xs
xsm
sm
md
lg

สวทช.จับมือ มทร.ธัญบุรี ดัน SMEs เข้าถึงงานวิจัย ตั้งเป้า 50 ราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ดร.ณรงค์ ศิริเลิสวรกุล รองผอ.สวทช. (ที่2 ขวา) ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดี มทร.ธัญบุรี (ที่2 ซ้าย)  ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ ผอ.โปรแกรม iTAP(ขวา)
สวทช.เร่งเดินหน้าโครงการโปรแกรม iTAP ล่าสุดลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ดูแลโปรแกรม iTAP เครือข่ายพื้นที่ภาคกลาง ตั้งเป้า 50 ราย SME ที่ได้รับความช่วยเหลือได้เงินหนุนรายละไม่เกิน 400,000 บาท ชี้ความร่วมมือดังกล่าวตอบโจทย์มหาวิทยาลัยผลิตบุคลากรได้ตรงความต้องการภาคเอกชน

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยถึงการดำเนินโปรแกรม iTAP ว่า ล่าสุดทาง สวทช.ได้ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ในการดำเนินเครือข่าย โปรแกรม iTAP พื้นที่ภาคกลาง โดยมหาวิทยาลัยฯ จะนำกลไก iTAP ไปใช้ในการสนับสนุน SME ให้เข้าถึงเทคโนโลยีมากขึ้น เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยฯ มีบุคลากรที่มีความรู้และ ภาคเอกชน และความร่วมมือในครั้งนี้ช่วยให้มหาวิทยาลัยรู้ความต้องการของภาคเอกชน และผลิตบุคลากรออกมาได้ตรงความต้องการด้วย และยังตอบโจทย์นโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนผู้ประกอบการได้นำวิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมไปใช้ในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อความก้าวหน้าของธุรกิจอย่างมั่นคงและยั่งยืน

ทั้งนี้ ทาง สวทช.ได้มีการตั้งงบประมาณไว้สำหรับการช่วยเหลือผู้ประกอบการจากความร่วมมือในครั้งนี้รายละไม่เกิน 400,000 บาท โดยระยะเวลาการช่วยเหลือรายละ 6 เดือนถึง 1 ปี ตั้งเป้าไว้จำนวน 50 ราย ส่วนเป้าหมายของ สวทช.ในปี 2559 ตั้งเป้าให้การช่วยเหลือ SMEs จำนวน 800 โครงการ งบประมาณ 5 เดือนแรกที่ได้รับงบประมาณตามปกติ 150 ล้านบาท ดำเนินไปแล้ว 400 โครงการ และขณะนี้ยื่นของบกลางเพิ่มอีก 150 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือ SMEs ที่เหลืออีก 400 โครงการ ปัจจุบัน โปรแกรม iTAP มีเครือข่ายทั่วประเทศจำนวน 10 แห่ง มีผู้เชี่ยวชาญดำเนินงานอยู่ 1,300 ราย

ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมวัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวต่อว่า ในส่วนของมหาวิทยาลัย มองว่าความร่วมมือในครั้งนี้มีประโยชน์อย่างมากสำหรับประเทศ เพราะโอกาสที่ SMEs จะเข้าถึงงานวิจัย หรือเทคโนโลยีเป็นไปได้ยาก แต่พอมีโครงการนี้ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี นวัตกรรม เพราะวิทยาศาสตร์นั้นมีความจำเป็นต่อศักยภาพการผลิต และภาคเอกชนถือว่าเป็นห้องปฏิบัติการที่ดีที่สุดสำหรับอาจารย์ และนักศึกษา และการทำงานร่วมกันกับภาคเอกชนยังตอบโจทย์ว่ามหาวิทยาลัยควรจะผลิตบุคลากรแบบไหนออกไปรองรับภาคเอกชนด้วย ซึ่งที่ผ่านมาทางมหาวิทยาลัยได้มีงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีปัญหาและมาขอความช่วยเหลือ โดยสามารถแก้ปัญหา และลดต้นทุนด้านพลังงานไปแล้วเป็นจำนวนมาก


* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น