xs
xsm
sm
md
lg

มุมมองเนคเทค...ทำไมงานวิจัยไทยใช้ไม่ได้จริง?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์
ถอดมุมมอง “ดร.พันธ์ศักดิ์” ผอ.เนคเทค ชี้ปัญหาทำไมงานวิจัยไทยใช้ไม่ได้จริง ระบุ 3 สิ่งสำคัญทำให้งานวิจัยสัมฤทธิ์ผล คือการตั้งโจทย์ กลไกการทำงานและการนำไปใช้ โดยการตั้งโจทย์คือสิ่งสำคัญที่สุดที่จะบอกได้ว่างานวิจัยใช้ได้จริงหรือไม่

ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “งานวิจัยใช้ได้จริง” ระหว่างการประชุมวิชาการและนิทรรศการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ 2557 (NECTEC ACE 2014) ภายใต้แนวคิด “ตอบโจทย์ประเทศไทย งานวิจัยใช้ได้จริง” เมื่อวันพุธที่ 17 ก.ย.57 ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล

ดร.พันธ์ศักดิ์กล่าวว่า งานวิจัยส่วนใหญ่มักระบุว่านำไปใช้ได้จริง แต่ทำไมกลับใช้ไม่ได้จริง หรือทำได้ไม่ตรงกับที่ตั้งเป้าไว้ตั้งแต่แรก ซึ่งปัญหางานวิจัยมีจำนวนมากแต่นำไปใช้จริงได้น้อยเป็นปัญหาที่อยู่คู่กับวงการวิทยาศาสตร์ไทยมานาน ซึ่งเนคเทคก็เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่มีบทเรียนจากปัญหานี้ และพยายามหาทางออกเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยให้ได้มากที่สุด

สิ่งสำคัญที่จะทำให้งานวิจัยใช้ได้จริงเกิดผลสัมฤทธิ์ตรงตามเป้าหมาย ดร.พันธ์ศักดิ์ระบุว่า แบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ การตั้งโจทย์งานวิจัย กลไกการทำงานและการนำไปใช้ ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะนำไปสู่เป้าหมายได้อย่างตรงประเด็นที่สุดคือการตั้งโจทย์งานวิจัยที่ดี และนี่คือสิ่งที่นักวิจัยไทยส่วนมาก “ตกม้าตาย”

“การตั้งโจทย์งานวิจัยเพื่อตอบความต้องการของผู้ใช้ จะถูกหรือผิด ย่อมขึ้นอยู่กับ “การสื่อสาร” ซึ่งนักวิจัยจำเป็นต้องลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับผู้ใช้งานจริงให้มาก เพื่อจะได้ทราบถึงความต้องการและปัญหาที่ผู้ใช้ต้องการให้งานวิจัยช่วยแก้ เพราะการลงพื้นที่เพื่อสื่อสารกับภาคประชาชนโดยตรงจะทำให้ทราบข้อมูลที่แท้จริง และยังเป็นสิ่งที่นักวิจัยรุ่นเก่าขาดและนักวิจัยรุ่นใหม่จำเป็นต้องเรียนรู้ นอกจากนักวิจัยจะต้องเข้าใจในความรู้ความสามารถของตนเอง เข้าใจในงานวิจัยที่ทำเป็นอย่างดีแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ต้องตระหนักถึงคือ นักวิจัยต้องเข้าใจผู้อื่นด้วย” ผอ.เนคเทคกล่าว

ดร.พันธ์ศักดิ์กล่าวต่อว่า เมื่องานวิจัยมีการตั้งโจทย์ที่มั่นคงและครอบคลุมต่อความต้องการของผู้ใช้งานจริงแล้ว ขั้นตอนของกลไกการทำงานและการนำไปใช้ก็ไม่ใช่สิ่งที่ต้องกังวล และอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้งานวิจัยโดดเด่นขึ้นอีกระดับหนึ่ง คือ การทำงานวิจัยให้ออกมาเหนือคาด ไม่ใช่ทำแค่เท่าที่ผู้ใช้ต้องการ แต่การทำแบบเหนือคาดคือการทำงานวิจัยที่ครอบคลุมและขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้น ทำให้การใช้ประโยชน์ของงานวิจัยกว้างขวางและสามารถต่อยอดออกไปได้เรื่อยๆ ไม่ใช่การทำงานวิจัยเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้เทคโนโลยีแต่เพียงอย่างเดียว

“ปัญหาในอดีตที่ทำให้งานวิจัยของไทยไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง ก็เป็นเพราะว่านักวิจัยนิยมทำแต่เฉพาะสเกลเล็กๆ เป็นการวิจัยเฉพาะเรื่องย่อยๆ ไม่ใช่การบูรณาการเพื่อการวิจัยและพัฒนาทั้งระบบ เราต้องเปลี่ยนให้นักวิจัยมองว่าประเทศไทยทั้งประเทศคือห้องแล็บ ไม่ใช่ห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ แบบในอดีตที่ผ่านมา” ดร.พันธ์ศักดิ์ชี้ถึงปัญหา

ดร.พันธ์ศักดิ์กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า ตามที่รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติคนปัจจุบัน ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ ได้มอบนโยบายให้งานวิจัยต้องใช้ประโยชน์ได้จริง ไม่ใช่งานวิจัยขึ้นหิ้งและสามารถต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ได้ ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการละทิ้งงานวิจัยพื้นฐาน แต่อยากให้งานวิจัยพื้นฐานสามารถสนับสนุนงานวิจัยต่อยอดได้ เป็นการช่วยกันในฐานะนักวิจัยให้ประเทศของเราขับเคลื่อนไปได้ทางทั้งด้านเศรษฐกิจและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีไปพร้อมๆ กัน






*******************************

กำลังโหลดความคิดเห็น