xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-รัสเซีย ตกลงร่วมมือด้านนิวเคลียร์เพื่อสันติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.สมพร จองคำ ลงนามความร่วมมือด้านนิวเคลียร์เพื่อสันติ กับตัวแทนจาก ROSATOM
สทน. - ไทย-รัสเซีย ตกลงร่วมมือด้านนิวเคลียร์เพื่อสันติ ลงนามร่วมกันที่ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ กรุงเวียนนา

จากการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย - รัสเซีย ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 27-28 มี.ค.56 ณ กรุงมอสโก โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับความร่วมมือทวิภาคีโดยให้ทั้งสองฝ่ายเร่งรัดการจัดทำความตกลงต่างๆ เช่น ด้านการเกษตร และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อวกาศ พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่ยังคงค้างจำนวนมากและให้มีการบังคับใช้โดยเร็ว เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องให้มีผลเป็นรูปธรรมนั้น จากการประชุมในครั้งดังกล่าว  รัฐบาลไทยและรัสเซียจึงเห็นชอบร่วมกันในการจัดทำบันทึกความเข้าใจด้านความร่วมมือทางนิวเคลียร์ขึ้น

ในวาระที่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ ไอเออีเอ (IAEA) ได้จัดการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 58 ระหว่างวันที่ 22-26 ก.ย.57 ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งเป็นโอกาสที่สมาชิกทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศจากทั่วโลกมาร่วมประชุมประจำปีนี้ ประเทศไทยจึงใช้วาระนี้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับรัสเซีย โดยหน่วยงานผู้ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลไทยให้เป็นผู้แทนการลงนามในครั้งนี้คือ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลงนามร่วมกับ State Atomic Energy Corporation of the Russian Federation (ROSATOM) สหพันธรัฐรัสเซีย

ดร.สมพร จองคำ ผู้อำนวยการ สทน. เปิดเผยถึงสาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจกับ ROSATOM ว่า เป็นบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการสร้างความร่วมมือด้านการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติในด้านต่างๆ ได้แก่ งานวิจัยพื้นฐานและงานวิจัยประยุกต์ทางนิวเคลียร์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ไอโซโทปรังสีและการใช้ประโยชน์ ความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ การป้องกันอันตรายจากรังสี และการประเมินผลกระทบทางรังสีของพลังงานนิวเคลียร์ต่อสิ่งแวดล้อม การจัดหาวัสดุทางนิวเคลียร์และการบริการด้านวงจรเชื้อเพลิงทางนิวเคลียร์ การจัดการกากกัมมันตรังสี การศึกษา การฝึกอบรม และปรับปรุงทักษะของบุคลากรทางด้านการบริหารจัดการด้านวิทยาศาสตร์และด้านเทคนิคให้ทันสมัยมากขึ้น

สำหรับรูปแบบความร่วมมือนั้น จะเป็นการจัดตั้งกลุ่มทำงานร่วมเพื่อกำหนดโครงการที่จะดำเนินงานร่วมกันเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติตามแผนงานด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมทางนิวเคลียร์ หรือกิจกรรมสำคัญที่ทั้งสองอ
ค์กรเห็นชอบร่วมกัน และสนับสนุนการพัฒนานิวเคลียร์ในประเทศไทย

“รัสเซียเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางนิวเคลียร์มากกว่าไทย การร่วมมือกันในครั้งนี้จะเป็นโอกาสดีของประเทศไทยที่จะได้เรียนรู้จากรัสเซีย ตลอดจนเป็นประสบการณ์ที่ดีกับนักวิจัยชาวไทยที่จะได้มีโอกาสไปร่วมทำงานวิจัย หรือฝึกอบรมด้านต่างๆ ที่จำเป็นกับการพัฒนาด้านนิวเคลียร์ในทางสันติของประเทศไทย” ดร.สมพร กล่าวในตอนท้าย

การประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 58 ของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ระหว่างวันที่ 22-26 ก.ย.57 ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย






*******************************

กำลังโหลดความคิดเห็น