รองนายกฯ วอนคนเห็นใจ ทำวิจัยให้ได้ผลและใช้ทันทีเป็นเรื่อง "ยาก" ชี้สังคมต้องให้เวลาเพราะการทำงานวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องซับซ้อน เผยระหว่างเปิดตัวนักวิจัยหัวกะทิความหวังของชาติ ที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศด้วยงานวิจัย
ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าสังคมมักคาดหวังต่อนักวิจัยค่อนข้างสูง ว่างานวิจัยเมื่อทำออกมาแล้วต้องใช้ได้ทันทีและเสร็จทุกกระบวนการได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งคนในแวดวงวิทยาศาสตร์ที่คลุกคลีกับการวิจัยทุกคนจะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า "ยาก" เพราะการจะทำงานวิจัยแต่ละชิ้นให้ออกมาได้สำเร็จ จำเป็นต้องอาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ กระบวนการที่ค่อนข้างซับซ้อน เพื่อให้ได้ผลวิจัยที่มีประสิทธิภาพและถูกต้องที่สุด
"ขั้นตอนทั้งหมดจำเป็นต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะงานวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์ การแพทย์ ชีววิทยาหรือการวิเคราะห์ต่างๆ แต่ก็มีผลงานวิจัยบางแขนงที่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว เช่น การพัฒนาแอปพลิชั่น หรืองานทางด้านเทคโนโลยี จึงอยากให้คนในสังคมเห็นใจ และให้กำลังใจนักวิจัยมากกว่า ซึ่งในส่วนของนักวิจัยเองก็ควรศึกษาก่อนการวิจัยด้วยว่างานวิจัยของตนจะสามารถต่อยอด และสร้างประโยชน์ให้สังคมได้อย่างไร เพื่อเป็นการนอบแทนสังคมและแสดงให้เห็นว่านักวิจัยใช้ทุนวิจัยเพื่อสร้างประโยชน์ตอบแทนสังคมอย่างแท้จริง โดยการสร้างผลงานแบบตอบโจทย์ตามความต้องการ หรือตอบโจทย์ปัญหาสังคมซึ่งก็คือการตอบสนองต่อความคาดหวังของประชาชนที่ตรงจุดที่สุด" รองนายกฯ กล่าว
ทั้งนี้ เป็นการใช้ความเห็นระหว่างการเสวนาเรื่อง "ความคาดหวังของสังคมต่อศาสตราจารย์วิจัยดีเด่นและเมธีวิจัยอาวุโส สกว." ภายในงานแถลงข่าวเปิดตัวผู้รับทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น และเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ประจำปี 2557 เมื่อวันพุธที่ 19 พ.ย. 57 ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ทางด้าน ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น เป็นทุนสูงสุดของ สกว.ที่จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนนักวิจัยอาวุโสระดับศาสตราจารย์ที่มีผลงานวิจัยดีเด่นให้มีโอกาสพัฒนาและผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพในระดับชาติและระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นทุนแบบหวังผลที่ต้องการนำผลจากการวิจัยกลับมาใช้พัฒนาประเทศ ซึ่งผลจากงานวิจัยจะทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ที่มีผลกระทบทางวิชาการสูง หรือมีศักยภาพสูงมากในการนำไปประยุกต์เพื่อให้เกิดผลในเชิงปฏิบัติ
"งานในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรติแก่นักวิจัยที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์และเป็นประโยชน์ของประเทศ เพื่อกระตุ้นให้สังคมเห็นคุณค่าของงานวิจัยทั้งงานวิจัยแบบประยุกต์ และงานวิจัยระดับพื้นฐาน ที่สังคมมักมองว่าเป็นงานวิจัยไม่ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งผมขอโต้แย้งแทนว่างานวิจัยพื้นฐานยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญและจะเป็นไปไม่ได้เลยที่งานวิจัยประยุกต์หรือหาองค์ความรู้ใหม่ๆ จะสำเร็จได้ หากปราศจากพื้นฐานที่ดี การสนับสนุนโดยการให้ทุนนักวิจัยที่มีประสิทธิภาพโดย สกว. จึงเป็นการกระตุ้นการพัฒนาประเทศอีกทางหนึ่ง เพราะเป็นการมอบทุนแบบมุ่งเป้าเพื่อให้ผลของงานวิจัยสามารถย้อนกลับมาพัฒนาประเทศได้ ซึ่งตลอด 22 ปีที่ผ่านมาของ สกว. มีการมอบทุนแก่เมธีวิจัยอาวุโสแล้วทั้งสิ้น 235 ทุนและทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่นทั้งสิ้น 16 ทุน" ผอ.สกว. กล่าว
สำหรับปีนี้มีผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น 4 ท่านได้แก่ ศ.ดร.ปิยะรัตน์ โกวิทตรพงศ์ สาขาประสาทวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล จากผลงานการค้นพบระบบประสาทที่ควบคุมการสร้างเมลาโทนิน และการค้นพบบทบาทของเมลาโทนินในการยับยั้งการเสื่อมของสมอง, ศ.ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ สาขาสรีรวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล จากผลงานการวิจัยองค์ความรู้ในเรื่องฮอร์โมนโพรแลคติน ในฐานะฮอร์โมนควบคุมแคลเซียมและกระดูกในแม่ที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตรและการให้แคลเซียมเสริมเพื่อป้องกันการสูญเสียกระดูกหลังมีบุตร, ศ.นพ. ภิเศก ลุมพิกานนท์ จากสาขาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้ร่วมทำการวิจัยกับองค์การอนามัยโลก เรื่องการดูแลผู้ตั้งครรภ์อย่างมีคุณภาพ และ ศ.ดร.ธีรยุทธ วิไลวัลย์ สาขาเคมีอินทรีย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากผลงานการสังเคราะห์สารเลียนแบบสารพันธุกรรมพีเอ็นเอ (PNA: Peptide Nucleic Acid) ที่มีความทนทานมากกว่าดีเอ็นเอที่ถูกย่อยสลายได้ และการพัฒนาวิธีการสังเคราะห์ยาต้านมาลาเรีย
นอกจากนี้ยังการประกาศผลผู้ได้รับทุนเมธีวิจัยอาวุโส แก่คณาจารย์ที่มีผลงานทางวิชาการเป็นที่ยอมรับทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติ แก่นักวิจัย 12 ท่าน ได้แก่ ศ.ดร.อรวรรณ ชัยลภากุล สาขาเคมีวิเคราะห์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศ.ดร.สุเทพ สวนใต้ สาขาคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ศ.ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน สาขาประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศ.ดร.ประยุทธ อัครเอกฒาลินสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, ศ.ดร.สุเมธ ชมเดช สาขาวิศวกรรมเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศ.ดร.ปริญญา จินดาประเสริฐ สาขาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ศ.ดร.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล สาขาไวรัสวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล, ศ.ดร.โสพิศ วงศ์คำ สาขาชีวเคมีทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม สาขาภูมิคุ้มกันวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.น.สพ.ดร.อลงกร อมรศิลป์ สาขาสัตวแพทยสาธาณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.ดร.พูนสุข ประเสริฐสรรพ์ สาขาเทคโนโลยีชีวภาพสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ ศ.ดร.นพ.นรัตพล เจริญพันธุ์ สาขาสรีรวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล
*******************************