ฟังอีกด้านจากมุมมองผู้คัดค้าน Acid fracturing ในพื้นที่ขุดเจาะสำรวจน้ำมัน ชี้เป็นการฆาตกรรมอำพรางประเทศด้วยความหายนะทางสิ่งแวดล้อม วอนทุกฝ่ายทบทวนและยับยั้งโครงการก่อนแผ่นดินเกษตรของชาติล่มจม แนะไทยควรมีนักวิจัยศึกษาอันตรายแอซิดแฟรกเจอริ่งก่อนสิ้นชาติ
“คนไทยรู้แค่ว่าการขุดเจาะปิโตรเลียมจะได้น้ำมัน ได้ก๊าซธรรมชาติ ดูเป็นอะไรที่มีประโยชน์เสียเหลือเกิน แต่พวกเขาไม่เคยรู้เลยว่ากว่าจะได้ปิโตรเลียมพวกนั้นมา พื้นแผ่นดินของเราต้องสูญเสียย่อยยับไปสักเท่าไร ต้องปนเปื้อนเคมีร้ายแรงไปมากน้อยแค่ไหน แล้วสิ่งแวดล้อมที่บริเวณนั้นๆ จะต้องเผชิญกับปัญหาอะไร” คำกล่าวหนึ่งจาก สมลักษณ์ หุตานุวัตร ขณะให้สัมภาษณ์กับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ในฐานะผู้ศึกษาและติดตามการขุดสำรวจก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยโดยเฉพาะพื้นที่นาดูน มูลสาด จ.ขอนแก่น และ จ.กาฬสินธุ์ ที่กำลังจะมีการดำเนินการฉีดอัดสารเคมีผสมน้ำลงพื้นดิน เพื่อเดินหน้าการขุดสำรวจก๊าซธรรมชาติในพื้นที่
สมลักษณ์ หุตานุวัตร อาสาสมัครอิสระเพื่อมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องออกมาต่อต้านการทำแอซิด แฟรกเจอริง (Acid fracturing) จากการกระบวนการขุดสำรวจน้ำมันในพื้นที่ภาคอีสาน เพราะการกระทำดังกล่าวเป็นวิธีการที่ตองใช้สารเคมีที่มีอันตรายร้ายแรง ซึ่งจะส่งผลกระทบระยะยาวต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่เกษตรกรรมที่ประชาชนต้องหาอยู่หากินกับผืนแผ่นดินโดยตรง
สำหรับการทำแอซิดแฟรกเจอริงเป็นเทคนิคการขุดเจาะที่พัฒนาจากแฟรกกิง (Fracking) ปกติ ที่ใช้การยิงหินให้เกิดรอยแยกในชั้นหินดินดาน แล้วอัดด้วยสารเคมีผสมน้ำจำนวนมากลงไปเพื่อกระตุ้นให้ปิโตรเลียมที่อยู่ในสถานะของก๊าซไหลขึ้นมาตามท่อ ส่วนการทำแอซิดแฟรกเจอริง เป็นการเพิ่มกระบวนการ ในการอัดสารเคมีที่เป็นกรดลงไปละลายหินปูนระหว่างชั้นความลึกที่ท่อเจาะผ่านเพื่อให้กรดทำปฏิกิริยาให้ปิโตรเลียมที่อยู่ในหินปูนไหลเข้าสู่ท่อ หรือการนำเอาปิโตรเลียมที่อาจจะอยู่ตื้นกว่าชั้นหินดินดานขึ้นมา ซึ่งเป็นเทคนิคที่อยู่นอกเหนือจากการขุดเจาะแบบปกติ (conventional) ที่ใช้ในชั้นหินที่เป็นแหล่งกักเก็บปิโตรเลียม
สำหรับประเทศไทย สมลักษณ์ระบุว่าการอัดสารเคมีผสมน้ำลงไปที่ชั้นหินแล้วดูดกลับขึ้นมา ยังไม่มีรายงานที่ชัดเจนว่า สารเคมีที่ตกค้างในชั้นดินและหินที่อยู่ในโครงสร้างธรณีวิทยาแหล่งดงมูลแห่งนี้ จะสามารถดูดกลับขึ้นมานยังบ่อพักได้มากเท่าไร ในรายงานศึกษาการปนเปื้อนสารเคมีในแหล่งน้ำจาการทำแฟร็กกิ้ง ของหน่วยงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (Environmental Protection Agency--EPA) กล่าว่าการทำแฟร็กกิ้งในสหรัฐอเมริกา สามารถดูดสารเคมีกลับขึ้นมได้เพียง 10-70% เท่านั้น ส่วนที่หายไปคือสารเคมีที่ฝังอยู่ในแผ่นดิน ซึ่งมีโอกาสปนเปื้อนในแหล่งน้ำได้ โดยเธอระบุว่ากระบวนการดังกล่าวได้สร้างความเสียหายให้กับหลายๆ พื้นที่ในต่างประเทศจนเกิดการประท้วงและออกกฎหมายห้ามทำแฟรกกิงในหลายประเทศรวมถึงสหรัฐฯ
