ไทย-อังกฤษ ลงขัน 1,000 ล้านบาท จับมือดันงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรม ผ่าน "กองทุนความร่วมมือนิวตัน" พร้อมลงนามความร่วมมือพัฒนากำลังคนแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย เปิดตัวความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผ่าน "กองทุนความร่วมมือนิวตัน ระหว่างประเทศไทย และสหราชอาณาจักร เพื่อการวิจัยและนวัตกรรม" (Newton UK - Thailand Research and Innovation Partnership Fund) ณ สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 58
ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กองทุนความร่วมมือนิวตัน ระหว่างประเทศไทย และสหราชอาณาจักร เพื่อการวิจัยและนวัตกรรม" (Newton UK - Thailand Research and Innovation Partnership Fund) เป็นโครงการสนับสนุนความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ ที่จะช่วยส่งเสริมให้งานวิจัยพื้นฐานก้าวสู่ภาคอุตสาหกรรม ที่เกิดขึ้นจากการหารือก่อนหน้าระหว่างเขา ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับทางสหราชอาณาจักรที่อยากเห็นความร่วมมือ และความช่วยเหลือทางด้านวิทยาศาสตร์ในประเทศที่กำลังพัฒน ทั้งทางด้านกำลังคน องค์ความรู้ และงบสนับสนุนงานวิจัย
"โครงการความร่วมมือนิวตันนี้ จะเป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพระหว่าง 2 ประเทศในปัจจุบัน ที่มุ่งเน้นทางด้านวิทยาศาสตร์เป็นหลัก เพราะสหราชอาณาจักรเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาการทางวิทยาศาสตร์ในระดับสูงมาก ซึ่งผมเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือกับสหราชอาณาจักรในครั้งนี้ จะช่วยยกระดับงานวิจัยของไทย ให้สามารถแข่งขันและเดินหน้าเข้าสู่การพัฒนาด้านอุตสาหกรรมได้อย่างเต็มความสามารถ" รองนายกรัฐมนตรี กล่าวแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
ด้าน มร.มาร์ค เคนท์ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวว่า สหราชอาณาจักรและไทยมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาเป็นเวลานาน การทำโครงการร่วมกันในครั้งนี้จะยิ่งเป็นการกระชับความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
"ไทยเป็นประเทศที่มั่งคั่งทางเกษตรกรรม และมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในระดับดีอยู่แล้ว การเข้ามาช่วยเหลือด้วยกองทุนความร่วมมือนี้ก็จะยิ่งส่งเสริมให้งานวิจัยของไทยเดินหน้าไปสู่เป้าหมายได้เร็วขึ้น" เอกอัครราชทูตอังกฤษกล่าว
สำหรับโครงการความร่วมมือระหว่างสหราชอาณาจักรและประเทศไทยในครั้งนี้ สหราชอาณาจักรจะให้การสนับสนุนงบประมาณประมาณ 2 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี เป็นเวลา 5 ปีรวม 500 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 60% ของการลงทุนที่ประเทศไทยจะลงทุนเองอีก 40% ทำให้มีงบประมาณรวมที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวว่ายังจะให้การส่งเสริมและแลกเปลี่ยนทรัพยากรบุคลากรด้านการวิจัยระหว่าง 2 ประเทศให้มากขึ้นอีกด้วย เพื่อให้ผลสัมฤทธิ์ของงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ และแก้ไขปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม
ในส่วนของ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะมุ่งสร้างศักยภาพให้กับนักวิจัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวิจัยทางด้านวิศวกรรม ด้านอาหาร และด้านสาธารณสุข แต่ยังขาดการคิดเพื่อต่อยอดไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม หรือกล่าวง่ายๆ คือทำงานวิจัยเป็นแต่นำมาปรับใช้ในเชิงพาณิชย์ยังไม่ได้ โดยจะมีนักวิจัยคนไทย 15 ท่านที่ได้รับการคัดเลือก ได้เข้าไปร่วมฝึกอบรมการวางแผนพัฒนาธุรกิจสำหรับนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะมีการอบรมหลักสูตร ณ สหราชอาณาจักร
ดร.พิเชฐ ระบุว่า สาขาความร่วมมือที่ฝ่ายสหราชอาณาจักรและไทยเห็นชอบใน การดำเนินการร่วมกันเป็นสาขาแรก ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยมีหน่วยงานหลักขับเคลื่อนโครงการ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.),สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งในอนาคตจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการร่วมมากขึ้นทั้งในส่วนของ คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.), มหาวิทยาลัย รวมไปถึงบริษัทสัญชาติอังกฤษที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย
ศ.โรบิน ไกรม์ส ที่ปรึกษารัฐมนตรีอาวุโสด้านวิทยาศาสตร์ กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ กล่าวว่า โครงการนี้ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่ได้รับทุนสนับสนุน ยังมีอีก 14 ประเทศในภูมิภาคต่างๆทั่วโลก ที่อังกฤษให้ความช่วยเหลือ โดยจะมุ่งเป้างานวิจัย 5 ด้าน ได้แก่ ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและชีวภาพ (Health and life sciences), ด้านสิ่งแวดล้อและพลังงาน (environment and energy), ด้านเมืองในอนาคต (Future cities), ด้านอุตสาหกรรมเกษตร (Agritech) และด้านนวัตกรรมดิจิทัล (Digital)
"การพัฒนาร่วมกันนี้จะอยู่ภายใต้ 3 ข้อหลัก คือ จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านการวิจัย, การดำเนินโครงการวิจัยร่วมกัน และการแปลงผลงานวิจัยสู่การสร้างนวัตกรรม ที่เป็นปัจจัยหลักที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้งานวิจัยขายได้ เกิดเป็นการขับเคลื่อนประเทศด้วยงานวิจัยซึ่งจะให้ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน" ศ.โรบิน กล่าว
ทั้งนี้ ยังมีพิธีการลงนามความร่วมมือภายใต้เสาของการพัฒนากำลังคนด้วยหนึ่ง โครงการ (ชื่อโครงการ Leaders in Innovation Fellowship Programme) โดยเป็นการลงนามทวิภาคี ระหว่าง The Royal Academy of Engineering กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และThe Royal Academy of Engineering กับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดย ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมลงนามในครั้งนี้ด้วย
*******************************