xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจหมอรักษา "เหี้ย" ครั้งแรก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

น.สพ.เชวพันธุ์ ยินหาญมิ่ง (เสื้อดำ) สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์แปลกกำลังจับน้องบุ๋ยอ้าปากเพื่อตรวจดูหลอดอาหารและช่องปากภายใน  (เครดิตภาพ จากศาลายานิวส์)
เปิดใจ “หมอต้น” ผู้รักษา “น้องบุ๋ย” เหี้ยขวัญใจชาวมหิดล ศาลายา หลังทางเดินอาหารอักเสบลอยตุ๊บป่องอยู่ในคลองนาน 15 วัน พร้อมแนะคนเอ็นดูเหี้ยว่าอย่าให้อาหารคนเพราะผิดธรรมชาติของสัตว์กินเนื้อสด และยังเสริมให้เกิด "เหี้ยจรจัด" มากขึ้น

“ปกติเหี้ยมันไม่ป่วยหรอกครับ ป่วยก็เพราะคน ป่วยเพราะอาหารที่คนให้ ทางที่ดีเราปล่อยให้เขาอยู่ตามธรรมชาติจะดีกว่า” ประโยคสั้นๆ จากปาก "หมอต้น" รศ.น.สพ.ดร. จิตรกมล ธนศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชา เวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทันทีที่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ถามถึงอาการป่วยของ “น้องบุ๋ย” เหี้ยขวัญใจชาวมหิดล

หมอต้น กล่าวว่าปกติเขาเป็นอาจารย์สัตวแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านสัตว์ใหญ่อย่างวัวและควาย ไม่ได้รักษาเหี้ยหรือมีความเชี่ยวชาญเป็นกรณีพิเศษ แต่ด้วยความที่เขาเคยคลุกคลีและมีประสบการณ์เกี่ยวกับเหี้ยอยู่บ่อยครั้ง การรับ "น้องบุ๋ย" มารักษาจึงเป็นสิ่งที่เขาอยากลอง

ชีวิตผมพัวพันกับเหี้ยพอสมควร เพราะบ้านผมอยู่ติดคลองก็จะเจอพวกมันประจำ ตั้งแต่ขโมยปลาในอ่างบ้านผมไปกิน ไปจนถึงวิ่งไล่กวดผม แต่ด้วยพฤติกรรมบางอย่างก็ทำให้ผมรู้ว่าจริงๆ แล้วเหี้ยไม่ใช่สัตว์น่ากลัว ตั้งแต่นั้นผมจึงพยายามศึกษามันและสัตว์ในกลุ่มเดียวกันจนมีความรู้อยู่พอสมควร ทีนี้พอเหี้ยในมหาวิทยาลัยป่วย หลายๆ คนจึงกดดันให้ผมไปรับตัวมันมารักษา ผมเลยต้องรับน้องบุ๋ยมาแบบตกกระไดพลอยโจน” หมอต้น เผยที่มาที่ไปแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

หมอต้น เผยว่า ที่ ม.มหิดล ศาลายา มีเหี้ยค่อนข้างมากเพราะสภาพแวดล้อมค่อนข้างเอื้ออำนวย เนื่องจากมีต้นไม้และคูคลองค่อนข้างมาก จึงไม่แปลกที่จะพบเหี้ยว่ายอยู่ในบ่อน้ำ หรือยืนอาบแดดอยู่บนถนน ประกอบกับพื้นที่ของศาลายาเป็นที่อยู่ของเหี้ยมาก่อน เมื่อมีการก่อสร้างเพิ่มขึ้น พวกมันไม่มีที่อยู่ ในที่สุดคนกับเหี้ยจึงต้องอยู่ร่วมกันโดยปริยาย แต่ถึงแม้จะมีเหี้ยอยู่นับร้อยตัวในพื้นที่มหาวิทยาลัย กลับไม่เคยมีใครพบเหี้ยป่วยหรือตายเลยแม้แต่ครั้งเดียว ฉะนั้น “น้องบุ๋ย” จึงเป็นเหี้ยตัวแรกที่หมอต้นนำมาปรึกษากับ "หมออ้อย" น.สพ.เชาวพันธ์ ยินหาญมิ่งมงคล ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์แปลก (Exotic pets) และทีมงานเพื่อร่วมกันวินิจฉัยและรักษา

เริ่มจากมีคนมาแจ้งว่าพบเห็น “น้องบุ๋ย” ลอยน้ำสภาพร่อแร่อยู่ในคลองริมคณะสิ่งแวดล้อมมาแล้วถึง 15 วัน บ้างก็สันนิษฐานว่ามันกินเต่าจนกระดองติดค้างลำไส้จึงป่วยให้ไปรับมารักษา ซึ่งตอนเริ่มแรกหมอต้นต้องปฏิเสธไปหลายครั้งเพราะ ไม่เคยรักษาเหี้ยมาก่อน เคยแค่เพียงสัมผัสเหี้ยที่ถูกเลี้ยงจนเชื่องแล้วเท่านั้น และที่ทำให้ตะขิดตะขวงใจยิ่งกว่า คือความที่น้องบุ๋ยและเหี้ยทุกตัวในมหิดลเป็น "เหี้ยจรจัด"