“ในขณะที่คนไทยแทบไม่มีใครรู้ถึงความร้ายกาจและผลเสียที่จะตามมาจากการดำเนินการนี้เลย นอกจากคำพูดฝังหัวว่า ประเทศไทยจะมีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น คนไทยจำเป็นต้องออกมาเรียกร้องและต่อต้านการขุดเจาะปิโตรเลียมด้วยเทคนิคที่ต้องใช้สารเคมีดังกล่าว เพาะถือเป็นภัยคุกคามจากบริษัทนายทุนสหรัฐฯ ต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยโดยตรง ทั้งบริษัทผู้รับเหมาที่ขุดเจาะที่เข้ามาดำเนินการในไทย ก็เป็นบริษัทจากสหรัฐฯ ซึ่งขณะที่ในประเทศของเขาเองกำลังมีกฎหมายห้ามทำแฟร็กกิ้งโดยเด็ดขาดในหลายเมืองที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อน จากบทเรียนของความเสียหายในพื้นที่ของสหรัฐฯ และการทำวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ออกมาถึงผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม แล้วการที่เขาจะเข้ามาดำเนินการเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในประเทศของเราด้วยวิธีเดียวกันกับที่เคยสร้างความหายนะในแผ่นดินบ้านเขามาแล้ว มันคืออะไร แล้วที่แย่ยิ่งกว่าคือคนไทยที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติโครงการนี้เยอมที่ จะให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในบ้านเราได้อย่างไร เป็นการนำหายนะมาสู่ประเทศชัดๆ” สมลักษณ์ กล่าว
สมลักษณ์ เผยว่านอกจากความเสียหายของผืนแผ่นดินบริเวณที่ทำแฟรกกิงและบริเวณโดยรอบ จะทำให้พื้นที่เกษตรกรรมเสียหายเป็นวงกว้าง จนไม่สามารถเพาะปลูกอะไรได้อีกต่อไปแล้ว ยังจะส่งผลต่อสุขภาพของคนในพื้นที่ด้วย เพราะการขุดเจาะลงไปในชั้นหินดินดานของแผ่นดินอีสานคือการทำให้เกิดการรั่วซึมของก๊าซมีเทนนอกท่อขึ้นสู่ผิวดิน ดังเช่นที่เกิดขึ้นในเพนซิลวาเนีย โคโรราโด เท็กซัส เนื่องจากแผ่นดินอีสานเป็นทะเลมาก่อน ใต้ชั้นหินจึงมีก๊าซมีเทนอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งมีเทนเป็นก๊าซที่ไม่มีสีไม่มีกลิ่นและมีสารก่อมะเร็งการสูดเข้าไปนานๆโดยไม่รู้ตัว อาจทำให้คนในพื้นที่ได้รับอันตราย และไม่สามารถอยู่ในพื้นที่ได้ในที่สุด การทำแอซิดแฟรกกิงและเอซิดแฟรกเจอริงจึงเป็นหายนะต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตของคนในพื้นที่อย่างยากที่จะแก้ไขได้
สมลักษณ์ไล่เรียงต่อไปว่าบทเรียนราคาแพงที่ทำให้สหรัฐฯ ต้องออกกฎหมายควบคุมการทำแฟรกกิ้ง เป็นผลมาจากความเสียหายของหลากหลายบริเวณ ที่เกิดจากการขุดเจาะปิโตรเลียมในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา และความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทำแฟรกกิ้งเกิดขึ้นอย่างหนักหน่วงในช่วง 10 ปีให้หลัง จนชาวอเมริกันในหลายพื้นที่เพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรไม่ได้อีกต่อไป และเกิดการประท้วงหลากหลายรูปแบบจนเกิดเป็นกฏหมายของเมืองต่างๆห้ามการทำแฟรกกิงในที่สุด
