xs
xsm
sm
md
lg

เด็กมัธยมเจ๋ง! พัฒนาอุปกรณ์ขยายพันธุ์ปะการังเขากวางรอดตาย 100%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปรียบเทียบความแตกต่าง เรือนแหวน 1 (ซ้าย) เรือนแหวน 2 (ขวา)
กระแสความเสื่อมโทรมและการฟอกขาวของปะการังยังคงมีมาให้คนไทยได้หดหู่อยู่เรื่อยๆ แต่สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้อาจทำให้ยิ้มออกได้บ้างจากไอเดียสุดเจ๋งของ 3 หนุ่มมัธยม ร.ร.พลูตาหลวงวิทยา ที่ได้คิดประดิษฐ์อุปกรณ์ขยายพันธุ์ปะการังเขากวางแบบย้ายปลูก ที่พิเศษกว่าอุปกรณ์ปลูกปะการังแบบไหนๆ เพราะสามารถปลูกได้ตั้งแต่ปะการังชิ้นเล็กเพียง 2 ซม. แถมการันตีอัตราการรอดเกือบ 100% คว้าที่ 1 เวทีวิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมระดับโรงเรียน สสวท. ปี ’58

ญาณวร ชื่นชม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนพลูตาหลวงวิทยาคม จ.ชลบุรี กล่าวว่า จุดกำเนิดของการวิจัยต่อยอดอุปกรณ์ปลูกปะการังชิ้นนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนเขาเรียนอยู่ชั้น ม.1 เมื่อครั้งไปดำน้ำศึกษาวิทยาศาสตร์ใต้ท้องทะเล และร่วมปลูกปะการังกับนักอนุรักษ์และเพื่อนๆ อีกหลายคน ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้ปลูกปะการังแบบเดิมนั้นเป็นเพียงท่อพีวีซีกับสกรู 2 ตัวที่จะยึดก้านปะการังให้ติดอยู่กับฐาน

วิธีดังกล่าวมีข้อเสียอยู่หลายประการ ตั้งแต่การเลือกใช้กิ่งพันธุ์สำหรับปลูกก็ต้องใช้กิ่งที่ความยาวประมาณ 1 คืบหรือ 10 เซนติเมตร ซึ่งกว่าจะเลี้ยงให้โตขนาดนั้นได้ต้องใช้เวลานาน อีกทั้งยังสิ้นเปลืองทรัพยากรด้วย เพราะปะการังส่วนที่ปักจมลงลงไปในท่อจะตาย เขาและเพื่อนจึงคิดประดิษฐ์อุปกรณ์สำหรับขยายพันธุ์ปะการังแบบใหม่ขึ้น

เกิดเป็นอุปกรณ์เรือนแหวน 1 ขึ้นเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา เป็นอุปกรณ์ที่ทำจากท่อพีวีซีมีก้าน 4 ก้านส่วนปลายอยู่ห่างกัน ที่บริเวณปลายมีเขี้ยวสำหรับยึดกับกิ่งปะการัง ซึ่งวิธีนี้ทำให้ปลูกปะการังท่อนสั้นๆ ได้ ตั้งแต่ 1 ซม. ตรงตามความต้องการแต่ก็ยังมีข้อบกพร่องบางอย่าง คือ การหลุดรอดของกิ่งเมื่อกระแสน้ำไหลแรงเพราะอุปกรณ์ชิ้นนี้มีช่องว่างทางส่วนโคนทำให้มีแรงบีบไม่เพียงพอ พวกเขาจึงนำปัญหานี้มาแก้ไขเกิดเป็นอุปกรณ์ขยายพันธุ์ปะการังที่มีชื่อว่า เรือนแหวน 2

