ทั้งคนผู้พิการ ผู้ต้องขัง เยาวชนในสถานพินิจ หรือเด็กป่วยที่เข้าออกโรงพยาบาลเป็นว่าเล่น เขาเหล่านั้นล้วนเป็นผู้ด้อยโอกาส และใช้ชีวิตได้อย่างยากลำบากสำหรับสังคมคนทั่วไป แต่ด้วยโครงการด้านไอทีตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตพวกเขาให้ดีขึ้น
โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2539 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการใช้ไอทีเพิ่มคุณภาพชีวิตพัฒนาการศึกษา และเพิ่มโอกาสแก่ผู้ด้อยโอกาส ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายผู้ด้อยโอกาส 4 กลุ่ม ได้แก่ เด็กนักเรียนในชนบทห่างไกล ผู้พิการ เด็กเจ็บป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาล เด็กและเยาวชนในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และผู้ต้องขัง
นางพรทิพย์ โชคสมัย ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาพฤตินิสัย กรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ ว่า เป็นโครงการพัฒนาให้ผู้ต้องขังสามารถประกอบอาชีพได้หลังจากพ้นโทษ ซึ่งมีการเรียนการซ่อมด้านคอมพิวเตอร์ในหลายด้าน อาทิ การซ่อมคอมพิวเตอร์ หลักสูตรคอมพิวเตอร์เบื้องต้น และการสอนด้านคอมพิวเตอร์กราฟิก โดยผู้สอนเป็นเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ที่ผ่านการอบรม
“จากการติดตามเบื้องต้นพบว่ามีผู้ต้องขังจำนวนมากที่นำความรู้ไปประกอบอาชีพ และก็มีส่วนหนึ่งที่ไม่อยากเผยเรื่องราวในอดีต จึงทำให้ยากต่อการติดตาม” นางพรทิพย์ กล่าว และบอกด้วยว่า นอกจากผู้ต้องขังที่พ้นโทษไปแล้วจะนำความรู้ไปประกอบอาชีพเอง ก็ยังมีบริษัทเอกชนที่ว่าจ้างผู้ต้องขังให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลลูกค้าทางโทรศัพท์ หรือ คอลเซ็นเตอร์ และปัจจุบันมีผู้ได้รับว่าจ้างตำแหน่งดังกล่าว 78 อัตรา
ช่วยเด็กป่วยเรียนทันเพื่อน
โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาล เป็นอีกโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่เปิดศูนย์สำหรับสอนหนังสือแก่เด็กป่วยทั่วประเทศทั้งหมด 29 ศูนย์ โดย น.ส.สรันยา ขำเจริญ ครูการศึกษาพิเศษ ประจำสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เป็นหนึ่งในครูที่สอนหนังสือให้แก่เด็กป่วยในโรงพยาบาลภายใต้โครงการดังกล่าว บอกว่า ครูที่สอนในโรงพยาบาลให้แก่เด็กป่วยนี้เป็นครูที่ผ่านการสอบคัดเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการโดยตรง
น.ส.สรันยา กล่าวว่า ภายใต้โครงการตามพระราชดำริเพื่อเด็กป่วยนี้ ครูต้องสอนหนังสือให้แก่ตั้งแต่แรกเกิดถึง 17 ปี ซึ่งแต่ละปีมีเด็กหมุนเวียนเข้ามาในโรงพยาบาลมากถึง 6,000 - 7,000 คน และเป็นเด็กที่ต้องอยู่ในห้องแยกเพื่อป้องกันการติดเชื้อเชื้อประมาณ 100 - 200 คน ดังนั้น ครูผู้สอนในโครงการนี้จึงต้องมีความรู้เรื่องโรคต่างๆ ของเด็กเพื่อดูแลตัวเองและไม่นำเชื้อโรคไปสู่เด็ก
