คลี่ข้อสงสัยสารพิษ Acid Fracturing ใช้ฆาตกรรมอำพราง-สลายกระดูกมีจริงหรือไม่ หลังมีกระแสหวั่นวิตกการขนสารเคมีปริมาณมากลงพื้นที่ขุดเจาะน้ำมันในภาคอีสาน แท้จริงแล้วสารเคมีดังกล่าวคืออะไร แล้วส่งผลเสียอย่างที่หวาดกลัวกันหรือไม่?
ทีมข่าววิทยาศาสตร์ได้รับแจ้งว่า มีข้อความเผยแพร่ทางเฟซบุ๊กระบุถึง การลำเลียงสารเคมีสำหรับทำกระบวนการ "แอซิดแฟรกเจอริง" (Acid Fracturing) ปริมาณมากสู่ อ.นาดูน และ อ.มูลสาด จ.ขอนแก่น และ จ.กาฬสินธุ์ แล้วระบุอีกว่าสารเคมีดังกล่าวมีอานุภาพละลายกระดูก และใช้ในการฆาตกรรมอำพราง
จากการตรวจสอบเบื้องต้นทีมข่าววิทยาศาสตร์พบว่า เป็นข้อความจากผู้ต่อต้านการขุดสำรวจก๊าซธรรมชาติในบางพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และหวั่นวิตกว่าสารเคมีเหล่านั้นจะส่งผลกระทบต่อชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าวและสร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร
ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้ขอสอบถามเพิ่มเติมจากนักเคมีในหลายสถาบันการศึกษา ว่าสารเคมีในกระบวนการแอซิดแฟรกเจอริงนั้นมีฤทธิ์ละลายกระดูกและใช้ในการฆาตกรรมอำพรางจริงหรือไม่
ทางด้าน ดร.รัตติกาล จันทิวาสน์ อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่ายังไม่สามารถบอกได้ว่าสารนั้นจะมีพิษน้อยหรือมากแค่ไหน เนื่องจากไม่ทราบว่าสารเคมีในการลำเลียงนั้นบรรจุสารเคมีชนิดใด
"สารเคมีที่ใช้สำหรับการฆ่ากรรมอำพรางมีจริง เช่น การใช้สำหรับย่อยกระดูก ดังนั้น ถ้าจะบอกว่าสารเคมีที่ถูกนำเข้ามาในพื้นที่สำหรับการขุดเจาะเป็นชนิดเดียวกับที่ใช้ในสารเคมีฆาตกรรมอำพราง ก็ต้องเป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์กัดกร่อนมาก และต้องมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน" ดร.รัตติกาลกล่าว
สำหรับสารเคมีที่ทำให้กระดูกสลายที่ใช้ได้สำหรับการอำพรางคดีฆาตกรรม ดร.รัตติกาล ระบุว่า ต้องเป็นกลุ่มกรดแก่ หรือเบสแก่ที่มีความเข้มข้นสูงๆ เท่านั้น และต้องทำปฏิกิริยากับชิ้นกระดูกโดยตรงภายใต้ความดันและอุณหภูมิสูงๆ เพราะส่วนประกอบของกระดูกเป็นแคลเซียมมากถึง 65% แต่หากกรดแก่หรือเบสแก่ผ่านการเจือจางในน้ำ หรือมีการฟุ้งกระจายในอากาศก็จะมีฤทธิ์ลดลง ทว่าก็ยังทำให้สิ่งมีชีวิตได้รับอันตรายได้หากได้รับสารเคมีจำพวกนี้เป็นเวลานานๆ
"นี่เป็นแค่เพียงการวิเคราะห์จากหลักวิชาการเท่านั้น เพราะดิฉันยังไม่เคยเจอกรณีศึกษาการใช้สารเคมีเพื่อการฆาตกรรมอำพรางโดยตรง และที่สำคัญคือการจัดซื้อสารเคมีอันตรายไม่ใช่สิ่งที่ทำได้โดยง่าย ทุกๆ ประเทศรวมถึงประเทศไทยจึงต้องมีมาตรการควบคุมสารเคมีอันตรายโดยเฉพาะอยู่แล้ว และผู้ที่จะนำไปใช้ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการกำจัดสารเคมีอันตรายด้วย จึงไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนกจนเกินไป" อาจารย์เคมีมหิดลกล่าว
