สายๆ แบบนี้จิบกาแฟกันดีไหม? ... หลายคนคงคุ้นเคยกับกาแฟลาเต้อาร์ตที่เหล่าบาริสตาต่างโชว์ลีลาบรรเลงฟองนมบนแก้วกาแฟหอมกรุ่น ส่งความสุขให้เหล่าคอกาแฟได้ลิ้มรสสัมผัสกันอย่างรื่นรมย์กันเป็นอย่างดี ทั้งลายดอกไม้ ลายหัวใจ ลายหงส์ แต่ถ้าเป็นกาแฟลาเต้อาร์ตแบบวิทย์ๆ ล่ะจะหน้าตาเป็นอย่างไร ?
SuperSci สัปดาห์นี้พามาชมลายลาเต้อาร์ตแบบใหม่ ที่จะทำให้ทุกคนลืมลายฟองนมแบบเดิมๆ ไปถนัดตา กับบาริสต้าอดีตนักวิทย์ ที่จะมาเนรมิตฟองนมให้กลายเป็นเหล่า “แพลงก์ตอน” แต่ละแก้วจะเป็นอย่างไร? แพลงก์ตอนแต่ละตัวจะมีหน้าตาแบบไหน? ตามไปดูกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์กันเลย
ศรัณย์ อัศวานุชิต บาริสตาผู้ผันตัวจากนักวิทยาศาสตร์มาสู่เจ้าของธุกิจร้านกาแฟ เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ลาเต้อาร์ตลายแพลงก์ตอนที่เขาทำขึ้น เกิดจากความตั้งใจที่อยากจะนำสิ่งที่รักและสิ่งที่เรียนมารวมกันให้เป็นความสุขของผู้ดื่มกาแฟ
สำหรับศรัณย์ การทำอาชีพบาริสต้าคืองานบริการ และความสุขคือการได้เห็นรอยยิ้มลูกค้าเมื่อได้รับกาแฟจากมือของเขา ทว่าสิ่งที่จะทำให้ธุรกิจกาแฟประสบความสำเร็จได้นั้นกลับไม่ใช่เพียงแค่การบริการ แต่เป็นคุณภาพของกาแฟ และเอกลักษณ์ของแต่ละร้าน ซึ่งเขาเลือกที่จะใช้ "แพลงก์ตอน"เป็นจุดขาย เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้กับตัวเอง
ศรัณย์ กล่าวว่า การทำลาเต้อาร์ตนั้น สิ่งสำคัญอยู่ที่เทคนิคของแต่ละบุคคล เพราะพื้นฐานการเทฟองนมของบาริสต้าทั่วทั้งโลกมีแค่แต่ 3 ลายปกติ คือ ลายทิวลิป ลายหัวใจ และลายใบไม้ ส่วนลายของใครจะแปลกแหวกแนวหรือสวยงามได้แค่ไหนอยู่ที่การฝึกฝน อดีตนักวิทย์อย่างเขาจึงนำสิ่งที่เคยอยู่ในสายเลือดอย่างแพลงก์ตอนสัตว์ที่มีชื่อว่า “โคพีพอด” มาประเดิมเป็นแพลงก์ตอนตัวแรกที่ได้แหวกว่ายอยู่บนแก้วกาแฟ
“ผมว่าคนรู้จักแพลงก์ตอนนะ แต่หาดูได้ยาก เพราะมันต้องส่องกล้องจุลทรรศน์ ยิ่งถ้าไม่ใช่คนในแวดวงด้วยยิ่งแล้วใหญ่ แต่มันคือสิ่งที่ผมคลุกคลีและเคยเรียนมา ผมเลย "ปิ๊ง" ไอเดียว่า สิ่งนี้แหละที่จะมาเป็นตัวแทนของผม"
ศรัณย์ เผยถึงความเป็นมาว่า เขาดัดแปลงการเทจากลายปกติปรับเปลี่ยนนิดหน่อย เพราะการเทฟองนมลาเต้อาร์ตเราจะเทเป็นชั้นๆ คล้ายกับแต่ละส่วนของแพลงก์ตอนพอดี นี่คือความแปลกใหม่ที่ลูกค้าจะได้รับ ซึ่งคนทั่วไปอาจจะงงนะว่านี่คือลายอะไร ถ้าอยากรู้เขาก็พร้อมจะช่วยอธิบายเป็นการให้ความรู้ไปในตัวด้วย
"แต่ถ้าเป็นคนที่รู้จักแพลงก์ตอน เขาจะเซอร์ไพรส์แล้วก็มีความสุขกับกาแฟแก้วนั้นมากๆ"
ศรัณย์โชว์การเทคนิคลาเต้อาร์ต พร้อมอธิบายถึงลักษณะคร่าวๆ ให้แก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ฟังอย่างใจเย็น เป็นแพลงก์ตอนทั้งหมด 6 ตัวที่เขาภูมิใจนำเสนอ
แก้วที่ 1
แก้วที่ 2
แก้วที่ 3
แก้วที่ 4
แก้วที่ 5
แก้วที่ 6
นอกจากแพลงก์ตอนนานาชนิดที่ติดอยู่ในสายเลือดแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ศรัณย์ระบุว่าได้นำมาใช้กับการทำธุรกิจจริงๆ ก็คือ กระบวนการและวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ที่ติดตัวเขามา ที่ช่วยทำให้เขามองหลายๆ สิ่งได้ลึกกว่าคนอื่น และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
ศรัณย์ ยกตัวอย่างเช่น การตีฟองนม เขาจะมองลึกไปถึงการเอาฟองอากาศเข้าไปน้ำนม มองลักษณะการหมุนวนของน้ำ หรืออุณหภูมิที่เกิดขึ้น เข้าใจเทคนิคพิเศษ เช่น การใส่น้ำตาลลงไปในนมเล็กน้อยคนทั่วไปหรือบาริสต้าขึ้นไปจะมองแค่เพียงว่าทำให้หวานขึ้น แต่สำหรับเขาจะทราบว่าเกิดจากน้ำตาลแลกโทสถูกแยกออกเป็นโมเลกุลเดี่ยว ซึ่งกระบวนการคิดดังกล่าวทำให้การมองเรื่องพื้นๆ ทั่วไปของการทำกาแฟสำหรับเขาเป็นเรื่องพิเศษและมีเหตุผลในทุกๆ ส่วน
“การเรียนวิทยาศาสตร์ไม่ได้อยู่แค่เพียงในตำรา แต่คือการเรียนรู้ชีวิต สำหรับผมสิ่งสำคัญของการเรียนวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เพื่อทำงานเป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่อยู่ที่ว่าจบมาแล้ว ยังอยากเอามาใช้อยู่ไหม ถ้ายังอยากก็ถือว่าการเรียนประสบความสำเร็จ” ศรัณย์ กล่าวทิ้งท้ายแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
*******************************