นอกจากนี้สมลักษณ์ระบุว่า ยังมีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเบิร์กลีย์ (University of California, Berkeley) แสดงความเป็นไปได้ในการปนเปื้อนสารพิษในแหลง่น้ำไว้กว่า 6 ทาง ซึ่งผลงานต่อเนื่องที่ตีพิมพ์เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันภัยร้าย และโอกาสการปนเปื้อนของสารเคมีลงสู่แหล่งน้ำ การทำรายงานข่าวของสื่อมวลชน หรือในซีรีส์ดังเรื่อง CSI มีตอนที่กล่าวถึงผลกระทบของการทำแอซิดแฟรกเจอริง ในขณะที่คนไทยหรือนักวิจัยไทยไม่เคยมีใครศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง และไม่รู้ว่าอธิบดีหรือรัฐมนตรีรู้เรื่องเหล่านี้หรือไม่ เธอจึงได้ดำเนินการเสนอให้มีห้ามการทำแฟรกกิงไปในร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่ 10 ของมาตรการพลังงานไปยังสภาแล้วเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
“สิ่งที่อยากเห็นมากๆ ตอนนี้คือนักวิชาการที่จะเข้ามาศึกษาทำความเข้าใจกับแฟรกกิงและแอซิดแฟรกเจอริงโดยตรง เพราะพูดจริงๆ คือตอนนี้ในประเทศไทยไม่มีใครสนใจหรือศึกษาเรื่องนี้มาก่อนเลย ซึ่งมันทำให้คนไทยไม่ทันพวกนายทุนต่างชาติ ไม่ทันข้ารับใช้ต่างชาติที่เห็นแก่เงินมากกว่าผลประโยชน์ของคนไทยโดยเฉพาะคนชนบทที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศที่พวกเขากำลังจะได้รับความเดือดร้อน ซึ่งการที่ไม่มีนักวิชาการ ทำให้สื่อมวลชนไม่มีข้อมูลหรือนำเสนอได้ไม่รอบด้าน ฉะนั้นการทำให้เกิดนักวิชาการที่ศึกษาทางด้านนี้เพื่อออกมายืนหยัดคู่ประชาชนจึงเป็นเรื่องสำคัญ” สมลักษณ์กล่าว
นอกจากนี้สมลักษณ์ยังฝากทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ทวงถามไปยังถามไปยังองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้ว่าราชการจังหวัด อธิบดีกรมเชื้อเพลิงฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รวมไปถึงนายกรัฐมนตรี และทุกๆ คนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วยว่า พวกเขารู้หรือไม่ว่าการอนุญาตให้ทำแอซิดแฟรกกิงและเอซิดแฟรกเจอริงจะทำให้การเกษตรที่ถือเป็นอาชีพหลักของชาติเดินหน้าต่อไปไม่ได้ รู้หรือไม่ว่าประชาชนต้องรับสารพิษ รู้หรือไม่ว่าน้ำบาดาลที่ประชาชนต้องใช้ดื่มกินอยู่ห่างจากแท่นขุดเจาะเท่าไร มีความลึกเพียงไหน แล้วน้ำบาดาลของชาวบ้านจะปนเปื้อนจากสารพิษหรือไม่ ถ้าไม่รู้จะได้ส่งคนไปศึกษาให้รู้แล้วค่อยมาวางแผนกันใหม่ว่าควรทำอย่างไร
“แต่ถ้ารู้ก็ต้องถามใหม่ว่าทำไมถึงอนุญาตให้ทำ เพราะแฟรกกิงและแอซิดแฟรกเจอริงในกระบวนการขุดเจาะน้ำมันเป็นฆาตกรต่อสิ่งแวดล้อมและอนาคตของคนในพื้นที่ ผ่านการใช้อำนาจจากเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ยอมเป็นข้าต่างชาติ ผ่านคำกล่าวที่สวยหรูว่า “ทำไปเพื่อปากท้องของประชาชน” ทั้งที่เห็นแก่ผลประโยชน์ของเงินที่จะเข้ากระเป๋าตัวเองมากกว่าความเป็นอยู่ ของคนไทยด้วยกันโดยเฉพาะคนในชนบทที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ทั้งๆ ที่การผลิตปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติในประเทศอยู่ในอัตราที่สูงเกินความต้องการของประชาชน แต่ไม่พอสำหรับปิโตรเคมีและการส่งออก แล้วจะเป็นไปได้หรือไม่ถ้าลดกำลังการส่งออกเม็ดพลาสติกลง เพื่อแลกกับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่จะไม่แย่ลงจากการขุดสำรวจปิโตรเลียมที่ จำเป็นต้องมี” สมลักษณ์ตั้งคำถาม