ส่วน ผศ.ดร.วินิตา บุญโยดม อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวในทำนองเดียวกันว่า สารเคมีทั่วไปมีอันตรายอยู่แล้ว ต่างกันแค่ว่าจะส่งผลกระทบเฉียบพลัน หรือส่งผลกระทบในระยะยาว ซึ่งปัญหาหลักที่ทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารเคมีมักเกิดจากการกำจัดทิ้งที่ไม่ถูกต้องตามหลัก ทั้งการนำไปฝังกลบ หรือการเททิ้งลงในท่อระบายน้ำ ซึ่งสารเคมีเหล่านี้จะกลับคืนไปที่ธรรมชาติและส่งผลเสียต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำและย้อนกลับมาหามนุษย์ในที่สุด
"จากภาพรถบรรทุกสารเคมีที่เห็นก็ไม่สามารถระบุได้ว่ารถเหล่านั้นบรรทุกสารเคมีชนิดใด และกำลังจะนำไปทำอะไร แต่ถ้าหากจะถูกนำไปใช้กับการขุดสำรวจจริง คิดว่าทางบริษัทน่าจะมีวิธีควบคุมและจัดการสารเคมีที่ดีเพราะเป็นข้อบังคับที่กลุ่มผู้ใช้สารเคมีทั่วโลกจำเป็นต้องปฏิบัติ เพราะถ้ามีการกำจัดที่ไม่ถูกต้องหรือมีการรั่วไหลก็เป็นที่แน่นอนว่ามนุษย์และสิ่งแวดล้อมในบริเวณนั้นจะต้องได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้" ผศ.ดร.วินิตากล่าว
ผศ.ดร.วินิตา ระบุว่ามนุษย์จะรับสารเคมีเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง คือ การกิน การหายใจ และการสัมผัสทางผิวหนัง การกินถือเป็นการรับสารเคมีที่อันตรายที่สุดเพราะเป็นการรับสารเข้าสู่ร่างกายโดยตรงทั้งในรูปของแข็งและของเหลว ในขณะที่การสูดดมแก๊สพิษก็มีอันตรายต่อเนื้อเยื่อโพรงจมูก และระบบหายใจมากเช่นกัน แต่สารเคมีทั้งหมดจะส่งผลกระทบอันตรายมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่สัมผัสกับและความเข้มข้นในขณะนั้น ที่อาจส่งผลให้ผู้สัมผัสมีอาการตั้งแต่ระคายเคืองเพียงเล็กน้อย หน้ามืดเป็นลม เป็นมะเร็ง จนถึงขั้นเสียชีวิต
ส่วนสารเคมีที่ ผศ.ดร.วินิตา ให้ความเห็นว่าน่าจะใช้ในคดีฆาตกรรมอำพรางได้ คือ พวกตัวทำละลายอินทรีย์ที่มีค่าความเป็นกรดกรดและเบสสูงที่มีค่า pH อยู่ที่ประมาณ 1 ถึง 2 และ 13 ถึง 14 เพราะมีฤทธิ์กัดกร่อนที่น่าจะทำให้กระดูก รวมถึงหิน แร่ต่างๆ ซึ่งมีความแข็งมากๆ แตกสลายและยังมีผลต่อการสูดดมและติดไฟได้ด้วย เช่น เบนซีน ไซลีน สไตลีน ในกลุ่มอะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน, เฮกเซน อะคริโลไนไตรด์ คลอโรฟอร์ม ในกลุ่มอะลิฟาติก ไฮโดรคาร์บอน, กลุ่มอะลิไซคลิก และไอโซโพรพิล
“สารเคมียังไงก็อันตรายค่ะ เพียงแต่จะอันตรายมากหรือน้อยก็เท่านั้น ถ้าพูดถึงสารเคมีที่ใช้กับการฆาตกรรมอำพรางนี่คิดว่ามีอยู่จริงนะคะ โดยเฉพาะสารเคมีที่ได้รับจากการสูดดมเพราะก๊าซบางชนิดก็มีผล มีพิษกับลมหายใจ อาจทำให้สลบได้หากดมเข้าไปเช่นพวก อีเทอร์ อะซิโตน คลอโรฟอร์ม ไดคลอโรมีเทน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าดมนิดเดียวแล้วจะตายเลยนะคะ มันอยู่กับความเข้มข้นและระยะเวลาด้วย ซึ่งส่วนมากก๊าซอันตรายเหล่านี้เขาจะมีการผสมกลิ่นมาให้เราทราบอยู่แล้ว ถ้ากลิ่นไม่บริสุทธิ์หรือได้กลิ่นอะไรที่แปลกไปก็ให้รีบไปในที่อากาศโปร่ง น่าจะพอช่วยได้ ” ผศ.ดร.วิทิตา กล่าวแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
