ลอรีอัลมอบทุนเพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์แก่ 5 นักวิจัยหญิงเก่งในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ สาขาวัสดุศาสตร์และสาขาวิทยาศาสตร์เคมี เป็นปีที่ 12 จากผลงานวิจัยพัฒนาจีโนมแบคทีเรียบำบัดสิ่งแวดล้อม, สร้างแผ่นเซลล์กระดูกอ่อนรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม, ออกแบบพิลิเมอร์ลอกแบบจำเพาะสำหรับการตรวจวินิจฉัย, พัฒนาสัสดุนำไฟฟ้าสำหรับเซลล์เชื้อเพลิง และสารประกอบไวแสงแบบอินทรีย์สำหรับเซลล์สุริยะ
บริษัท ลอริอัล ประเทศไทย จำกัด มอบทุน โครงการทุนวิจัยลอริอัลประเทศไทยเพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ (for woman in Science) โดยความร่วมมือของสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งชาติ (ยูเนสโก) แก่ 5 นักวิจัยหญิงไทย ในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ สาขาวัสดุศาสตร์และสาขาวิทยาศาสตร์เคมี เป็นปีที่ 12 เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 57 ณ โรงแรมเรเนซองส์ กทม.
ผู้ได้รับรางวัลใน 3 สาขา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ผศ.ดร. อรฤทัย ภิญญาคง ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร. ขวัญชนก พสุวัต ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ส่วนผู้ได้รับรางวัลในสาขาวัสดุศาสตร์ ได้แก่ ผศ.ดร. วันเพ็ญ เตชะบุญเกียรติ ภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร. พิมพา ลิ้มทองกุล ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และสาขาวิทยาศาสตร์เคมี ได้แก่ ผศ.ดร.พัชณิตา ธรรมยงค์กิจ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผลงานทางด้านวัสดุศาสตร์ที่ทำให้ ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล ได้รับทุนคือผลงานวิจัย "การวิจัยพัฒนาวัสดุนำไฟฟ้าแบบผสมสำหรับแบตเตอรี่และเซลล์เชื้อเพลิง ที่ ดร. พิมพา เผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีมากที่ได้รับทุนในครั้งนี้ เพราะนอกจากเงินทุนที่จะนำไปต่อยอดการทำงานให้ดียิ่งขึ้น อีกสิ่งหนึ่งที่ได้คือโอกาสในการเผยแพร่ผลงาน เพราะงานวิจัยทางด้านวัสดุศาสตร์ทางด้านเซลล์เชื้อเพลิงและแบตเตอรี่ที่มีมานานในประเทศไทยแต่ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย โดยเธอได้พยายามพัฒนาขั้วแบตเตอรี่และขั้วของเซลล์เชื้อเพลิงไฟฟ้าให้มีความจุที่มากขึ้นสำหรับกักเก็บพลังงานลมหรือพลังงานสุริยะที่ไม่ได้มีตลอดเวลา ให้สามารถเก็บพลังงานไว้ใช้ได้มากขึ้น ในขณะที่น้ำหนักและรูปร่างเล็กลง
อีกหนึ่งทุนทางด้านวัสดุศาสตร์ตกเป็นของ ผศ.ดร.วันเพ็ญ เตชะบุญเกียรติ จากผลงาน "การออกแบบพอลิเมอร์ลอกแบบจำเพาะระดับโมเลกุลสำหรับชุดตรวจวิจัย" ที่ ผศ.ดร.วันเพ็ญ อธิบายว่า เป็นการนำความรู้ทางด้านพอลิเมอร์มาใช้ในการตรวจวิเคราะห์โรคฉี่หนู ที่แต่เดิมต้องใช้เวลาตรวจหาเชื้อแบคทีเรียเป็นเวลานานให้สามารถตรวจสอบได้ง่ายและรวกเร็วด้วยชุดการตรวจแบบพกพา ที่เป็นการพัฒนาพอลิเมอร์ลอกแบบจำเพาะและและพอลิเมอร์ที่ว่องไวต่อแอนติเจน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์และผู้ป่วยในระยะยาว
ส่วนผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ผศ.ดร.อรฤทัย ภิญญาคง คือ ผลงาน"การวิจัยการวิเคราะห์จีโนมของแบคทีเรียย่อยสลายน้ำมันปิโตรเลียม ที่คัดแยกใหม่เพื่อพัฒนานวัตกรรมฐานแบคทีเรียสำหรับบำบัดสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน" ที่เป็นการใช้เทคโนโลยีทางด้านจุลชีววิทยาเพื่อศึกษาถึงลักษณะของจีโนมของเชื้อจุลินทรีย์ เพื่อใช้ประโยชน์ในการบำบัดและย่อยสลายสารปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนที่อาจทำให้เกิดปัญหามลพิษในสิ่งแวดล้อม และ รศ.ดร.ขวัญชนก พสุวัต จากผลงานวิจัย "การสร้างแผ่นเซลล์กระดูกอ่อนเพื่อใช้ในการรักษาโรคข้อเสื่อม"ที่เป็นการสร้างเนื้อเยื่อกระดูกอ่อนจากเซลล์กระดูกจริงของผู้ป่วยเพื่อรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่สำหรับการรักษาในอนาคต
สำหรับด้านวิทยาศาสตร์เคมี ได้แก่ ผศ.ดร.พัชณิตา ธรรมยงค์กิจ จากผลงานวิจัย "การพัฒนาสารประกอบไวแสงชนิดอินทรีย์สำหรับเซลล์สุริยะและตัวเร่งปฏิกริยาชนิดอาศัยแสง" ที่ ผศ.ดร.พัชณิตา เผยว่า เป็นการพัฒนาสารประกอบอินทรีย์ชนิดใหม่สำหรับแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูดกลืนแสงได้ดีกว่าแผงโซลาร์เซลล์แบบปกติ และสามารถพับงอได้ เคลื่อนที่ได้และนำมาประยุกต์ใช้เป็นอุปกรณ์รับแสงที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นกว่าเดิม
ท้ายสุด สิตานัน สิทธิกิจ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กรและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า ในโอกาสครบ 12 ปีของโครงการฯ ลอรีอัล ประเทศไทย ได้เตรียมขยายผลโครงการ “For Women in Science” ไปสู่โครงการ “For Youth in Science” (เพื่อนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่) เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนวิทยาศาสตร์ในกลุ่มเด็กนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งเป็นวัยสำคัญในการสนใจเลือกเรียนวิชาที่ตนเองชื่นชอบ โดยลอรีอัลจะเชิญนักวิจัยผู้ที่ได้รับทุนแต่ละปีไปร่วมสร้างความสนใจในการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ผ่านกิจกรรมที่สนุกสนาน เพื่อเป็นการร่วมสร้างบุคลากรสู่วงการวิทยาศาสตร์ที่กำลังเป็นที่ต้องการอยู่ในขณะนี้ให้กับประเทศไทยต่อไป