เพราะการเป็นที่ยอมรับในระดับโลกไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะนวัตกรรมจากประเทศที่ถูกจัดให้เป็นประเทศโลกที่ 3 อย่างประเทศไทย แล้วจะทำอย่างไรให้ผลิตภัณฑ์ขายได้ จะทำอย่างไรให้คนทั่วโลกยอมรับ และจะทำอย่างไรให้ผลิตภัณฑ์ที่มองไม่เห็นเช่น “จุลินทรีย์” กลายเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรม ถอดบทเรียนจากประสบการณ์ตรง ดร.วสันต์ อริยพุทธรัตน์ ผู้บริหาร “คีนน์” ผู้ผลิตสารชีวบำบัดภัณฑ์แบรนด์ไทยที่โด่งดังไกลระดับโลก
ดร.วสันต์ อริยพุทธรัตน์ ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการผู้บริหาร บริษัท คีนน์ จำกัด กล่าวว่าแนวโน้มของโลกตอนนี้กำลังเดินหน้าเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bioeconomy) จึงไม่แปลกที่หลายประเทศจะเริ่มหันมาให้ความสำคัญ กับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีชีวภาพในเชิงพาณิชย์ เกิดเป็นกระแสการรณรงค์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จนทำให้ผลิตภัณฑ์จากเทคโนยีชีวภาพ หรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมียอดขายที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดเป็นการแข่งขันเชิงธุรกิจอย่างดุเดือด จากบริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติเพื่อสิ่งแวดล้อมทั่วโลกเพื่อช่วงชิงพื้นที่การตลาดเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Market)
ดร.วสันต์ กล่าวต่อไปว่า บริษัท คีนน์ จำกัด ก็เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ จากการผลิตสินค้านวัตกรรมสีเขียว (Greenovative Product) ที่อยู่ในรูปผลิตภัณฑ์ชีวบำบัดภัณฑ์จากอินทรีย์สาร สำหรับการบำบัดของเสียก่อนคืนสู่ระบบการบำบัดรวม หรือปล่อยสู่ธรรมชาติที่ตอบโจทย์และครอบคลุมกลุ่มผู้ใช้ ทั้งอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมยานยนต์ โรงพยาบาล ร้านอาหาร ที่พักอาศัย มีบริษัทคู่ค้าและตัวแทนจำหน่ายกระจายอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ บราซิล ฟินแลนด์ ยุโรป รัสเซีย สวิสเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส กาน่า ซาอุดิอาระเบียฯ โดยมีผลประกอบการรวมเมื่อปีที่ผ่านมาอยู่ที่มูลค่า 200-300 ล้านบาทภายในเวลาหลังจากก่อตั้งบริษัทเพียง 4 ปี
“กว่าจะประสบความสำเร็จได้อย่างเช่นทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผลิตภัณฑ์ที่เราทำ ทำขึ้นจากสารอินทรีย์ ทำขึ้นจากจุลินทรีย์ที่มองไม่เห็น ซึ่งลำพังก็ขายยาก เข้าใจยากอยู่แล้ว และที่ยิ่งไปกว่านั้นคือเราเป็นบริษัทน้องใหม่ เป็นบริษัทของประเทศไทย ดำเนินการโดยคนไทย เป็นนวัตกรรมสีเขียวจากประเทศโลกที่ 3 ที่ไม่เคยมีใครรู้จัก การจะทำให้สินค้าจากที่เคยอยู่บนหิ้ง มาสู่ห้าง มาถึงมือคนทั่วทั้งโลกได้จึงต้องมีปัจจัยหลายๆ อย่างมาช่วย เพราะถ้าเราขายแค่ตัวผลิตภัณฑ์อย่างเดียวคงไม่มีวันจะเดินมาถึงจุดนี้ ซึ่งสิ่งแรกที่เป็นจุดเริ่มต้นของทั้งหมด คือความมุ่งมั่นอยากทำผลิตภัณฑ์จากแบคทีเรียเพื่อขจัดคราบน้ำมัน จึงไปติดต่อขอความร่วมมือ คุยแผนวิจัยและพัฒนากับทางไบโอเทค” ดร.วสันต์ ไล่เรียงถึงแผนการขับเคลื่อนธุรกิจ
