC ด้วย ThaiGAP ว่า การดำเนินงานในโครงการดังกล่าวตั้งแต่ได้มีการทำข้อตกลงร่วมกันมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2557 ขณะผ่านมา 1 ปีมีผู้ประกอบการที่เป็นเกษตรกรปลูกผัก ผลไม้ ผ่านเกณฑ์ และได้รับประกาศนียบัตรจำนวน 17 ราย จากเป้าหมายที่ตั้งไว้จำนวน 50 รายในปี 2560
สำหรับผลการดำเนินงานที่วางไว้ คือ การขยายผล เชื่อมโยงไปสู่คณะกรรมการเกษตรสมัยใหม่ โดยการทำให้ภาคการเกษตรเป็นที่ยอมรับในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ได้มองเห็นการทำการเกษตรเป็นช่องทางในการสร้างรายได้ได้ทัดเทียมกับอาชีพอื่นๆ ในสังคม เพราะที่ผ่านมาอาชีพเกษตรกรเป็นกลุ่มคนที่ยากจน ต้องรอการช่วยเหลือ อุดหนุนจากภาครัฐ แต่จากนี้ไปโครงการ ThaiGAP และความร่วมมือภาครัฐและเอกชนในครั้งนี้จะช่วยยกระดับให้เกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น โดยมีการนำเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยมาช่วยในการผลิต และสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคว่าได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย
ด้านนางสาวชนากานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาอาวุโส โครงการ iTAP กล่าวต่อว่า ทาง สวทช.ได้เล็งเห็นว่า ThaiGAP ที่สภาหอการค้าไทยได้ดำเนินการอยู่นั้นเป็นโครงการที่ตรงกับความช่วยเหลือของ iTAP ในการสนับสนุนเอสเอ็มอี จึงได้มีการทำงานร่วมกัน และได้สนับสนุนงบประมาณ ในช่วงที่ผ่านมาจำนวน 10 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 33 รายที่จะดำเนินการต่อเพื่อให้ครบ 50 รายในปี 2560 นั้น ได้วางแผนมุ่งเป้าที่กลุ่มสหกรณ์ เพราะที่ผ่านมาการลงช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยเป็นรายไม่คล่องตัว เพราะความไม่พร้อมหลายๆ ด้าน แต่ให้เกษตรกรที่มีการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์อยู่แล้วได้แจ้งความจำนงเข้ามาขอรับความช่วยเหลือ ตรงนี้แผนในอนาคตที่วางไว้ต้องการจะทำให้ได้จังหวัดละ 1 แห่ง เพื่อให้เกิดการครอบคลุมทั่วประเทศ
ด้านนายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ ประธานคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวต่อว่า สำหรับที่ผ่านการรับรองจากมาตรฐาน ThaiGAP ในครั้งนี้จะได้รับสิทธิ์ในการนำผัก ผลไม้ มาจัดจำหน่ายตามห้างค้าปลีกชั้นนำของประเทศไทย คือ ห้างแม็คโคร ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ซีพีออลล์ และเทสโก้โลตัส
สำหรับหน่วยงานตรวจรับรองที่ทำการตรวจรับรองให้กับมาตรฐาน ThaiGAP นั้น เป็นหน่วยตรวจรับรองที่ได้รับมาตรฐานสากล ISO/IEC GUIDE 65 ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่ามีการตรวจรับรองที่เข้มงวด และเคร่งครัด และผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน ThaiGAP ยังมีระบบตรวจย้อนกลับ โดย QR Code ที่ได้รับความร่วมมือจาก GISTDA ด้วยการสแกน QR Code ที่ติดบนผลผลิต สามารถสอบกลับไปถึงตำแหน่งที่ตั้งของฟาร์มผลิตด้วย ซึ่งในอนาคต ThaiGAP พัฒนาเป็นมาตรฐานสากลที่ใช้กับในต่างประเทศ และในอาเซียนได้
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *