xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ "หอยมรกต” บนเกาะตาชัยน่าเป็นห่วงไม่แพ้ปะการัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เกาะตาชัย จ.พังงา
“ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา” ผู้เชี่ยวชาญเรื่องหอยของเมืองไทย แสดงความเห็น “หอยมรกต” ที่พบได้เฉพาะบนเกาะตาชัยก็น่าห่วงไม่แพ้ปะการัง หลังจากจากนักท่องเที่ยวล้นทะลัก วอนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเร่งสร้างมาตรการรับมือนักท่องเที่ยว ก่อนสูญพันธุ์ เพราะเป็นดัชนีชี้วัดทางวิวัฒนาการ เทียบเท่า “นกฟินซ์” บนเกาะกาลาปากอส
        
จากผลกระทบของนักท่องเที่ยวที่แห่แหนกันเข้ามาชมความงามของธรรมชาติ ในพื้นที่ “เกาะตาชัย” หมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา ทำให้ตอนนี้เหล่าปะการังที่เคยเสยงาม กลับกลายเป็นเศษซากฟอกขาวไม่เหลือชิ้นดี ดังภาพที่ปรากฏไปทั่วในแวดวงสังคมออนไลน์ สร้างความวิตกกังวลให้เหล่านักสมุทรศาสตร์และนักธรรมชาติวิทยาว่า นอกจากปะการังที่ยกแผงตายไปเป็นอันดับแรกแล้ว อะไรคือสิ่งต่อไปที่จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก และอาจตายตามเจ้าปะการังสิ่งมีชีวิตอันแสนเปราะบางใต้ผืนน้ำอันแสนงดงาม
        
ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ สอบถามไปยัง ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยซิสเทมาติกส์ของสัตว์ ซึ่งเป็นผู้ค้นพบ “หอยมรกต” บนเกาะตาชัย เกี่ยวกับผลกระทบของสิ่งมีชีวิตบนเกาะตาชัยที่อาจได้รับผลกระทบตามมา

ศ.ดร.สมศักดิ์ กล่าวว่า กรณีนักท่องเที่ยวล้นเกาะตาชัยจนส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ เป็นสิ่งที่เขาคาดคิดไว้นานแล้วว่าสักวันต้องเกิดขึ้น เพราะเกาะตาชัยสวยงามมาก ทั้งน้ำทะเลที่ใสสะอาด หาดทรายขาวละเอียดรวมไปถึงปะการังน้ำตื้นที่เหมาะแก่การดำผุดดำว่ายของนักท่องเที่ยว จึงไม่แปลกที่นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกจะปักหมุดให้ที่นี่ เป็นที่ๆ ต้องมาเที่ยวชมให้ได้ แม้แต่ตัวเขายังอยากกลับไปที่เกาะตาชัยอีกครั้งเพื่อชื่นชมธรรมชาติอันสวยงาม
        
จากภาพข่าวที่สื่อหลายสำนักและนักวิชาการหลายคนได้แพร่ภาพออกไปทำให้ ศ.ดร.สมศักดิ์ ระบุว่าเป็นสิ่งที่น่าเสียดายและหดหู่ เพราะการเสื่อมโทรมของธรรมชาติโดยเฉพาะปะการังที่เห็น เป็นผลกระทบโดยตรงของการท่องเที่ยวที่ไม่มีมาตรการควบคุมที่จริงจัง เพราะการล้นทะลักเข้ามาของนักท่องเที่ยว ทำให้เที่ยวเรือที่เข้ามายังเกาะต้องเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนั่นหมายถึงจำนวนครั้งของการทอดสมอที่ส่งผลกระทบต่อพื้นทะเลโดยตรง
        
ผนวกกับภาวะโลกร้อนที่ทำให้อุณหภูมิของน้ำทะเลอุ่นขึ้น ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของปะการังฟอกขาว ซึ่ง ศ.ดร.สมศักดิ์ ให้ความเห็นว่า เป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล ที่จะต้องมีช่วงหนึ่งเสื่อมโทรม ช่วงหนึ่งงอกงามแต่โชคร้ายที่มีมนุษย์เป็นตัวเร่งให้ความหายนะแห่งธรรมชาติ ถึงจุดจบเร็วขึ้นก็เท่านั้น ต้องให้เวลาธรรมชาติได้รักษาตัวมันเองด้วยการบริหารจัดการนักท่องเที่ยวที่ดี และการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
        
ทว่าสิ่งมีชีวิตที่ ศ.ดร.สมศักดิ์ เป็นห่วงที่สุดว่าจะได้รับผลกระทบจากปริมาณนักท่องเที่ยวบนเกาะตาชัยคือ "หอยมรกต" ซึ่งนามพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หรือ แอมฟิโดรมัส แอตริคาโลสซัส คลาสซิอาเรียส (Amphidromus atricalossus classiarius) ซึ่งเป็นสปีชีส์ย่อยของหอยสปีชีส์ แอมฟิโดรมัส แอตริคาโลสซัส (Amphidromus atricalossus) ที่พบบนแผ่นดินใหญ่ โดยหอยมรกตเป็นหอยฝาเดียวสีสันสวยงามอาศัยอยู่บนต้นไม้ ที่พบได้แค่ที่เกาะตาชัย จ.พังงา แห่งเดียวเท่านั้นสำหรับประเทศไทย