ดร.ลิลี่ เอื้อวิไลจิตร รองผู้อำนวยการไบโอเทค กล่าวสมทบว่า ไบโอเทคทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการวิจัยและให้บริการด้านจุลินทรีย์และชีววัสดุของประเทศอยู่แล้ว เมื่อมีภาคเอกชนหรือผู้สนใจติดต่อเข้ามาก็ยินดีที่จะให้คำปรึกษาด้านการนำเชื้อจุลินทรีย์ไปใช้ทางธุรกิจ ซึ่งไบโอเทคและคีนน์ได้ร่วมงานกันมามากกว่า 5 ปี และคีนน์ถือเป็นกรณีบริษัทที่ประสบความสำเร็จ ในการนำงานวิจัยด้านการใช้ทรัพยากรจุลินทรีย์มาต่อยอด เพื่อเป็นสินค้านวัตกรรมสีเขียวที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ ส่วนหนึ่งมาจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่ให้ความสำคัญกับการวิจัยพัฒนา และการรู้ความต้องการของตลาดว่าขณะนี้ต้องการผลิตภัณฑ์อะไร ทำให้การวิจัยจุลินทรีย์เป็นแบบมุ่งเป้า และมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ทำออกมาจะขายได้อย่างแน่นอน
"ไบโอเทคเข้ามามีส่วนร่วมกับคีนน์ด้านการสนับสนุนคัดเลือกกลุ่มสายพันธุ์จุลินทรีย์ที่มีความสามารถพิเศษในการย่อยสลายน้ำมันปิโตรเลียมตั้งแต่เมื่อประมาณ 5-6 ปีก่อน ตั้งแต่ครั้งแรกที่ ดร.วสันต์ได้มาบอกกับเราว่าเขาอยากจะทำผลิตภัณฑ์ในเชิงนี้ จนเกิดเป็นการวิจัยและพัฒนาร่วมกันในการผลิตแบคทีเรียที่สามารถย่อยสลายน้ำมันปิโตรเลียมเพื่อใช้เป็นผลิตภัณฑ์ทางการค้า ก่อนที่นักวิจัยของคีนน์เองจะรับช่วงไปทำต่อ และต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์สูตรต่างๆ ซึ่งเป็นที่ความสำเร็จที่น่าภูมิใจและเป็นกรณีศึกษาที่ดีให้ประชาชนและผู้ประกอบการอื่นๆ ให้ได้ทราบว่าจุลินทรีย์สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางอุตสาหกรรมได้อย่างไร และมีมูลค่าต่อเศรษฐกิจของประเทศมากแค่ไหน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องช่วยกันคิดต่อไป ว่าทำอย่างไรอุตสาหกรรมจึงจะนำจุลินทรีย์ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ เพราะจุลินทรีย์มีประโยชน์ในประเทศของเรา ยังมีอีกมากที่รอภาคเอกชนนำไปใช้ประโยชน์” ดร.ลิลี่ กล่าว
นอกจากการสนับสนุนจากไบโอเทคในส่วนของผลิตภัณฑ์แล้ว คีนน์ยังได้รับการสนับสนุนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI (The Board of Investment of Thailand) ในการส่งเสริมการลงทุนอีกด้วย ซึ่ง ศิริพร บุรักษ์ ผู้อำนวยการระดับสูง BOI เผยว่า คีนน์ถือเป็นธุรกิจที่ตรงกับวัตถุประสงค์การลงทุนของ BOI และเป็นบริษัทที่มีศักยภาพ BOI จึงพร้อมที่จะแนะนำส่งเสริมช่องทางคู่ค้าทางธุรกิจในประเทศอย่างเต็มที่ เพื่อให้เป็นธุรกิจนวัตกรรมของไทย ที่จะเข้าไปครองตลาดทั่วโลก
