xs
xsm
sm
md
lg

รมต.วิทย์ชี้ต้องหนุนให้เอกชนสร้างแล็บวิจัยได้เอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์
“ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์” รัฐมนตรีใหม่กระทรวงวิทย์เข้ามอบนโยบาย ระบุตอนนี้ต้องเน้นงานวิจัยการใช้ประโยชน์มากกว่างานวิจัยพื้นฐาน โดยหนุนให้ภาคเอกชนสร้างลงทุนแล็บทำวิจัยได้เอง งัดมาตรการลดหย่อนภาษี 300% และโครงการเคลื่อนย้ายกำลังพลจากภาครัฐสู่ภาคเอกชน พร้อมจะปฏิรูปวิทยาศาสตร์ให้สำเร็จภายใน 1 ปี



“ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้ามอบนโยบายแก่ผู้บริหารหน่วยงานภายในกระทรวงเมื่อวันที่ 15 ก.ย.57 โดยได้แถลงแก่สื่อมวลชนและทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า นโยบายและเป้าหมายการทำงานของกระทรวงนั้นยึดตามคำแถลงของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต่อสภานิติบัญญัติเมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา

นโยบายของรัฐบาลในเรื่องการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการวิจัยและนวัตกรรม ได้กำหนดเป้าหมายเพิ่มค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาของประเทศให้ได้ 1% ของรายได้ประชาชาติ (จีดีพี) และมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายในส่วนของภาครัฐต่อภาคเอกชน 30:70 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่ง ดร.พิเชฐระบุว่า จะเร่งรัดให้สำเร็จในระยะ 1 ปีภายในปี 2558

“นโยบายในหัวข้อที่ 8 ของรัฐบาลชุดนี้ตั้งใจใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และวิจัยเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม และมีเนื้อหาชัดเจนมากที่สุดเท่าที่เคยมีรัฐบาลชุดก่อนแถลงมา พร้อมกันนี้จะวางรากฐานให้เกิดความยั่งยืนสำหรับรัฐบาลต่อๆ ไป และไม่ใช่แค่บูรณาการภายในกระทรวง แต่จะร่วมงานกับกระทรวงอื่นๆ และเอกชนอย่างใกล้ชิด อีกทั้งช่วยรัฐบาลสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประชาคมโลก โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ดร.พิเชฐ กล่าว

ต่อคำถามว่าควรเน้นการลงทุนวิจัยด้านใดมากกว่าระหว่างการวิจัยพื้นฐานและการวิจัยประยุกต์ รมว.วิทย์ได้ให้ความเห็นว่า คำถามดังกล่าวถามกันมานับ 10 ปี ซึ่งตอนนี้นั้นควรเน้นที่การวิจัยใช้ประโยชน์มาก และการวิจัยพท้นฐานควรเป็นงานที่รองงานวิจัยประยุกต์ ซึ่งปัจจุบันก็มีการลงทุนวิจัยประยุกต์ที่มากกว่าการวิจัยพื้นฐานอยู่แล้ว ในสัดส่วน 80:20

“เป็นอะไรที่จำเป็นต้องเน้นในส่วน 80 ให้มาก ไม่อย่างนั้นสังคมก็จะบอกว่าวิจัยขึ้นหิ้งตลอดเวลา และขณะนี้ต้องเชื่อมโยงมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐให้เชื่อมโยงกับเอกชนเพื่อให้เขาสร้างแล็บได้เอง โดยมีมาตรการสร้างแรงจูงทางภาษี การส่งนักวิจัยของภาครัฐเข้าไปช่วยเอกชน รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ” ดร.พิเชฐกล่าว

ในส่วนของแรงจูงใจทางภาษีนั้นรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์แจกแจงว่าใช้นโยลายลดหย่อนภาษี 300% จากเดิมที่ลดหย่อน 200% ให้แก่เอกชนที่ลงทุนวิจัย ซึ่งได้ทำความเข้าใจแก่คณะกรรมการภายในกระทวงวิทยาศาสตร์แล้ว ต่อไปคือหารือกับกรมสรรพกร และกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ซึ่งมีระเบียบที่สามารถทำได้โดยไม่ต้องร่างกฎหมายใหม่

ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แจกแจงเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่ดำเนินโครงการนี้มีภาคเอกชนมายื่นขอใบรับรองเพื่อหักภาษีกว่า 5,000 โครงการ ซึ่งคิดเป็นมูลค่าโครงการ 8,000 ล้านบาท แต่ควรได้มากกว่า 5-10 เท่า โดย 3 ปีที่ผ่านมามีขอใบรังรองเพิ่มเป็น 2 เท่า เฉพาะปี 2557 มีขอมา 500 โครงการ และอนุมติไปแล้วกว่า 300 โครงการ คาดว่าหากการลดหย่อนเพิ่มเป็น 300% จะทำให้มีโครงการเข้ารับการสนับสนุนเพิ่มขึ้นอีก 3 เท่า

ทั้งนี้ ดร.พิเชฐกล่าวว่า ภารกิจหลักที่ต้องเร่งรัดให้สำเร็จคือการปฏิรูปวิทยาศาสตร์ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น เป็นโครงการที่จัดทำได้อย่างรวดเร็ว ใช้งบน้อยหรือไม่ใช่เลย โดยความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ และการใช้แหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่แล้ว เช่น พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ หอดูดาวแห่งชาติ เป็นต้น ส่วนระยะกลางในระยะ 1 ปี จะนำงานเกี่ยวการปฏิรูปที่ปรากฏในงบประมาณปี 2558 อยู่แล้วมาทำให้ชัดขึ้น เช่น รัฐบาลมีนโยบายเกี่ยวกับผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอีเป็นวาระแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์ก็ต้องมาดูว่ามีอะไรที่ทำให้เอสเอ็มอีเข้มแข็งขึ้น

“สิ่งที่ทำได้คืออยู่ในระดับที่เพิ่มความสามารถในการอัดฉีดเอสเอ็มอีให้ได้มากขึ้น ซึ่งการปฏิรูปในระยะกลางนี้จะเป็นการวางรากฐานแก่รัฐบาลต่อไปในการปฏิรูประยะยาวที่ต้องใช้เวลา 5-10 ปี” ดร.พิเชฐระบุ 
ดรพิเชฐสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
ดร.พิเชฐลงนามในหนังสือรับหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรี






*******************************


*******************************
กำลังโหลดความคิดเห็น