เมื่อปี 2556 ศ.ดร.สมศักดิ์พร้อมทีมนักวิจัยรุ่นใหม่ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เดินทางไปสำรวจเกาะตาชัยเพื่อทำวิจัยและสำรวจความหลากหลายทางธรรมชาติของสัตว์ทะเล สัตว์หน้าดิน และสัตว์บก ซึ่งเขาได้เล่าถึงสภาพของเกาะตาชัยเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาให้แก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
        
"2 ปีก่อนเริ่มมีนักท่องเที่ยวบ้างแล้วนะ แต่คงยังไม่เยอะแบบทุกวันนี้ ยอมรับเลยทะเลที่นั่นสวยงามมาก สวยจริงๆ ปะการังก็มี สัตว์ประจำถิ่นอย่างปูไก่ก็มาก เรียกได้ว่าลงตัวไปหมดทุกอย่าง คราวนั้นผมไปทำวิจัยสำรวจหอยมรกตกับทีม สวทช. เพราะที่นั่นเป็นที่เดียวที่พบหอยมรกต หอยชนิดนี้สำคัญนะ มันเป็นจุดแสดงวิวัฒนาการ ได้เช่นเดียวกับนกฟินซ์ของ ชาร์ลส์ ดาวินส์ แล้วก็เป็นหอยที่ค่อนข้างบอบบางชนิดหนึ่ง เพราะอยู่บนต้นไม้กินไลเคนส์เป็นอาหาร พอมาเห็นข่าวเกาะตาชัยแย่ทำนองนี้ผมเลยคิดถึงหอยมรกตขึ้นมาทันทีน่าห่วงกว่าปะการังเสียอีก เพราะคนเยอะขึ้นก็มีสิทธิที่จะตัดต้นไม้เพิ่มขึ้น ที่อยู่ของหอยคงลดลง ดีไม่ดีเปลือกสีสวยๆ ของหอยแบบนั้น คงมีบ้างแหละที่นักท่องเที่ยวก็หยิบมาเล่นหรือเอากลับบ้านกันบ้าง" ศ.ดร.สมศักดิ์แสดงความห่วงใย
        
อย่างไรก็ดี ศ.ดร.สมศักดิ์ กล่าวว่ายังไม่มีหน่วยงานใดหรือภาคส่วนใดเข้าไปสำรวจความเสียหาย หรือวัดค่าความสมบูรณ์ของธรรมชาติในพื้นที่ จึงยังไม่สามารถตอบได้ว่า สถานการณ์ของหอยมรกต รวมถึงสัตว์หน้าดิน สัตว์เลื้อยคลานต่างๆ บนเกาะตาชัยว่าเป็นอย่างไร ยกเว้นปูไก่ที่ทราบข่าวว่าเริ่มลดจำนวนลง แต่จากการตั้งสมมุติฐาน เขาคาดว่าการเข้ามาในพื้นที่เกาะของนักท่องเที่ยวที่มากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการระบายนักท่องเที่ยวจากเกาะเจ็ด เกาะแปดในพื้นที่ใกล้เคียงกันย่อมทำให้สภาพแวดล้อมโดยรวมเปลี่ยนไปไม่มากก็น้อย
        
ศ.ดร.สมศักดิ์ ยังได้ฝากข้อคิดถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและนักท่องเที่ยวผ่านทีมข่าววิทยา ศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ด้วยว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะต้องหันมาสนใจกับธรรมชาติอย่างมีจิตสำนึก การเข้าไปท่องเที่ยวชื่นชมธรรมชาติไม่ใช่เรื่องผิดแถมยังเป็นเรื่องดีต่อเศรษฐกิจ แต่อยากให้ตระหนักว่าธรรมชาตินั้นเปราะบาง และต้องใช้เวลากว่าจะสวยงามให้คนรุ่นเราได้ชื่นชมกันแบบทุกวันนี้

“อยากให้ภาครัฐร่วมมือกับผู้ประกอบการทุกๆ ฝ่ายให้มีการจัดมาตรการกับนักท่องเที่ยวที่เข้มข้นขึ้น เพราะสิ่งมีชีวิตและธรรมชาติทุกๆ สิ่งบนเกาะล้วนแล้วแต่เป็นห่วงโซ่อาหาร มีความสำคัญต่อกันเป็นทอดๆ ถ้าสัตว์เล็กๆ อยู่ไม่ได้สัตว์ใหญ่ๆ ก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน และที่สำคัญสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติคือมรดกของคนไทยที่จะต้องร่วมกัน รักษาไว้ตราบชั่วลูกชั่วหลาน” ศ.ดร.สมศักดิ์กล่าว
        
         อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

* ร่องรอยแห่งวิวัฒนาการ "หอยมรกต" เกาะตาชัย เทียบคล้าย "นกฟินช์" แห่งกาลาปากอส

* ดร.ธรณ์ เผยภาพปะการังตายซาก “เกาะตาชัย-สิมิลัน” ชี้ควรจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวเกาะตาชัย
* “เกาะตาชัย” ใครๆ ก็อยากไป สวยใสสุดฮิตจนนักท่องเที่ยวล้น!!
ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา ผู้ค้นพบหอยมรกตคนแรกของประเทศไทย
(ซ้าย) เปลือกหอยมรกตจากเกาะตาชัย (ขวา) เปลือกหอยหากในสปีชีส์เดียวกันที่พบในประเทศไทย
ปูไก่
ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา






*******************************



กำลังโหลดความคิดเห็น