เมื่อได้ผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพและมีเงินลงทุนที่พร้อมสรรพ สิ่งที่ ดร.วสันต์ทำต่อไปคือ การเดินหน้าทำการตลาด โดยเขาเองมองว่าส่วนสำคัญที่สุดที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์ขายได้ เริ่มต้นจากการสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการเดินสายประกวดผลงานทางด้านนวัตกรรมในประเทศต่างๆ อาทิ ได้รับรางวัลเหรียญทองจากงาน International Invention Innovation and Technology Exhibition 2012 ณ ประเทศมาเลเซีย, รางวัล Grand Prize in Asia ในงาน Asian Science Park Association (ASPA Award 2012) และรางวัลด้านนวัตกรรมจากเวทีอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ในประเทศเกาหลีใต้ สวิสเซอร์แลนด์ จีน ญี่ปุ่น
เพราะนวัตกรรมสีเขียวจากประเทศไทยเป็นสิ่งที่ใหม่มากสำหรับตลาดโลกและประเทศไทยไม่มีอำนาจพอที่จะทำให้คนทั้งโลกยอมรับ ซึ่งวิธีดังกล่าวทำให้ผลิตภัณฑ์ของคีนน์ได้รับการยอมรับจากนานาชาติและเป็นที่รู้จักจนเกิดเป็นความต้องการทางการตลาดของวงการตลาดอุตสาหกรรมในหลายๆ ประเทศ เพราะสามารถบำบัดของเสียในรูปแบบต่างๆ ได้โดยไม่มีผลกระทบก่อนจะปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ
“แต้มต่อที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้คีนน์เดินหน้าไปได้เร็วมาก คือ คีนน์ได้มีโอกาสเดินทางไปแสดงสินค้าในต่างประเทศกับ BOI ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาล ทำให้คู่ค้ามั่นใจว่า ผลิตภัณฑ์ที่ซื้อไปจะเป็นสินค้าดีมีคุณภาพเพราะเป็นสินค้าที่หน่วยงานของรัฐบาลไทยนำไปเสนอขายถึงที่ ซึ่งเรื่องนี้ผมคิดว่ากำลังจะกลายเป็นเรื่องจำเป็น และกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ผมเห็นว่าการดำเนินธุรกิจโดยอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ และเกี่ยวข้องเฉพาะฝ่ายจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้สินค้ามีเครดิตและขายได้โดยไม่ต้องเหนื่อยจนเกินไป สรุปแล้วคือผมให้ความสำคัญกับการตลาด ตามมาด้วยการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพราะถ้าไม่มีการตลาดต่อให้สินค้าดีแค่ไหนก็คงอยู่ได้แค่ในหิ้ง แต่ถ้าเรานำทั้งสองสิ่งนี้มาผูกเชื่อมกันประกอบกับความร่วมมือจากหน่วยงานที่มีศักยภาพเช่นที่เห็นนี้ ธุรกิจก็จะเดินหน้าไปได้อย่างแน่นอน” ผู้ก่อตั้งคีนน์ เผย
ท้ายสุด ดร.วสันต์ ได้กล่าวแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ด้วยว่า สำหรับแผนธุรกิจในอนาคตจะพยายามขยายการตลาด โดยการเพิ่มตัวแทนจำหน่ายไปในอีกหลายๆ ประเทศ โดยมีกลุ่มลูกค้าสำคัญในกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน อุตสาหกรรมทางทะเลเป็นหลัก โดยจะเจาะไปที่ประเทศอินเดียและยุโรปให้มากขึ้น และจะลงทุนจัดตั้งโรงงานในต่างประเทศ โดยตั้งเป้าผลประกอบการในอีก 5 ปีหน้าไว้อยู่ที่ 800-1,000 ล้านบาทต่อปี และจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ในอนาคตอันใกล้นี้
ทั้งนี้ เป็นการเปิดเผยบทเรียนของคีนน์ระหว่างการเสวนา "The Third World Innovation Which Sustain The Whole World นวัตกรรมไทยสู่ความยั่งยืนมหภาคระดับโลก ณ บริษัท คีนน์ จำกัด กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 20 มี.ค.2558
*******************************