คนทั่วไปคิดว่าการเลี้ยงคือการให้อาหาร ไม่ใช่นะ ถ้าเลี้ยงคือคุณต้องรับผิดชอบมันทั้งหมด แม้กระทั่งตอนที่มันป่วยด้วย ผมเลยคิดหนัก แล้วคิดต่อด้วยว่าถ้าจบตัวนี้ก็ต้องมีตัวต่อๆ ไปตามมา แต่ยังไงก็แล้วแต่ ตอนที่ผมเห็นมันป่วยผมก็รีบเอามันกลับมาที่คณะทันที เรื่องอื่นไว้ทีหลัง เพราะยังไงมันก็คือสัตว์ป่วยแล้วเราก็เป็นสัตวแพทย์ แต่หลังจากนี้ผมคงต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อให้คนเข้าใจถึงธรรมชาติของเขา มิเช่นนั้นอีกหน่อยเหี้ยคงเกลื่อนมหาวิทยาลัยเหมือนที่มีหมาจรจัดอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง แล้วสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้มันป่วยก็คือ “คน” ที่ไปให้อาหารเพราะเหี้ยมันไม่ได้กินอาหารเหมือนเรา พอกินข้าวที่คนให้ ร่างกายมันจึงเสียสมดุลเลยทำให้ป่วย” หมอต้นไล่เรียง

ด้วยความที่น้องบุ๋ยเป็นเหี้ยตัวแรกที่ทีมได้รักษา หมอทุกคนจึงอยู่ในอาการกลัวๆ กล้าๆ แต่ก็ผ่านไปได้ด้วยดีเพราะน้องบุ๋ยก็เพลียจนไม่มีฤทธิ์แม้แต่จะดิ้นเพื่อหาทางต่อสู้  หมอต้นเผยว่า การรักษาเหี้ยไม่มีความพิเศษไปกว่าสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นเพียงแต่สัตวแพทย์ต้องค่อนข้างมีความเชี่ยวชาญ และต้องเข้าทางสัตว์ให้ถูกจุด มิเช่นนั้นก็อาจถูกกัดจนเป็นแผลเหวอะหวะได้เช่นกัน

การรักษาเริ่มจากการชั่งน้ำหนักวัดความยาว ซักประวัติอาการป่วยจากผู้ที่พบเห็น เอกซเรย์ดูอวัยวะภายในและช่องท้อง จากนั้นจึงเริ่มสำรวจอวัยวะต่างๆ เพื่อวินิจฉัยโรค ซึ่งจากการเอกซเรย์ก็ไม่พบอาการผิดปกติหรือซากเต่าที่มีการสันนิษฐานแต่อย่างใด ทีมแพทย์จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นที่ระบบทางเดินอาหารผิดปกติ ทำให้อาหารไม่ย่อย เกิดอาการท้องอืดจนเสียสมดุล ไม่สามารถดำน้ำหรือกินอาหารได้ตามปกติจนมีอาการอ่อนเพลีย

ทีมแพทย์จึงให้ยาปฏิชีวนะและยาบำรุง เฝ้าดูอาการอยู่ 5 วัน พอน้องบุ๋ยอาการดีขึ้น เดินได้ ลงว่ายน้ำในอ่างได้ มีอาการเป็นที่น่าพอใจจึงปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติตามเดิม ตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 พ.ค.58 ที่ผ่านมา

หมอต้นและหมออ้อย ระบุว่าสาเหตุหลักที่ทำให้ระบบทางเดินอาหารของน้องบุ๋ยผิดปกติ เกิดจากได้รับอาหารที่ไม่เหมาะสม เพราะ ตามธรรมชาติเหี้ยจะกินแต่ของสด เช่น หนูท่อเป็นๆ ทั้งตัว รวมไปถึงแมลง เพราะมันมีกระบวนการเมทาบอลิซึมที่สามารถดูดซึมทุกส่วนของอาหารแม้แต่ขน หรือกระดูกจากสัตว์เป็นๆ ที่กินไปใช้ได้  แต่อาหารที่เหี้ยได้รับทุกวันนี้ เป็นอาหารที่ได้รับจาก “ความสงสารของคน” ทำให้เหี้ยต้องกินข้าวผัดเหลือ ก๋วยเตี๋ยวเหลือ ซึ่งเหี้ยกินได้ แต่ผิดธรรมชาติที่ควรจะเป็นของมัน