ในส่วนของ ดร.ฟ้าลั่น ศรีสุริยชัย อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า การใช้สารเคมีเพื่อขยายรอยแยกในชั้นดิน ชั้นหิน เป็นวิธีปกติของการขุดเจาะน้ำมัน ซึ่งเรียกว่า แอซิดแฟรกเจอริง แต่เธอไม่ทราบแน่ชัดว่าสารเคมีที่ใช้ในพื้นที่ข้างต้นเป็นสารเคมีตัวใดและคิดว่าการจะนำสารเคมีปริมาณมากเข้าสู่พื้นที่ได้นั้น บริษัทที่นำเข้าจะต้องมีการติดต่อประสานงานกับเจ้าของพื้นที่ให้ได้รับการยินยอมเสียก่อน การออกมาคัดค้านของนักอนุรักษ์และชาวบ้านในพื้นที่ครั้งนี้ จึงน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการประชาสัมพันธ์และการทำประชาพิจารณ์ที่ไม่ชัดเจนจนทำให้คนในพื้นที่ไม่ทราบข้อเท็จจริงอย่างเรื่องสารเคมีที่พวกเขาควรรู้
"ธรรมชาติของการขุดเจาะน้ำมัน จะต้องมีแท่นขุดเจาะ เจาะเข้าไปในหลุมผลิตที่เราคาดว่าจะมีน้ำมัน ซึ่งการขุดเจาะนั้นนอกจากหัวเจาะแล้ว อุณหภูมิและความดันจะต้องได้ที่ด้วย มิเช่นนั้นจะเกิดตะกรันที่เป็นพวกแคลเซียมคาร์บอเนตที่จะทำให้การผลิตยากมากยิ่งขึ้น ดังนั้นเพื่อเป็นการขจัดตะกรันและเป็นการเปิดช่องว่างในชั้นหินการใช้สารเคมีที่จำเพาะกับชนิดของหินจึงเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นเรื่องปกติของการสำรวจ ซึ่งแต่ละบริษัทที่รับผิดชอบก็จะมีวิธีการกำจัดสารเคมีตามระบบการจัดการสภาพแวดล้อมตามที่ระบุไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ตั้งแต่แรก" ดร.ฟ้าลั่นอธิบาย
“เรื่องสารเคมีนี่ผมขอแจ้งก่อนเลยว่าเป็นเรื่องปกติมากของการขุดเจาะ เราทราบดีว่ามันคือกรดแก่ที่มีอันตราย โดยปกติเราจะอัดลงไปพร้อมๆ กับแท่นขุดเจาะเพื่อให้หินแยกออกได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งปกติเราจะใช้วิธี Throw back หรือการปล่อยให้กรดไหลย้อนกลับมา แล้วจึงนำไปกำจัดในหลุมเฉพาะที่เรียกว่าหลุมน้ำ แต่ในประเทศไทยใช้วิธีนี้ไม่ได้ เรามีข้อกำหนดชัดเจนที่จะไม่ให้สารเคมีใดๆ โดยเฉพาะที่เป็นอันตรายมากๆ ปนเปื้อนหรือซึมเข้าสู่ดิน เราถึงต้องมีบริษัทกำจัดของเสียทางเคมีขึ้นมาต่างหาก แต่ถึงจะใช้วิธีแรกได้ก็ใช่ว่าสารเคมีจะทะลุออกไปยังดินได้ เพราะการใช้สารเคมีอยู่ในระบบปิดคือกรดจะอยู่ในแท่นขุดเจาะทั้งหมด แล้วก็ไม่ต้องกลัวว่าสารเคมีเหล่านั้นจะเล็ดลอดออกไปเพราะบริษัทที่รับผิดชอบเขาก็ต้องดูแล เพราะถ้าเกิดเหตุสารเคมีรั่วไหล บริษัททั้งบริษัทก็อาจล้มได้เลยทีเดียว” ดร.ฟ้าลั่น เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
นอกจากนี้ ดร.ฟ้าลั่นยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า สารเคมีภายในรถน่าจะเป็นกรดไฮโดรคลอริก (HCL) เพราะเป็นกรด 1 ใน 2 ชนิดที่นิยมใช้กับการทำแอซิดแฟรกเจอรริง เพราะเป็นกรดที่มีความจำเพาะกับหินปูนที่เป็นหินคาร์บอเนต ซึ่งเป็นหินส่วนใหญ่ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ และ จ.ขอนแก่น ในขณะที่กรดอีกชนิดหนึ่งคือ ไฮโดรฟลูออริก (HF) มักจะถูกใช้กับพวกหินทราย อย่างไรก็ดี กรดทั้ง 2 ชนิดจะไม่ได้ถูกนำมาใช้โดยตรงแต่จะถูกใช้ในรูปของของผสม สำหรับไฮโดรคลอริกจะใช้ประมาณ 12-15% ส่วนไฮโดรฟลูออริกจะใช้เพียงแค่ 3 % เท่านั้นเพราะมีความเป็นกรดสูงมาก
"กรดเหล่านี้มักจะถูกคำนวณให้ทำปฏิกริยาพอดีกับแคลเซียมคาร์บอเนตหรือหิน เพื่อให้เกิดการสะเทินเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณที่พอดี เพื่อให้ง่ายต่อการกำจัดและเป็นการประหยัดงบประมาณ" ดร.ฟ้าลั่น ให้ข้อมูลแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
*******************************