"ดูดาวเหรอ ผมก็แค่ออกไปยืนนอกบ้านแล้วมองฟ้าก็เห็นดาวสว่างเต็มไปหมดแล้ว" ผู้นำเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน แสดงความเห็นระคนแปลกใจว่าทำไมเราต้องดั้นด้นขึ้นไปดูดาวกันบนยอดดอยอินทนนท์ที่กลางคืนหนาวเหน็บ สิ่งหนึ่งที่เขาอาจไม่ทราบคือหลายพื้นที่นั้นถูกแสงไฟรบกวนจนบดบังแสงดาวจากฟ้า
การศึกษาธรรมชาติ ณ กิ่วแม่ปาน บนอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งภายในค่ายเยาวชนคนดูดาวและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ปีที่ 8 ที่จัดขึ้นโดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ระหว่างวันที่ 11-13 ธ.ค.57 ซึ่งมีเยาวชน 120 คนจากทั่วประเทศมาร่วมกิจกรรม ในจำนวนนั้นเป็นนักเรียนจากสามจังหวัดชายแดนใต้ 40 คน
เยาวชนในค่ายส่วนใหญ่คือเยาวชนที่ไม่เคยมีประสบการณ์ดูดาวจากฟ้าจริงมาก่อน ในช่วงเริ่มกิจกรรมเจ้าหน้าที่จาก สดร.จึงปูพื้นความรู้เกี่ยวกับการดูดาวเบื้องต้น พร้อมทั้งกิจกรรมประดิษฐ์เครื่องวัดมุมอย่างง่ายสำหรับวัดตำแหน่งดาวบนท้องฟ้า และการฝึกใช้กล้องโทรทรรศน์แบบหักเหแสงสำหรับใช้สังเกตดาวเคราะห์และกลุ่มดาว
สิทธิพร เดือนตะคุ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. ให้ข้อมูลเบื้องต้นแก่เยาวชนในค่ายว่า หนึ่งในปัจจัยรบกวนการดูดาวคือมลภาวะทางแสง โดยเฉพาะในเมืองที่มีแสงไฟรบกวนเนื่องจากแสงไฟสะท้อนขึ้นสู่ด้านบนแล้วกระเจิงกับอนุภาคแขวนลอยในอากาศทำให้ท้องฟ้ามีสีแดงหรือบางครั้งเป็นสีม่วง
อย่างไรก็ดี บนยอดดอยอินทนนท์อยู่ที่ความสูงกว่า 2,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล และพ้นจากระดับฟ้าหลัว จึงเหมาะแก่การดูดาว ทว่า ทางอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ไม่อนุญาตให้ประชาชนทั่วไปขึ้นสู่ยอดดอยหลัง 18.00 น. แต่ทาง สดร. ได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษเพื่อนำเยาวชนขึ้นไปสังเกตท้องฟ้าและดวงดาว
อีกปัญหาของการดูดาวคือในท้องฟ้าที่ปราศจากแสงไฟรบกวนจะเห็นดาวเต็มท้องฟ้า ซึ่งหากมองท้องฟ้าเพียงจุดเดียวจะเห็นดาวได้เป็นร้อยดวง เยาวชนในค่ายจึงต้องเรียนรู้การใช้แผนที่ดาวเพื่อตำแหน่งดาวและการวัดมุม รวมถึงการใช้ร่างกายวัดระยะเชิงมุม
เมื่อยืดแขนออกไปจนสุด นิ้วก้อยจะวัดมุมได้ 1 องศา ซึ่งดวงจันทร์เต็มดวงหรือดวงอาทิตย์มีระยะเชิงมุมเพียง 0.5 องศา ส่วนนิ้วชี้นิ้วกลางและนิ้วนาง 3 นิ้วรวมกันวัดมุมได้ 5 องศา ขณะที่กำปั้นวัดมุมได้ 10 องศา นิ้วชี้และนิ้วนาง (สัญลักษณ์ภาษามือ "ฉันรักเธอ") เมื่อกางออกจะวัด 15 องศา และเมื่อกางนิ้วโป้งกับนิ้วนางจนสุด (สัญลักษณ์คาราบาว) วัดได้ 22 องศา
ในช่วงนี้ตอนหัวค่ำจะสังเกตเห็นกลุ่มดาวนายพราน กระจุกดาวต่างๆ กาแล็กซีแอนโดรเมดา รวมถึงดาวอังคาร และสังเกตเห็นดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์เห็นได้ในช่วงรุ่งเช้า แต่ในแผนที่ดาวจะระบุเพียงตำแหน่งกลุ่มดาวซึ่งเป็นดาวฤกษ์ ซึ่งสิทธิพรแนะนำว่าหากเห็นดาวที่แปลกแยกจากกลุ่มดาวในแผนที่ให้สันนิษฐานว่าเป็นดาวเคราะห์ โดย ดาวพฤหัสมีสีส้ม ส่วนดาวอังคารมีสีส้มแดง
นอกจากสังเกตดาวในตอนค่ำคืนและรุ่งเช้าแล้ว ระหว่างดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าเยาวชนในค่ายยังได้ฝึกสังเกตดวงอาทิตย์ และจุดมืดบนดวงอาทิตย์ พร้อมวัดขนาดและเทียบบัญญัติไตรยางค์เพื่อหาขนาดของจุดมืดว่ามีขนาดเป็นกี่เท้าของโลก ก่อนจะเดินทางสู่เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ณ กิ่วแม่ปาน โดยมีชาวบ้านท้องถิ่นเป็นผู้นำเส้นทาง
ด้าน น.ส.นูรอาติกะห์ มะลี นักเรียนโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติกรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์ บางปอประชารักษ์ จ.นราธิวาส เผยว่าไม่เคยดูดาวมาก่อน แต่กิจกรรมในค่ายทำให้ได้รู้วิธีใช้กล้องโทรทรรศน์ วิธีดูดาว รู้ว่าดาวพฤหัสบดีอยู่ตรงไหน ดาวศุกร์อยู่ตรงไหน และดาวเหนืออยู่ตรงไหน
"ปกติหนูเคยแต่ใช้กล้องจุลทรรศน์ในวิชาชีววิทยา แต่เป็นครั้งแรกที่หนูได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ ได้ปรับกล้องและตั้งกล้องเอง อ่านแผนที่ดาวเป็น หนูจะเอากลับไปดูที่บ้าน ได้เห็นวงแหวนดาวเสาร์เป็นครั้งแรก หด้รู้จักดาวสามเหลี่ยมฤดูหนาว กลุ่มดาวนายพรานและเห็นกาแล็กซีแอนโดรมีดาด้วยตาเปล่า" นูรอาติกะห์เผยถึงประสบการณ์ที่ได้รับ
ส่วน นายสหบดี จันทร์สงวน นักเรียนโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 2 จากกรุงเทพฯ เผยว่าเขาไม่เคยเห็นดาวบนฟ้าจริงมาก่อน และได้เห็นในค่ายนี้ ซึ่งสวยเหมือนฉากในภาพยนตร์ นอกจากนี้ยังได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับเพื่อนจากต่างภูมิภาค เช่น คำว่า "กู้" ในภาษาเหนือแปลว่าเพื่อน เป็นต้น
ด้าน นายขจรยศ ศรีธัญรัตน์ นักเรียนโรงเรียนสารคามพิทยาคม จ.มหาสารคาม บอกว่า เขามีความสนใจในด้านดาราศาสตร์ และเคยไปดูฝนดาวตกที่ จ.กาญจนบุรี พร้อมกับแม่ บางครั้งก็ดูดาวแถวบ้านตามทุ่งนา นอกจากนี้ยังชมปรากฏการณ์จันทรุปราคาและสุริยุปราคา
"ก่อนหน้านี้เคยไปเข้าค่ายดาราศาสตร์ที่หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้รู้จักวิธีหาทิศเหนือโดยใช้ดาวหมีเล็ก-ดาวหมีใหญ่ และดาวค้างคาว แต่ค่ายนี้ได้รู้ว่าหาดาวเหนือด้วยกลุ่มดาวนายพรานได้ และยังได้หามุมดาวโดยใช้อุปกรณ์วัดมุมที่พี่ๆ สอน รวมถึงการบอกมุมด้วยนิ้วมือ" นายขจรยศระบุ
ขณะที่ นายวรวุฒิ จันทร์หอม นักเรียนจากโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย จ.เชียงราย ซึ่งเคยเข้าค่ายเยาวชนคนดูดาวฯ ครั้งที่ 5 ได้อาสามาเป็นพี่เลี้ยงค่าย เนื่องจากเคยเข้าค่ายดาราศาสตร์โอลิมปิกวิชาการ จึงอยากถ่ายทอดประสบการณ์ให้แก่น้องๆ
ด้าน บุญญฤทธิ์ ชุนหกิจ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.และหัวหน้าโครงการค่ายเยาวชนคนดูดาวฯ ปีที่ 8 กล่าวว่า แต่ละปีจะจัดค่าย 2 ครั้งโดยรูปแบบงานยังคงเหมือนปีก่อนๆ ที่ผ่านมา ซึ่งเน้นให้โอกาสแก่เยาวชนที่ไม่เคยสัมผัสการดูดาวแต่สนใจดาราศาสตร์ โดยเฉพาะเยาวชนจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้
"เราพยายามเน้นเด็กจากชายแดนใต้ให้มากที่สุด เพราะเราอยากให้เด็กเขามีจินตนาการและรักในการดูดาว เราพยายามขยายโอกาส ซึ่งปีนี้มีเด็กสมัครเข้ามากถึง 700 คน แต่เรารับได้แค่ 120 คน โดยเกณฑ์ในการคัดเลือกเราดูความตั้งใจที่จะมาดูดาว แต่ละปีมีการวัดแตกต่างกันไป แต่ปีนี้เราให้เด็กเขียนเรียงความ เพื่อดูความคิดสร้างสรรค์ แต่เลือกเด็กอายุ 15-19 ปีเท่านั้น" บุญญฤทธิ์ระบุ
ทั้งนี้ บุญญฤทธิ์ยังเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์หอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชน จ.นครราชสีมา ของสดร. ซึ่งอยู่ระหว่างการฝึกประสบการณ์เพื่อนำรูปแบบกิจกรรมไปปรับใช้ในพื้นที่ให้บริการของหอดูดาวภูมิภาคที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
*******************************