ใครจะคิดว่าวัชพืชต้นเล็กๆ ที่ขึ้นแซมปกคลุมพื้นดินในสวนยาง คือตัวการชั้นดีที่ทำให้ยางพารามีเปอร์เซ็นน้ำยางเพิ่มขึ้น แต่วันนี้เด็กๆ มัธยมจากโรงเรียนพัทลุงได้พิสูจน์แล้วว่าคือเรื่องจริงจากงานวิจัยโลกทั้งระบบของพวกเธอ ที่อาจทำให้ชาวสวนยางทั่วประเทศไทยเปลี่ยนทัศนคติกับเหล่าหญ้ากอเล็กกอน้อยในสวนยางไปตลอดกาล
“คนพัทลุงชอบถางหญ้าในสวนยางให้โล่งเตียนค่ะ ทำแบบนี้มานานแล้ว ก็ดูสะอาดตาดี แต่ต้องใช้งบประมาณ ถ้าเป็นช่วงยางราคาดีๆ ก็คงโอเคนะคะ แต่ช่วงนี้คงไม่ไหวเพราะราคายางตกต่ำมากเหลือแค่กิโลกรัมละ 30 บาท หนูเลยลองมาคิดมุมกลับดูว่า แล้วถ้าเราไม่ตัดหญ้าแล้วปล่อยให้มันคลุมดันไปเลยล่ะจะเป็นยังไง จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงต่อยางหรือดินไหม จึงเกิดเป็นงานวิจัยนี้ขึ้นค่ะ” ภัสสรเนตร พงศ์ไพบูรณ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนพัทลุง จ.พัทลุง กล่าวถึงงานวิจัยของเธอและเพื่อนให้ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ฟังระหว่างเข้าร่วมโครงการนำเสนอผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมประจำปี 2558 ที่จัดขึ้นโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
ภัสสรเนตร กล่าวว่า งานวิจัยที่เธอและเพื่อนๆ ได้ร่วมกันทำเป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสวนยางพาราที่มีพืชปกคลุมดินและไม่มีพืชปกคลุมดินกับเปอร์เซ็นต์ของน้ำยางพารา เพราะเธอสังเกตว่ายางในสวนที่มีลักษณะแตกต่างกันจะทำให้มีเปอร์เซ็นต์น้ำยางที่แตกต่างกันด้วย ซึ่งสวนไหนที่ผลิตน้ำยางสดได้เปอร์เซ็นต์น้ำยางมากก็จะขายได้ราคาดี เธอจึงออกแบบการทดลองโดยการแบ่งสวนยางในพื้นที่ขนาด 7 ไร่ออกเป็น 2 ส่วน และกำหนดพื้นที่การศึกษาออกเป็น 6 จุด แบ่งส่วนหนึ่งเป็นสวนยางที่มีพืชปกคลุมดินจำพวกหญ้าและต้นไม้ต้นเล็กๆ อยู่ ในขณะที่อีกสวนหนึ่งถูกตัดหญ้าจนเตียน แลวทำการตรวจวัดความชื้น อุณหภูมิของดิน ค่า pH ของดิน อุณหภูมิอากาศทุกสัปดาห์ แล้วนำมาเปรียบเทียบกับเปอร์เซ็นน้ำยางหลังจากส่งขาย
“บ้านหนูไม่ได้ทำสวนยางค่ะ แต่บ้านเพื่อนมี เราเลยใช้พื้นที่ของเพื่อนประมาณ 7 ไร่ทำการทดลอง เริ่มทำในช่วงหน้าร้อนเก็บผลการทดลองเป็นเวลา 3 เดือน แล้วก็ได้ข้อสรุปว่า สวนยางพาราที่มีพืชคลุมดิน จะมีเปอร์เซ็นต์ของน้ำยางสูงกว่าสวนยางพาราที่ไม่มีพืชปกคลุมดินเลยถึง 3-5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งพวกหนูและนักวิทยาศาสตร์ที่ปรึกษาต่างลงความเห็นกันว่า การที่มีพืชปกคลุมดินจะเป็นตัวช่วยให้ดินมีความชื้นอยู่ตลอด เพราะพืชต้นเล็กๆ จะมีการคายน้ำ ทำให้จุลินทรีย์ในบริเวณนั้นสามารถย่อยอาหารและแร่ธาตุที่ต้นยางสามารถนำไปใช้ได้ดีขึ้นส่งผลให้มีเปอร์เซ็นต์น้ำยางในปริมาณมาก เพราะยางพาราเป็นพืชที่ชอบความชื้นพอเหมาะแบบไม่มากเกินไป เพราะถ้าดินมีความชื้นเกินไปต้นยางก็จะดูดน้ำไว้มากทำให้ยางที่กรีดออกมามีปริมาณน้ำยางมากก็จริงแต่มีปริมาณเปอร์เซ็นต์น้ำยางน้อยกว่าที่ควร” ภัสสรเนตร ตัวแทนงานงิจัยจากโรงเรียนพัทลุง กล่าวแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
นอกจากนี้ ภัสสรเนตร ยังระบุด้วยว่างานวิจัยนี้เธอและเพื่อนได้ทำร่วมกันมาเป็นเวลามากกว่า 2 ปีจึงค่อนข้างมั่นใจในผลการทดลอง และจะเริ่มรณรงค์ให้ชาวสวนยางใกล้ๆ ตัวพวกเธอไม่ถางหญ้าหรือพืชคลุมดินจนเตียนเหมือนที่เคยเพราะมีผลกับปริมาณเปอร์เซ็นน้ำยาง ซึ่งในอนาคตเธอก็จะส่งต่อให้รุ่นน้องทำการทดลองต่อโดยเพิ่มเงื่อนไขการศึกษาความชื้นสัมพัทธ์ทั้งในดินและอากาศด้วย เพื่อหาเหตุผลที่แท้จริงให้ได้ว่าเปอร์เซ็นต์น้ำยางที่เพิ่มขึ้นมีความสัมพันธ์อย่างไรกับพืชคลุมดิน
*******************************