สมลักษณ์กล่าวถึงความในใจว่า เธอไม่ทราบเช่นกันว่าบทสรุปสุดท้ายจะเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่เธอหวังและอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงนับจากนี้ไปคือ การที่ประชาชนหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องใกล้ตัวที่เป็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเพื่อนร่วมชาติมากว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่มีคนไม่กี่คนที่ร่ำรวย และน่าจะมีการผลักดันให้เกิดนักวิจัยใหม่ๆ ที่จะเข้ามาศึกษาผลกระทบของแฟกกิงและแอซิดแฟรกเจอริงโดยเฉพาะ เพื่อให้นักวิชาการที่ดีออกมายืนหยัดข้างความถูกต้องเคียงข้างประชาชน และอยากเห็นคนที่จะกล้าออกมารับผิดชอบกับผลกระทบทั้งดีและร้ายที่จะเกิดตาม มาจากการอัดสารเคมีลงในผืนแผ่นดินจำนวนมหาศาลที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ พร้อมกับคนรุ่นใหม่ที่จะออกมายืนหยัดกับเธอเพื่อคัดค้านการทำแฟร็กกิ้งและแอซิดแฟรกเจอริงที่เป็นดั่งฆาตกรร้ายที่กำลังกล้ำกลายประเทศ
นอกจากนี้สมลักษณ์ยังอยากให้ข้าราชการ และผู้บริหารเคารพหลักเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแนวปฏิบัติด้วย เพราะมีความเห็นว่าถ้ายังเดินหน้าด้านวัตถุนิยมอย่างเดียว โดยไม่เหลียวหลังมองถึงประชาชนตาดำๆ และผลกระทบที่จะเกิดตามมาในระยะยาวเช่นนี้ อีกไม่นาน ประเทศไทยคงถึงวันสิ้นความอุดมสมบูรณ์ของผืนดินหากทุ่งนาและท้องทะเลไม่สามารถผลิตอาหารที่สะอาดได้อีกต่อไป
“ฉันจะย้ำคำเดิมไปจนกว่าโครงการจะถูกระงับ หรือได้คำตอบจากปากอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานว่า ในเมื่อเรามีหลักฐานว่า การทำแฟรกกิงและแอซิดแฟรกเจอริงมันเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และแหล่งเกษตรกรรม และมีกฎหมายบังคับชัดเจนไม่ให้ทำในหลายเมืองของสหรัฐฯ แล้วเหตุใดบริษัทจากสหรัฐฯ ถึงได้รับอนุญาตให้เข้ามาดำเนินการในแผ่นดินไทย แล้วอยากจะทวงถามไปยังขคู่กรณีที่เข้ามาตักตวงผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติบนผืนแผ่นดินไทยคือบริษัทต่างชาติ คนไทยที่อ้างว่ากระทำไปโดยกฎหมาย ยังมีจิตสำนึกอยู่หรือไม่ที่ยอมก้มหัวให้เงินจากต่างประเทศชาติในขณะที่ชาวบ้านคนชาติเดียวกันต้องเสียประโยชน์ แผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่รู้ว่าพัฒนาได้จริงหรือเปล่า ตั้งแต่แผนที่ 1 จนถึง แผนที่ 11 กำลังสร้างหายนะให้กับคนในชนบทที่ถือเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ทำให้พวกเขาต้องสูญเสียสิ่งแวดล้อมไปมากกว่าตอนก่อนหน้าที่จะมีแผน พวกที่เป็นข้ารับใช้ให้กับต่างชาติจึงควรปรับปรุงจิตสำนึก ประชาชนควรตื่นรู้ นักวิชาการควรออกมาต่อสู้ สื่อมวลชนต้องมีจุดยืนแผ่ขยายความเลวร้ายที่กำลังจะเกิดขึ้นครั้งใหญ่บนผืนดินไทย ก่อนที่เราจะสิ้นชาติ” กล่าวทิ้งท้ายถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนผ่านทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
****
หมายเหตุ