“กิจกรรมการเรียนรู้เราสอนผ่านระบบการศึกษาทางไกล EDLTV ซึ่งเราได้รับฮาร์ดดิสก์ที่บรรจุเนื้อหาสำหรับสอนเด็กที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ เนื่องจากเด็กป่วยที่ไม่สามารถไปโรงเรียนจะเรียนไม่ทันเพื่อน ทำให้พัฒนาการช้า บางครั้งช้าไป 1 ปี หรือกลับไปเรียนชั้นเดิมไม่ได้ เราจึงต้องสอนและรับรองว่าเด็กสอบผ่านตามมาตรฐาน หรือบางรายก็นำการบ้านหรือข้อสอบให้เด็กมาทำที่โรงพยาบาล โดยเราทำหน้าที่สอน” น.ส.สรันยา อธิบายถึงภารกิจ
น.ส.สรันยา ซึ่งสอนเด็กป่วยมานาน 3 ปี เล่าอีกว่า การเป็นครูผู้ใกล้ชิดเด็กป่วย ทำให้ครูเป็นที่ไว้วางใจแก่เด็ก ในขณะที่แพทย์และพยาบาลไม่สามารถเข้าใกล้เด็กป่วยได้ เนื่องจากเด็กป่วยจดจำได้ว่าเป็นผู้ทำให้เจ็บตัว ครูจึงต้องทำหน้าที่ประสานรอยร้าว หรือเกลี่ยกล่อมให้เด็กเข้ารับการรักษา นอกจากนี้ ภายใต้โครงการยังเปิดโอกาสให้เด็กป่วยได้เข้าสู่การเรียนนอกระบบในกรณีที่เด็กป่วยเหล่านั้นหยุดเรียนเป็นเวลาจนต้องออกจากโรงเรียนด้วย
เสียงจากผู้พิการรุนแรง
ภายใต้โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อผู้พิการตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สุภวัฒน์ เสมอภาค ผู้ประสานงานโครงการภายในประเทศ ของโครงการคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จึงได้ใช้งานรถเข็นไฟฟ้าที่ควบคุมโดยศีรษะ ผลงานการพัฒนาของนักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สุภวัฒน์ ผู้ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายตั้งแต่ช่วงไหล่ลงไป สาธิตการใช้งานรถเข็นไฟฟ้าดังกล่าวแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ พร้อมอธิบายว่ารถเข็นมีการทำงาน 3 อย่าง คือ เดินหน้า ถอยหลัง และหยุด ซึ่งควบคุมได้ด้วยการใช้ปากเป่า และขยับซ้าย - ขวา หน้า - หลัง ด้วยการขยับศีรษะสัมผัสปุ่มในอุปกรณ์ที่ครอบศีรษะทางด้านหลัง แต่รถเข็นดังกล่าวยังมีข้อจำกัดที่สามารถใช้งานได้ภายในอาคารที่มีการออกแบบอย่างเป็นสากลเท่านั้น เขาจึงนำไปใช้งานภายในสำนักงานเท่านั้น
“เราสามารถควบคุมรถคันนี้ได้เอง สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้นและลดภาระดูแล แต่ก็อยากให้ตัวรถเบากว่านี้ และมีการทำงานอื่น เช่น ปรับยืนได้ เป็นต้น ซึ่งการยืนได้เป็นสิ่งจำเป็นในการฟื้นฟูกระดูก และกล้ามเนื้อของผู้พิการ สิ่งที่ผมอยากได้จากผู้พัฒนาอุปกรณ์ช่วยเหลือ คือ อุปกรณ์ที่ทำได้ทั้งฟื้นฟูผู้พิการและช่วยให้ผู้พิการใช้ชีวิตประจำวันได้ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดด้านการผลิตและราคาแพง อีกทั้งผู้พิการก็ไม่ทราบว่าจะใช้งานยังไง และบริษัทผู้พัฒนาก็ไม่ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องมือให้เข้าถึงผู้พิการ” สุภวัฒน์ กล่าว
สำหรับเทคโนโลยีและผลงานของผู้ด้อยโอกาสภายใต้โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพฯ นี้ จัดแสดงภายในงานสัมมนาและนิทรรศการ “60 พรรษา รัตนราชสุดา วิทยาปริทรรศน์” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 มี.ค.- 2 เม.ย. 58 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี
*******************************