ในฟากหนึ่งมีความคิดเห็นว่า การวิจัยสร้างองค์ความรู้เป็นเรื่องจำเป็นเพราะเป็นรากฐานสำคัญในการต่อยอดสู่งานวิจัยประยุกต์เพื่อสร้างรายได้ให้ประเทศ ขณะเดียวกันอีกฟากก็มีความเห็นว่า ประเทศไทยซึ่งไม่ได้ร่ำรวยน่าจะทุ่มเงินวิจัยไปที่งานประยุกต์เพื่อสร้างรายได้มากกว่า
ประเด็นเรื่องควรให้น้ำหนักในการทุ่มงบลงทุนวิจัยลงในงานวิจัยพื้นฐานหรืองานวิจัยประยุกต์เป็นที่ถกเถียงกันไม่รู้จบ และล่าสุดก็เป็นประเด็นที่มีการอภิปรายกันอีกครั้ง ภายในงานสัมมนาวิชาการโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) ครั้งที่ 100 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 ก.ย.57 ณ โรงแรมเดอะสุโกศล โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ศ.ดร.วัลลภ สุระกำพลธร ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง ได้ชี้ให้เห็นว่าโครงการ คปก.นั้นได้สร้างนักวิจัยที่มีกระบวนการวิจัย ซึ่งเมื่อราว 20 ปีก่อบุคลากรทางด้านวิศวกรรมแทบจะไม่รู้จักงานวิจัยละการตีพิมพ์ผลงานวิชาการ ทั้งนี้ ประเทศมีเป้าหมายขยับจากประเทศที่มีเศรษฐกิจขั้นกลางให้สูงขึ้นไป และลดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาประเทศ ซึ่งเชื่อว่าโครงการ คปก.จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำนั้นได้ เพราะนักวิจัยระดับปริญญาเอกคือผู้ที่สามารถสร้างความรู้เองได้
ศ.ดร.วัลลภได้เปรียบเทียบไทยกับเกาหลีเมื่อ 20 ปีที่แล้ว มีเศรษฐกิจอยู่ในระดับเดียวกัน ปัจจุบันไทยมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 5,000 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี แต่เกาหลีมีรายเฉลี่ยอยู่ที่ 13,000 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี ซึ่งไทยมีปัญหาว่า จะขยับระดับเศรษฐกิจขึ้นไปได้อย่างไร สำหรับเกาหลีนั้นมีความเข้มแข็งทางด้านอุตสาหกรรม ขณะที่ไทยไม่มีเป้าหมายเทคโนโลยีชัดเจน มีการพัฒนาเทคโนโลยีในทุกด้านแต่มีข้อสงสัยในเรื่องคุณภาพของเทคโนโลยีเหล่านั้น
ทางด้าน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การวิจัยเป็นการลงทุนไม่ใช่เป็นค่าใช้จ่าย การวิจัยในประเทศที่วัดการลงทุนในสัดส่วนของ (จีดีพี) ไม่ว่าวัดด้วยเกณฑ์ใดก็เป็นการลงทุนในอัตราที่ต่ำทั้งสิ้น ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องเพิ่มสัดส่วนการลงทุนวิจัยให้สูงขึ้น และเป็นการวิจัยประยุกต์เพื่อพัฒนาไม่ใช่เพื่อสร้างองค์ความรู้เพียงอย่างเดียว ดังนั้น จึงต้องออกแบบงานวิจัยตั้งแต่แรก เพราะการวิจัยมีความเสี่ยงตั้งแต่ต้น
หากจะพ้นจากประเทศที่มีเศรษฐกิจระดับกลางจะต้องเพิ่มงานการลงทุนวิจัยและพัฒนา แต่ ดร.สมเกียรติตั้งคำถามว่า การลงทุนแบบไหนที่เหมาะกับไทย พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่าเมืองไทยพูดถึงเรื่องงานวิจัยพื้นฐานที่เน้นการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการและองค์ความรู้มาเป็นเวลาร่วม 20 ปีแล้ว แต่ยังไม่ขยับไปไหน ซึ่งควรต้องจัดลำดับความสำคัญระหว่างงานวิจัยพื้นฐานกับงานวิจัยประยุกต์ใหม่หรือไม่ โดยที่ผ่านมาไทยทุ่มงบลงทุนไปกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่างานวิจัยประยุกต์ ในขณะที่งานวิจัยประยุกต์ที่มีสัดส่วนลงทุนวิจัยน้อยสุดแต่ให้ผลตอบแทนกลับมาสูงสุด
“ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการการวิจัยเป็นอีกประเด็นสำคัญ เมื่อเทียบกับชาติอื่นยังห่างชั้นทำได้เพียง 60-70% ของประเทศที่ทำได้ดีที่สุด เพราะระบบวิจัยของไทยมีปัญหาคล้ายกับระบบการศึกษาที่เติมเงินเข้าไปมากเท่าไรก็ยังไม่ทำให้คุณภาพดีขึ้น นอกจากนี้ยังต้องมีกลไกเชื่อมโยงให้เกิดผลและมีความรับผิดชอบให้คนที่รับเงินมีจิตสำนึกในการสร้างผลงานที่เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติ โครงการของ 6 ส 1 ว ยังห่างไกลจากคำว่าบูรณาการอย่างแท้จริง การจะทำให้พ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางต้องมีการลงทุนวิจัยและพัฒนาแต่ต้องแก้ปัญหาให้ถูกจุด โดยเฉพาะบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการบริหารวิจัย จึงอยากจุดประเด็นให้คิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องทำระบบวิจัยและพัฒนาให้มีความรับผิดชอบ มีประสิทธิภาพ และพร้อมต่อเงินลงทุนใหม่” ดร.สมเกียรติระบุ
ทว่าในมุมของ ศ.ดร.วิชัย ริ้วตระกูล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมทางเคมี ให้ความเห็นว่า การถกเถียงวาควรให้ความสำคัญกับงานวิจัยพื้ฐานหรืองานวิจัยประยุกต์นั้นเหมือนคำถามว่าไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน แต่ในมุมเขาแล้วให้ความสำคัญต่องานวิจัยพื้นฐานมากกว่าและหากไม่พัฒนางานวิจัยพื้นฐานก่อน ย่อมไม่เกิดงานวิจัยประยุกต์ สอดคล้องกับความเห็น ศ.ดร.วัลลภ ที่ระบุว่าการคาดหวังให้อาจารย์มหาวิทยาลัยสร้างนวัตกรรมนั้นเป็นการคาดหวังที่ผิด ควรมีอีกกลไกที่ทำให้คนทำวิจัยเป็นแล้วเข้าสู่กระบวนการต่อไป
"ผมได้ยินเรื่องการสนับสนุนงานวิจัยพื้นฐานมาเกือบ 20 ปีแล้ว ตั้งแต่กลับมาทำงานใหม่ๆ จนตอนนี้ก็ยังพูดกันอยู่ แต่ก็ไม่เห็นว่าเราจะขยับออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (middle income trap) ได้เลย ถามง่ายๆ เลยมีประเทศไหนไหมที่พ้นจากกับดักนี้โดยเน้นวิจัยพื้นฐานอย่างเดียว ไม่รวมประเทศที่มีเศรษฐกิจดีแล้วนะครับ ผมบอกตั้งแต่ต้นแล้วว่าไม่ได้มีปัญหากับการวิจัยพื้นฐาน แต่เราให้น้ำหนักกันไม่ถูกจุด เป็นไปได้ไหมที่จะทำพื้นฐานให้น้อยลง ทำประยุกต์เพิ่มขึ้น ไม่อย่างนั้นท่านก็จะเจอปัญหาเดิมๆ เมื่อถกงบประมาณในสภา เจอคำถามจาก ส.ส.ว่าทำไมมีแต่งานวิจัยขึ้นหิ้ง เราอยู่ในสังคมเปิด คนภายนอกก็อยากรู้ว่างบประมาณที่มาจากภาษีประชาชน ท่านเอาไปทำอะไร ส.ส.นะครับถึงจะมีคนอย่างจ่าประสิทธิ์ แต่เขาก็เป็นตัวแทนของประชาชน บางครั้งสิ่งที่เขาพูดก็มีเหตุมีผล แต่ถ้าท่านต้องการจะอยู่ในสังคมปิด ชื่นชมกันเอง ผมก็ไม่เห็นอนาคตวิทยาศาสตร์ประเทศไทย" ดร.สมเกียรติให้ความเห็น
พร้อมกันนี้ ดร.สมเกียรติได้ใช้เวที คปก. เสนอแนวทางในการสร้างบุคลากรที่มีความสามารถในการทำวิจัยประยุกต์ว่าเมื่อนักศึกษาในโครงการ คปก.จบการศึกษาระดับปริญญาเอกแล้ว ควรให้ไปทดลองงานกับภาคเอกชนเป็นเวลา 2 ปี เพื่อเข้าใจปัญหาของภาคเอกชน แล้วจะเกิดชุดความคิดในการสร้างงานวิจัยประยุกต์ได้ แต่หากให้เข้าสู่ระบบมหาวิทยาลัยเลยก็จะได้นักวิจัยที่มีกระบวนการคิดแค่พัฒนางานวิจัยพื้นฐานอย่างที่เป็นมา
สำหรับโครงการ คปก.เป็นโครงการของ สกว.ที่มุ่งสร้างบัณฑิตระดับปริญญาเอกภายในประเทศให้มีคุณภาพระดับสากล เพื่อยกระดับความสามารถด้านงานวิจัยและความสามารถของอุดมศึกษาของประเทศ เพื่อประหยัดเงินตราต่างประเทศในการส่งนักศึกษาไปเรียนต่อต่างประเทศ โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานกรรมการนโยบาย สกว.เผยว่า ปัจจุบันมีดุษฎีบัณฑิต เกิน 2,000 คน ผลงานตีพิมพ์มากกว่า 5,000 เรื่อง
“หลายคนเชื่อว่าไทยยังไม่พร้อมที่จะผลิตดุษฎีบัณฑิตที่มีคุณภาพเทียบเท่าต่างชาติ แต่บัดนี้เรายืนยันได้ว่าเราสามารถทำได้ คุณภาพการศึกษาไทยมีความเข้มแข็งที่สามารถทำประโยชน์ให้กับประเทศไทยได้ บัดนี้เรามีความพร้อมสูงมากแต่กลับไม่ใช่ประเด็นที่สังคมให้ความสำคัญเพราะยังขาดงบประมาณ และยึดถือแนวทางเดิมที่ส่งคนไปเรียนต่างประเทศ ดังนั้นเราจึงต้องร่วมกันสร้างความสำเร็จให้เกิดขึ้นด้วยตัวเองให้มากที่สุด และทำให้ดียิ่งๆ ขึ้นต่อไป” ศ.ดร.วิจารณ์กล่าว
*******************************
*******************************