"นอกจากน้องบุ๋ยจะเป็นเหี้ยตัวแรกที่ป่วยจนต้องรักษาแล้ว ยังถือเป็นเหี้ยตัวแรกที่มีประวัติการป่วยด้วย เพราะจนถึงปัจจุบันยังไม่มีการบันทึกการรักษาใดๆ ที่ระบุว่าเหี้ยเคยป่วย สัตวแพทย์จึงไม่มีข้อมูลที่ระบุว่าเหี้ยมักป่วยเป็นโรคอะไรบ้าง แต่การป่วยของน้องบุ๋ยคราวนี้อาจกำลังบอกอะไรกับคนได้หลายๆ อย่าง เพราะนอกจากจะสันนิษฐานว่าน้องบุ๋ยป่วยเพราะทางเดินอาหารอักเสบแล้ว สภาพน้ำในคลองก็อาจจะมีส่วนที่ทำให้มันป่วยได้ด้วยเช่นเดียวกัน เพราะเหี้ยเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างอึด และมีชีวิตยืนยาวได้ถึง 25 ปี การที่น้องบุ๋ยอาการแย่ถึงขนาดนี้น่าจะมีอะไรมากกว่าการกินอาหารที่ไม่เหมาะสม" หมอต้นให้ข้อสันนิษฐานเพิ่มเติม

แม้หมอต้นจะบอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า “เหี้ยไม่ใช่สัตว์น่ากลัว” แต่เขาก็ย้ำด้วยว่ายังไง “มันก็ไม่ใช่สัตว์ที่น่ารัก” เพราะไม่มีใครรู้ว่าขณะนั้นเหี้ยจะอยู่ในสภาวะอารมณ์แบบไหน เพราะถึงแม้มันจะรักสงบและขี้ตกใจ แต่มันก็พร้อมที่จะกัดได้ทุกเมื่อเช่นเดียวกัน ไม่เพียงแค่ฟันอันแหลมเพียงเท่านั้น เพราะในน้ำลายของเหี้ยยังมีแบคทีเรียอยู่เยอะมาก ไม่นับรวมพยาธิที่อยู่ในอวัยวะภายในจากอาหารสดที่มันกิน ทางที่ดีที่สุด คือ ปล่อยให้อยู่ตามธรรมชาติตามประสาของเหี้ย

“เรื่องรักษาเหี้ยเนี่ยมันธรรมดามากเลยครับ รักษาไม่ยาก แต่ที่สำคัญกว่าคือ "คน" ผมรู้ว่าคนไทยขี้สงสาร เห็นอะไรก็อยากให้อาหาร แต่ผมอยากจะให้ศึกษาธรรมชาติของเขาสักนิดก่อนคิดจะทำบุญ เหี้ยกินอาหารสดเป็นอาหารนะครับ กินทุกอย่าง ยกเว้นไข่ดิบ ไม่ต้องไปใจดีให้อาหารคนกับมันอีก เพราะนอกจากจะทำให้เหี้ยป่วยแล้ว ยังจะทำให้มีเหี้ยจรจัดเพิ่มขึ้นด้วย” หมอต้นกล่าวทิ้งท้ายแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์



รศ.น.สพ.ดร. จิตรกมล ธนศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชา เวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
หมอต้นเคยสัมผัสกับเหี้ยเชื่องที่ถูกฝึกเพื่อใช้ในการแสดงมาก่อน ทำให้เขามีความคุ้นเคยและกล้าที่จะรักษาน้องบุ๋ย (เครดิตภาพจาก หมอต้น)
เหี้ย มักออกมานอนอาบแดดตอนเที่ยงวันบนฟุตบาธ (เครดิตภาพ จากหมอต้น)
เหี้ยจรจัด กว่า 100 ตัว พบได้ทั่วไปใน ม.มหิดล ศาลายา (เครดิตภาพจาก หมอต้น)
เหี้ยขนาดใหญ่ลำตัวยาวกว่า 1.5 เมตร สามารถพบได้ทั่วไปใน ม.มหิดล ศาลายา (เครดิตภาพ จาก หมอต้น)
น้องบุ๋ยป่วยด้วยอาการท้องอืดจนอ่อนเพลีย ทำให้ลอยคออยู่ในคลองเป็นเวลาถึง 15 วัน (เครดิตภาพ จากศาลายานิวส์)
หมอต้นใช้บ่วงเชือกเพื่อคล้องคอน้องบุ๋ย เพื่อป้องกันอันตราย   (เครดิตภาพ จากศาลายานิวส์)
คลองบุ๋ย บริเวณคณะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ม.มหิดล สถานที่ที่อยู่ของน้องบุ๋ย






*******************************

ยาเคลือบอุปกรณ์การแพทย์ยับยั้งการเติบโตเชื้อโรคจากเทคโนโลยีบรรจุแคปซูลนาโนเพื่อควบคุมการปลดปล่อยยาเคลือบกำจัดเชื้อโรค 1 ในตัวอย่างวิศวกรรมชีวการแพทย์สุดล้ำผลงานนักศึกษาไทย อ่านต่อเพิ่มเติมคลิก www.manager.co.th/science #engineering #bioengineering #medicalengineering #medical #medical #innovation #project #undergrat #student #thailand #managersci #astvscience #sciencenews

A photo posted by AstvScience (@astvscience) on


กำลังโหลดความคิดเห็น