นักวิชาการ อพวช.แสดงความเห็นแหล่งสุดท้ายของ “หม้อข้าวหม้อแกงลิง” ใน จ.สุราฎร์จะหายไปหลังหายไปแล้ว 2 แหล่ง วอนพิจารณาการก่อสร้างเรือนจำที่ไม่กระทบถิ่นอาศัยของพืชที่พบได้เฉพาะถิ่น และอาจไม่ประสบความสำเร็จในการนำมาเพาะขยายพันธุ์นอกพื้นที่
จากกระแสข่าวการเดินหน้าโครงการก่อสร้างเรือนจำแห่งใหม่ใน อ.กาญนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี ที่เป็นถิ่นที่อยู่ของต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงสายพันธุ์เฉพาะถิ่น "เนเพนทีส สุราษฎร์เอนซิส" (Nepenthes suratensis) นั้น นายภานุมาศ จันทร์สุวรรณ นักวิชาการด้านธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ให้ความเห็นแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ส่วนตัวเขาค่อนข้างเป็นห่วงและรู้สึกใจหาย ที่ต้องเห็นพืชเฉพาะถิ่นอีกชนิดหนึ่งถูกรุกรานด้วยการประกอบกิจกรรมของมนุษย์
ภานุมาศเผยว่าก่อนหน้านี้มีทีมสำรวจประชากรต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงใน จ.สุราษฎร์ธานีได้จำนวน 3 กลุ่มประชากร แต่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา กลับพบแค่ 1 กลุ่มประชากรเฉพาะในพื้นที่ อ.กาญจนดิษฐ์เท่านั้น ซึ่งสันนิษฐานว่าสาเหตุที่หม้อข้าวหม้อแกงลิงอีก 2 กลุ่มประชากรหายไปจากพื้นที่เป็นเพราะการทำสวนยางและการสร้างสิ่งปลูกสร้างทับถิ่นที่อยู่ของต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง
"หม้อข้าวหม้อแกงลิงสุราษฎร์ธานี มันเคยมีตั้ง 3 แหล่ง หายไป 2 คราวนี้เหลือที่ อ.กาญนดิษฐ์ที่เดียว ยังจะถูกเอาพื้นที่ไปสร้างเรือนจำอีก ผมค่อนข้างใจหาย แต่เข้าใจว่าโครงการก็คงจะต้องเดินหน้าต่อ เพราะกว่าจะดำเนินมาถึงการก่อสร้างได้คงต้องผ่านการอนุมัติมาเรียบร้อยแล้ว ถึงจุดนี้คงต้องเอาใจช่วยนักวิจัยที่จะลงพื้นที่ไปเก็บตัวอย่างเพื่อมาขยายพันธุ์ก็แล้วกัน แต่การไปหม้อข้าวหม้อแกงลิงออกมาจากพื้นที่ก็การันตีไม่ได้ว่าจะอยู่รอดหรือไม่ ทางที่ดีผมไม่อยากให้พืชชนิดนี้ต้องถูกย้ายออกจากบ้านเลย ถ้าพอจะปรับสิ่งก่อสร้างให้เอื้อต่อการอยู่รอดของหม้อข้าวหม้อแกงลิงแบบเดิมได้ก็จะดีมาก" นักธรรมชาติวิทยาแสดงทัศนะ
ภานุมาศ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของ อพวช.ขณะนี้ยังไม่มีแผนการที่จะลงไปสำรวจ หรือนำกล้าพันธุ์หม้อข้าวหม้อแกงลิงของสุราษฎร์ธานีมาทำวิจัยหรือขยายพันธุ์ต่อ แต่ก็มีทีมวิจัยดำเนินการอนุรักษ์หม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดนี้ จากหลายภาคส่วน อาทิ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่จะร่วมกันดำเนินการอนุรักษ์ในหลายๆ ด้าน
สำหรับการขยายพันธุ์ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง ภานุมาศ ระบุว่านิยมทำด้วยการเพาะเมล็ด และเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อภายใต้การจำลองสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม เนื่องจากพืชชนิดนี้จะเจริญเติบโตได้ดีในป่าซับน้ำที่มีความชุ่มน้ำสูง เป็นดินพรุที่อุดมสมบูรณ์หรือดินที่มีปริมาณกำมะถันค่อนข้างมาก ด้วยเหตุนี้จึงพบหม้อข้าวหม้อแกงลิงธรรมชาติได้เฉพาะถิ่น โดยส่วนมากจะกระจายตัวตามป่าทางภาคใต้และประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่มีป่าชุ่มน้ำตามแนวเส้นศูนย์สูตร ส่วนหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดพันธุ์อื่นๆ ที่มีขายตามตลาดนัดจตุจักรเกิดจากการเพาะเลี้ยงแทบทั้งสิ้น
นอกจากนี้ ภานุมาศ ยังร้องขอไปยังผู้เกี่ยวข้องผ่านทางทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ด้วยว่า อยากให้ภาครัฐและประชาชนในพื้นที่ช่วยกันดูแลหม้อข้าวหม้อแกงลิงสุราษฎร์ธานีให้ดี และอยู่ในพื้นที่ได้นานที่สุด เพราะนอกจากจะเป็นพืชประดับสวยงามที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เป็นชื่อเสียงและหน้าตาของจังหวัดตามชื่อวิทยาศาสตร์ที่ถูกตั้งขึ้นแล้ว หม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดนี้ ยังถูกจัดอยู่ในกลุ่มพืชที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติหรือทรัพยากรธรรมชาติ (International Union of Conservation or Nature and Natural Resource: IUCN) ที่แสดงว่ามีความเปราะบางต่อการสูญพันธุ์อย่างมากอีกด้วย
"ถ้าสูญพันธุ์โดยธรรมชาติผมคงเสียใจนิดหน่อย เพราะเข้าใจว่าเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ แต่ถ้าจะต้องมาสูญพันธุ์เพราะมนุษย์แล้วล่ะก็ ผมว่ามันไม่ใช่ ไม่ถูก แล้วก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรเกิดขึ้น ถ้าเป็นไปได้เราไม่ควรจะไปยุ่งกับที่ตรงนั้น ทุกสิ่งมันมีคุณค่า ไม่ว่ามันจะเป็นพืชหรือสัตว์ เราไม่มีสิทธิ์จะไปตัดสินชีวิตใครทั้งนั้น ว่าใครควรอยู่หรือควรหายสาบสูญไปจากโลก ผมหวังว่าจะมีทางออกที่ดี" นักธรรมชาติวิทยากล่าวทิ้งท้ายแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
*******************************