รายละเอียดการเสนอให้มีห้ามการทำแฟรกกิงไปในร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่ 10 ของมาตรการพลังงานไปยังสภา โดย สมลักษณ์ หุตานุวัตร
“มาตรา 1 ....(2) “ปรับปรุงให้มีการสำรวจ การผลิต และการใช้ปิโตรเลียม หรือพลังงานอื่นใด ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งวิถีชีวิตและสุขภาพของประชาชนและชุมชน”
ขอให้เพิ่มเติมถ้อยคำใน มาตรา 1 (2) ดังนี้
ส่วนที่10 การปฏิรูปพลังงานมาตรา 1 ....(2) “ปรับปรุงให้มีการสำรวจ การผลิต และการใช้ปิโตรเลียม หรือพลังงานอื่นใด ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งวิถีชีวิตและสุขภาพของประชาชนและชุมชน”
“ปรับปรุงให้มีการสำรวจ การผลิต และการใช้ปิโตรเลียม หรือพลังงานอื่นใด ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งวิถีชีวิตและสุขภาพของประชาชนและชุมชน การสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียมโดยใช้เทคนิคการสร้างรอยแยกในชั้นหินและชั้นหินดินดาน และใช้สารเคมีอัดลงในรอยแยกเพื่อกระตุ้นให้ปิโตรเลียมไหลขึ้นมา (Fracking, Acid Fractring, Fracture, Hydraulic fracturing) จะกระทำมิได้”
เหตุผลที่ต้องเพิ่มเติมถ้อยคำ ในมาตรา 1 (2) คือ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ในกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวชัดว่ามีการทำ Fracking, Acid Fractring, Fracture, Hydraulic fracturing ในประเทศไทยแล้ว และกำลังเริ่มทำเพิ่มที่จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ พิษณุโลก และทำสำเร็จแล้วที่จังหวัดสงขลา
ผลจากการทำ Fracking, Acid Fractring, Fracture, Hydraulic fracturing ในพื้นที่บนบกที่กาฬสินธุ์ อุดรธานี เกิดผลกระทบจนประชาชนได้รับความเดือดร้อนทั้งสุขภาพ การเกษตรและสิ่งแวดล้อในประเทศอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และ คานาดา โดยเฉพาะในอเมริกาซึ่งมีการทำ Fracking, Acid Fractring, Fracture, Hydraulic fracturing อย่างกว้างขวางในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ปรากฎว่าเกิดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง จนประเทศเหล่านี้ต้องออกกฎหมายห้าม Fracking, Acid Fractring, Fracture, Hydraulic fracturing ไปแล้ว
ประเทศไทยไม่มีกฎหมายห้ามการทำ Fracking, Acid Fractring, Fracture, Hydraulic fracturing และไม่มีมาตรการจัดการกับสารเคมี และผลกระทบที่จะตามมาในอีก 10 ปีข้างหน้าจากการทำ Fracking, Acid Fractring, Fracture, Hydraulic fracturing ที่ดินของประเทศไทยเป็นแหล่งอาหาร และสัดส่วนประชากรต่อที่ดินมีจำกัด การทำ Fracking, Acid Fractring, Fracture, Hydraulic fracturing เสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสารเคมี ทั้งสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการและสารเคมีที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้ไทยสูญเสียแหล่งอาหารของประเทศไปอย่างไม่สามารถฟื้นคืนได้
อ่านแผนคัดค้านการทำแอซิดแฟรกเจอริ่ง คลิก >>
ความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ส่วนที่ 10 มาตรการพลังงาน
*******************************