ฟังดูอาจเป็นเรื่องขัดแย้งเมื่อนักศึกษา ม.นอร์ท-เชียงใหม่ปันน้ำจาก “ดอยปู่หมื่น” มาช่วยชุมชนผลิตชาเพื่อช่วยรักษาป่าต้นน้ำ แต่แนวคิดในการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดของพวกเขา ได้ช่วยลดต้นทุนการผลิตและการตัดไม้มาทำฝืน อีกทั้งยังช่วยปรับกระบวนการผลิตจนได้ชาที่ขายได้ราคาดีกว่าเดิมเป็นร้อยเท่า
“ชุมชนดอยปู่หมื่น” ใน ต.แม่สาว อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ เป็นชุมชนในพื้นที่ห่างไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่กว่า 175 กิโลเมตร และอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,300 เมตร จุดเด่นหนึ่งของพื้นดังกล่าวคือเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ มีน้ำไหลผ่านตลอดทั้งปี และมีอาณาเขตอยู่ในอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก และเป็นป่าต้นน้ำของลำห้วยแม่ฮ่าง ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำกก
การมีน้ำไหลผ่านตลอดทั้งปีและเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำได้จุดประกายให้กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ ที่เข้าไปทำกิจกรรมอาสาในพื้นที่ดังกล่าวอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2549 เกิดความคิดในการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด
พฤธิ์พงศ์ พรหมใจ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิศวอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ ได้รวมกลุ่มกับเพื่อนและรุ่นน้องรวม 6 คน นำความรู้ด้านวิศวกรรมไปใช้ในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อการใช้ประโยชน์ใน 5 ด้าน คือ การอุปโภค-บริโภค การเกษตร การประมง และใช้เป็นพลังงานทดแทน
ชุมชนดอยปู่หมื่นนั้นปลูกชาอัสสัมเป็นพืชเศรษฐกิจหลังได้รับการส่งเสริมให้ปลูกพืชทดแทนการปลูกฝิ่น โดยมีพื้นที่ปลูกชาราว 1,000 ไร่ แต่พื้นที่ดังกล่าวอยู่บนพื้นที่สูง มีเมฆหมอกปกคลุมตลอด และไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง ในการแปรรูป “ชาหมักจีน” ซึ่งเป็นสินค้าหลักจึงต้องใช้ฟืนที่ได้จากการตัดไม้ในป่าและเครื่องยนต์ดีเซลที่ต้องใช้น้ำมัน
พฤธิ์พงศ์และสมาชิกกลุ่มซึ่งมีความรู้ทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้าจึงนำความรู้ที่ได้พัฒนาระบบที่ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ด้วยพลังงานน้ำ โดยที่ชาวบ้านในพื้นที่ยังสามารถใช้เครื่องจักรผลิตชาเครื่องเดิมได้ แต่ใช้น้ำทดแทนฟืนและน้ำมันดีเซล อีกทั้งยังนำกระบวนการผลิต “ชาดำ” ของกรมวิชาการเกษตรไปปรับกระบวนผลิตชาของชุมชนให้ทันสมัยและมีมูลค่าเพิ่มขึ้น
กระบวนการผลิตชาแบบใหม่ซึ่งใช้พลังงานน้ำนั้นได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตชาอินทรีย์จากกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ ซึ่ง พฤธิ์พงศ์กล่าวว่า ชุมชนสามารถขายชาได้ราคาที่มากกว่าเดิม จากเคยขายชาหมักจีนกิโลกรัมละ 90 บาท ก็ปรับมาขายชาดำได้ในราคากล่องละ 150 บาท ซึ่งมีปริมาณชา 12 ซองๆ ละ 2 กรัม
“เมื่อใช้น้ำหมุนกังหันผลิตไฟฟ้าทดแทนการใช้ฝืน ก็ช่วยลดปริมาณการตัดไม้ในป่าต้นน้ำลง จากเดิมที่ชาวบ้านต้องตัดฟืน 10 กองเพื่อแบ่งไปใช้ในชีวิตประจำวันและใช้ผลิตชา ก็ลดปริมาณการตัดฝืนลงครึ่งหนึ่ง ช่วยให้เรารักษาป่าต้นน้ำไว้ได้ และเมื่อมีป่าก็มีน้ำให้ใช้ และยังลดค่าใช้จ่ายน้ำมันดีเซลลงได้ถึงปีละ 100,000 บาท” พฤธิ์พงศ์กล่าว
การพัฒนาร่วมกับชุมชนดอยปู่หมื่นเพื่อจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์นี้ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดในโครงการ “พี่นำน้องรักษ์น้ำตามแนวทางพระราชดำริ พ.ศ.2557” ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเพิ่งมีกิจกรรมค่ายสำหรับโครงการที่ผ่านเข้ารอบ 10 โครงการ เมื่อ 5-8 พ.ค.58ที่ผ่านมา ณ อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี
ด้าน ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ กรรมการและรองเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงโครงการดังกล่าวที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดของมูลนิธิว่า เป็นโครงการที่มี “ความเข้าใจ” ต่อปัญหาในพื้นที่ และสามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรม และพื้นที่ดังกล่าวจะกลายเป็นเครือข่ายเยาวชนในการบริหารจัดการน้ำของมูลนิธิต่อไป
พร้อมกันนี้มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ยังได้จัดโครงการ “พี่นำน้องรักษ์น้ำตามแนวทางพระราชดำริ พ.ศ.2558” เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนอายุระหว่าง 12-25 ปี ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ในพื้นที่จริงเพื่อนำไปสู่เครือข่ายเยาวชนบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำ โดยเปิดรับสมัครเยาวชนเข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ก.ค.58 สอบถามเพิ่มเติม โทร.0-2642-7034} 0-2642-7098 ต่อ 609 หรือ 654 และดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ http://www.utokapat.org/JuniorWaterChallenge2557.html
*******************************