xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นธารน้ำแข็งขั้วโลกใต้ไร้กันชน หลัง “หิ้งน้ำแข็ง” ใหญ่สุดในคาบสมุทรบางลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพถ่ายดาวเทียมเมื่อครั้งหิ้งน้ำแข็งลาร์สันบีเริ่มแตกสู่ทะเลเมื่อปี 2002 (MODIS, NASAs Earth Observatory)
หลัง “คาบสมุทรแอนตาร์กติก” สูญเสีย “หิ้งน้ำแข็ง” ไปแล้ว 2 ส่วน เหลือส่วนที่ใหญ่ที่สุดที่กำลังบางลงเรื่อยๆ จากน้ำและอากาศที่ร้อนขึ้น นักวิทยาศาสตร์คาดภายในศตวรรษนี้หรือเร็วกว่านั้น เราอาจสูญเสียหิ้งน้ำแข็งที่เป็นกันชนให้ธารน้ำแข็งที่ขั้วโลกใต้ และจะเป็นเหตุให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น

รายงานจากเอเอฟพีอ้างถึงการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ว่า หิ้งน้ำแข็งลาร์สันซี (Larsen C) ซึ่งเป็นหนึ่งใน 3 หิ้งน้ำแข็ง (Ice shelf) ในคาบสมุทรแอนตาร์กติกและเป็นหิ้งน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่สุดของคาบสมุทรดังกล่าวกำลังบางลง และอาจหลุดสู่ทะเลภายในศตวรรษนี้

ด้าน พอล ฮอลแลนด์ (Paul Holland) จากสำนักสำรวจแอนตาร์กติกอังกฤษ (British Antarctic Survey: BAS) หัวหน้าทีมวิจัยที่ค้นพบใหม่นี้ กล่าวว่าพวกเขาทราบว่ามี 2 กระบวนการที่เป็นเหตุให้หิ้งน้ำแข็งลาร์สัน ซี บางลงและมีเสถียรภาพลดลง และหากหิ้งน้ำแข็งขนาดใหญ่นี้พังทลายลง จะทำให้ธารน้ำแข็ง (glaciers) ที่อยู่ด้านหลังไหลลงสู่ทะเลเร็วขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ระดับทะเลที่สูงขึ้นด้วย

ก่อนหน้านี้ 2 หิ้งน้ำแข็งขนาดเล็กกว่าทางฝั่งตะวันออกของคาบสมุทรที่ยื่นออกจากทวีปแอนตาร์กติกาไปทางอเมริกาใต้ได้ทลายลงในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยครั้งแรกเป็นการทลายของหิ้งน้ำแข็งลาร์สันเอ (Larsen A) ในปี 1995 ตามมาด้วยการทลายของหิ้งน้ำแข็งลาร์สันบี (Larsen B) ที่มีพื้นที่ประมาณ 3,250 ตารางกิโลเมตรในปี 2002  

หิ้งน้ำแข็งเป็นแผ่นน้ำแข็งขนาดมหึมาที่ลอยอยู่ในทะเลและเชื่อมต่อกับชายฝั่งของทวีปแอนตาร์กติกา โดยมีความหนาหลายร้อยเมตรและเชื่อมต่อกับแผ่นน้ำแข็งที่อยู่บนพื้นทวีป และถูกเติมโดยธารน้ำแข็ง สำหรับหิ้งน้ำแข็งลาร์สันบีนั้น นักธารน้ำแข็งวิทยาระบุว่า ไม่เคยมีมาก่อนสิ้นสุดยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้ายหรือเมื่อประมาณ 12,000 ปีก่อน

การค้นพบว่าคาบสมุทรดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่ร้อนขึ้นเร็วที่สุดนั้นได้สร้างความตกตะลึงอย่างยิ่ง โดยอุณหภูมิในแถบนั้นได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 2.5 องศาเซลเซียสในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมากกว่าอุณหภูมิโลกเฉลี่ยหลายเท่า  

งานวิจัยใหม่นี้ได้ตีพิมพ์ลงวารสารครีโอสเฟียร์ (Cryosphere) โดยรวบรวบรวมข้อมุลจากการวัดด้วยดาวเทียมและการสำรวจด้วยเรดาร์อีก 8 ครั้งตลอดช่วง 15 ปีที่ผ่านมา นับแต่ปี 1998-2012  

ในส่วนหิ้งน้ำแข็งลาร์สันซีนั้นเป็นหิ้งน้ำแข็งใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก มีพื้นที่ครอบคลุมราว 55,000 ตารางกิโลเมตร หรือเกือบๆ 2 เท่าของขนาดประเทศเบลเยียม และงานวิจัยใหม่ได้พบว่า ในช่วงการศึกษานั้นหิ้งน้ำแข็งลาร์สันซีได้สูญเสียน้ำแข็งเฉลี่ย 4 เมตร และที่พื้นผิวนั้นต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 1 เมตร

