xs
xsm
sm
md
lg

เบทาโกรชี้ "การวิจัยพื้นฐาน" สร้างความมั่นคงระบบผลิตอาหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วนัส แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน)
ดูจะเป็นค่านิยมไปเสียแล้วสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ ที่นิยมเลือกหัวข้อวิจัยแบบวิทยาศาสตร์ประยุกต์ เพียงเพราะความเป็นรูปธรรมและสามารถต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ได้เร็วทันใจ ทำให้งานวิจัยพื้นฐานกลายเป็นสิ่งที่ใครๆก็เรียกว่า "ของขึ้นหิ้ง" ทั้งที่ความจริงสำคัญที่สุด .. ภาคเอกชนชี้ "งานวิจัยพื้นฐานสำคัญต่อการแข่งขันอุตสาหกรรม" แนะสถานศึกษาควรร่วมมือกับโรงงานบูรณาการความรู้ในตำรากับของจริง มองหน้างานให้เล็กลง

สะท้อนมุมมองเอกชนเกี่ยวกับประโยชน์งานวิจัยพื้นฐานต่อภาคอุตสาหกรรมกับ วนัส แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) จากการบรรยายพิเศษเรื่อง ความสำคัญของงานวิจัยพื้นฐานต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม ในการประชุมนักวิจัยรุ่นใหม่ พบเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ครั้งที่ 14 ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 57

วนัส กล่าวว่า บ. เบทาโกร จำกัด (มหาชน) เราเลี้ยงสัตว์เลี้ยงปากท้องคนไทยมาเกือบ 50 ปีในสัดส่วนขายในประเทศ 80% ส่งออก 20% ใน 7 สายการผลิต ด้วยความเข้มแข็งของระบบและมาตรฐานของโรงงานทำให้บริษัทมีความรู้ความชำนาญทางด้านอุตสาหกรรมอาหารเป็นอย่างดี จึงอยากแบ่งปันความรู้ที่มีกลับไปช่วยมหาวิทยาลัย อยากเห็นการทำงานร่วมกันระหว่างเอกชนกับมหาวิทยาลัยเกิดขึ้น

องค์ความรู้ในกระบวนการอุตสาหกรรมที่เบทาโกรมี วนัสระบุว่าแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มตั้งแต่ระดับวัตถุดิบ การผลิตอาหาร และการบริหารจัดการ เพราะการทำงานจริงในระดับอุตสาหกรรมทุกขั้นตอนจำเป็นต้องรู้ลึกรู้จริงทั้งหมด การทำงานจึงจะเดินหน้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือถ้าล้มเหลวก็สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้อย่างรู้สาเหตุ เริ่มตั้งแต่อาหารสัตว์เราก็ต้องรู้ว่าอาหารเป็นอย่างไร มีส่วนผสมอะไร ต้องมีความชื้นเท่าไหร่ สัตว์ต้องเลี้ยงอย่างไร ได้เนื้อแล้วต้องผ่านกระบวนการผลิตแบบไหนถึงจะได้รสชาติและปริมาณที่ไม่สูญเสีย ความปลอดภัยได้มาตรฐานหรือไม่ สภาพโรงงานเป็นเช่นไร มีการดำเนินงานตามมาตรฐานหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดคือ สิ่งที่เราต้องรู้ เป็นสิ่งที่เราต้องทำการวิจัยพื้นฐานเพื่อให้ระบบของเรามั่นคง โดยมีการวางกฏเกณฑ์และระเบียบแบบแผนที่ชัดเจน

"หากเราคิดจะต่อแต่ยอดทั้งๆที่ฐานยังอ่อนแอไม่นานทุกอย่างก็จะล้ม นี่คือสิ่งที่ผมอยากบอกว่าจะทำอะไรเราควรถอยกลับมาก้าวหนึ่งก่อนเพื่อมองตัวเองเสมอ ดูก่อนว่าของใกล้ตัวมีอะไรที่เรายังไม่รู้ ให้หยิบสิ่งนั้นมาทำก่อน ทำจนรู้ถ่องแท้ ดีกว่าการเดินไปข้างหน้าเพื่อหาของไกลตัว ของใหม่ๆไปเรื่อยๆ เพราะมันสำเร็จยาก เช่น มีผักอยู่แปลงหนึ่งขึ้นเองอยู่ในสวน ถ้าคุณไม่รู้ว่ามันคือต้นอะไร ปลูกยังไง ให้ปุ๋ยเท่าไหร่ น้ำเท่าไหร่ไม่นานมันก็ต้องตาย .. งานวิจัยพื้นฐานจึงยังเป็นสิ่งที่ต้องทำและต้องให้ความสำคัญ" ผู้บริหารเบทาโกร กล่าวในการบรรยาย

โดยเฉพาะงานวิจัยพื้นฐานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรม ที่ต้องผลักดันให้มีมากขึ้นโดยความร่วมมือกันระหว่างสถานศึกษาและโรงงาน เพื่อเป็นการปูทางให้นิสิตนักศึกษามีความรู้ความเข้าใจในหน้างานจริงจากปัญหาในโรงงานซึ่งเป็นสิ่งที่หาไม่ได้ในมหาวิทยาลัย เพราะในความจริงสถานศึกษาเองบางครั้งก็ยังไม่ได้มาตรฐาน ด้วยคำว่า ความมีอิสระทางวิชาการ ที่ทำให้ขาดระบบระเบียบ ต่างจากโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการควบคุมกระบวนการต่างๆอย่างเข้มงวด

ทั้งนี้ทางเบทาโกรได้เริ่มโครงการกับคณะการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เปิดโอกาสให้อาจารย์ นิสิตนักศึกษาที่มีความสามารถจากหลายๆคณะ ทั้งคณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ เข้ามาทำการวิจัยพื้นฐานเพื่อหากระบวนการที่เหมาะสมทางอุตสาหกรรม เช่น การผลิตไก่ปรุงรสอย่างไรให้ได้ไก่ที่มีรสชาติดีและมีปริมาณสุทธิมากอยู่ ซึ่งจะได้ประสบการณ์ ความรู้ และผลงานกลับไปในขณะที่โรงงานก็ได้วิธีใหม่สำหรับการแข่งขันทางอุตสาหกรรม โดยบริษัทจะให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยทั้งด้านงบประมาณ และการวิเคราะห์ผล

"สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่ หน้างาน จากความร่วมมือของภาคการศึกษาเข้ามาทำงานกับเอกชน และการนำความรู้เข้าสู่ชุมชนที่จะช่วยให้เกิดประโยชน์ยั่งยืน เกิดรายได้เข้าชุมชน เพราะปัญหาที่ผ่านมา คือ เรามองหน้างานใหญ่เกินไป หากเราลองมองให้แคบลง มองจากเรื่องใกล้ๆตัวจะทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น" วนัสทิ้งท้ายในการบรรยายพิเศษ
การบรรยายพิเศษเรื่อง ความสำคัญของงานวิจัยพื้นฐานต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม
บรรยากาศผู้เข้าร่วมรับฟังการบรรยาย







กำลังโหลดความคิดเห็น