“ความจริงเรือนแหวน 1 มันก็ดีแล้วครับแต่ยังดีไม่ถึงที่สุด เพราะยังมีกิ่งปะการังบางอันสามารถหลุดออกมาจากเขี้ยวจับได้ เนื่องจากแรงกดไม่เพียงพอ เรือนแหวน 2 ที่ทำขึ้นใหม่จึงต้องนูนกว่าเดิม และส่วนโคนของท่อพีวีซีจึงต้องชิดกันกว่าเดิมเพื่อให้กิ่งปะการังแน่นไม่หลุดไปไหน ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เราปลูกปะการังได้แบบคุ้มค่า ไม่ต้องกลัวหลุด ไม่ต้องกลัวว่าจะมีส่วนไหนตาย แล้วก็สามารถปลูกได้ตั้งแต่ปะการังท่อนสั้นๆ ซึ่งจะทำให้เราสามารถขยายพันธุ์ปะการังได้มากขึ้น โดยใช้เวลาอนุบาลกิ่งปะการังน้อยลง จากวิธีเดิมที่จะใช้กิ่งปะการังเสียบลงในท่อแล้วยึดด้วยสกรูต้องใช้กิ่งปะการังที่มีความยาวถึง 10 ซม. ให้เหลือแค่เพียง 2 ซม.เป็นต้นไปเท่านั้นสำหรับเรือนแหวน 2 เพราะเป็นความยาวที่เราพิสูจน์แล้วว่าเหมาะสมกับการขยายพันธุ์มากที่สุด” สิทธิพงษ์ ท่าพิมาย สมาชิกในทีมกล่าวเพิ่มเติมแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

เกียรติศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อออกแบบเสร็จพวกเขาก็จะใช้เวลาว่างในช่วงวันเสาร์อาทิตย์สำหรับการทดลองจริงร่วมกับสมาชิกจากมูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเลเพื่อการอนุรักษ์ ณ บริเวณเกาะแสมสาร จ.ชลบุรี เริ่มตั้งแต่การดำน้ำไปเก็บกิ่งปะการังอายุ 2 ปีจากแหล่งปลูกมาตัดให้เป็นท่อนๆ โดยเครื่องตัดไฟฟ้าให้มีขนาดความยาว 2 ซม.เท่าๆ กันแล้วประกอบเข้ากับเรือนแหวน 2 ก่อนที่จะนำไปยึดกับแผงขยายพันธุ์และนำลงสู่จุดปลูกอีกครั้งหนึ่ง โดยพวกเขาจะดำน้ำลงไปสำรวจอัตราการอยู่รอดและลักษณะทางกายภาพของปะการังทุกสัปดาห์พร้อมๆ กับการเก็บข้อมูลกายภาพในทะเลบางจุด อาทิ อุณหภูมิ ค่าความเค็ม ค่าความโปร่งใส ค่า pHของน้ำทะเล เพื่อดูคุณสมบัติของน้ำทะเลควบคู่ไปกับการประเมินสภาพของปะการัง

“ตั้งแต่ใช้เรือนแหวน 2 มา ปะการังเขากวางที่เราปลูกก็มีอัตราการรอดชีวิตสูงถึง 100 % สำหรับปะการังส่วนกลางและส่วนโคน และ 80% สำหรับปะการังส่วนยอด ซึ่งเราถือว่าพึงพอใจมากแล้วและก็ภูมิใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการทำประโยชน์ให้กับท้องทะเล เพราะนับวันธรรมชาติก็มีแต่จะเสื่อมโทรมมากยิ่งขึ้น ปะการังฟอกขาวที่เคยเกิดตามรอบก็เกิดเร็วขึ้นเพราะมีมนุษย์เป็นผู้เร่ง ผมในฐานะที่บ้านอยู่ทะเลใช้ชีวิตอยู่กับทะเล ได้ทำอะไรคืนให้กับทะเลบ้างแค่นี้ก็ดีใจ และยังคิดต่อไปด้วยว่าในอนาคตจะพัฒนาเรือนแหวนนี้ให้สามารถใช้กับการปลูกปะการังชนิดอื่นนอกจากปะการังเขากวางได้อีกด้วย” เกียรติศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

ทั้งนี้ผลงานวิจัยเรื่อง การพัฒนาอุปกรณ์เรือนแหวน 2 สำหรับการขยายพันธุ์ปะการังเขากวางแบบย้ายปลูก ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษา ในการนำเสนอผลงานและประชุมวิชาการด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม 2558 ที่จัดขึ้นโดย สสวท. อีกด้วย
(จากซ้ายไปขวา) เกียรติศักดิ์ พระโพธิ์,สิทธิพงษ์ ท่าพิมาย และญาณวร ชื่นชม นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนพลูตาหลวงวิทยา
เรือนแหวน 2 ถูกพัฒนาให้หนาขึ้นเพื่อให้จับยึดปะการังได้แน่น แม้จะมีขนาดเล็ก
เรือนแหวน 1 มี ช่องว่างที่ซี่ด้านข้างทำให้ปะการังหลุดง่าย
อ.สุนันท์ พุทธภูมิ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ






*******************************



กำลังโหลดความคิดเห็น