นักวิจัยเชื่อว่า น้ำทะเลที่ร้อนขึ้นได้เซาะน้ำแข็งจากด้านใต้ ขณะที่อากาศซึ่งอุ่นขึ้นได้ขับพื้นผิวหิมะอ่อนๆ ที่เรียกว่า “หิมะน้ำแข็ง” (firn) ออกไป เป็นผลให้น้ำแข็งบนพื้นผิวบีบอัดและแน่นขึ้น ซึ่งสร้างความเครียดและเปรอะบางให้แก่โครงสร้างภายในของหิ้งน้ำแข็ง

ทางด้านสำนักสำรวจแอนตาร์กติกอังกฤษ ระบุระหว่างแถลงข่าวว่า การทลายของหิ้งน้ำแข็งอาจจะเกิดขึ้นภายในศตวรรษนี้ และเป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดเร็วขึ้นพร้อมกับการเตือนเล็กๆ รอยแตกได้ก่อตัวขึ้นภายในน้ำแข็ง และอาจเป็นเหตุให้น้ำแข็งร่นมากกว่าที่เคยสำรวจ แต่เพราะหิ้งน้ำแข็งลอยอยู่บนน้ำ การสูญเสียลาร์สันซีจะไม่ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น

ทว่า ปัญหาจะตามมาจากธารน้ำแข็ง ซึ่งจะสูญเสีย “กันชน” ตามชายฝั่งเมื่อธารน้ำแข็งเหล่านั้นไหลสู่ทะเล น้ำแข็งบนแผ่นดินจะแตะมหาสมุทรและละลาย แล้วเพิ่มปริมาตรของน้ำทะเลมากขึ้น

“ตอนที่สูญเสียลาร์สันเอและลาร์สันบีนั้น ธารน้ำแข็งที่อยู่ด้านหลังละลายเร็วขึ้น และตอนนี้ยังมีส่วนเพิ่มระดับน้ำทะเลจากแอนตาร์กติกาอย่างมีนัยสำคัญ ลารสันซีนั้นใหญ่กว่า และหากสูญเสียมันไปอีกในไม่กี่ศตวรรษข้างหน้า มันก็จะเป็นปัจจัยเพิ่มในการคาดการณ์ระดับน้ำทะเลก่อนปี 2100” เดวิด วอกกัน (David Vaughan) ผู้อำนวยการสำนักสำรวจแอนตาร์กติกอังกฤษกล่าว
 
ขณะที่รายงานจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change) หรือไอพีซีซี (IPCC) ของสหประชาชาติ เมื่อปี 2013 ระบุว่า การสูญเสียน้ำแข็งจากทวีปแอนตาร์กติกาอาจเพิ่มขึ้นจากปีละ 3 หมื่นล้านตันในทศวรรษนี้เป็น 1.47 แสนล้านตันในทศวรรษถัดไป และยังคาดการณ์ด้วยว่า น้ำทะเลที่ร้อนขึ้นและการสูญเสียน้ำแข็งนั้นจะผลักดันให้ระดับน้ำทะเลเฉลี่ยสูงขึ้น 40-63 เซ็นติเมตร แต่อาจมากถึง 82 เซ็นติเมตรจากเพดานสูงสุดตามภาพฉายของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ไอพีซีซียังสรุปอีกว่า ทั้งการกัดเซาะชายฝั่ง และการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลอย่างมีนัยสพคัญนี้ไม่ใช่เรื่องดี โดยจะมีปัญหาอื่นตามมา ทั้งปัญหาน้ำท่วมจากคลื่นพายุซัดฝั่ง (storm surges) การสูญเสียพื้นที่เกาตรกรรม และการปนเปื้อนของเกลือสู่แหล่งน้ำใต้ดิน 






*******************************

ยาเคลือบอุปกรณ์การแพทย์ยับยั้งการเติบโตเชื้อโรคจากเทคโนโลยีบรรจุแคปซูลนาโนเพื่อควบคุมการปลดปล่อยยาเคลือบกำจัดเชื้อโรค 1 ในตัวอย่างวิศวกรรมชีวการแพทย์สุดล้ำผลงานนักศึกษาไทย อ่านต่อเพิ่มเติมคลิก www.manager.co.th/science #engineering #bioengineering #medicalengineering #medical #medical #innovation #project #undergrat #student #thailand #managersci #astvscience #sciencenews

A photo posted by AstvScience (@astvscience) on


กำลังโหลดความคิดเห็น