xs
xsm
sm
md
lg

ตรวจเลือดหามะเร็งต่อมลูกหมากจากอนุภาคนาโนทองคำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - นักวิจัยหญิงชาวจีนเป็นหัวหน้าคณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเซ็นทรัลฟลอริด้า หรือ ยูซีเอฟ พัฒนาวิธีการตรวจเลือดโดยใช้อนุภาคนาโนของทองคำ เพื่อหาความเสี่ยงการเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก และโรคมะเร็งชนิดอื่น

แม้การคิดค้นพัฒนานี้ยังเป็นการทดลองในขั้นต้น แต่ฉวิน “ทรีน” หัว ( Qun “Treen" Huo) สตรีชาวมณฑลหูหนัน วัย 46 ปี ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ปรจะศูนย์เทคโนโลยีวิทยาศาสตร์นาโน ประจำภาควิชาเคมีของยูซีเอฟ ก็คาดหวังว่า สักวันหนึ่งจะมีการตรวจเลือดด้วยวิธีการนี้ตามโรงพยาบาลและมีการจำหน่ายอุปกรณ์การตรวจตามร้านเภสัช

หัวระบุว่า คณะนักวิจัยต้องการพัฒนาการตรวจคัดกรองผู้มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป โดยหากตรวจพบว่า ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายมีการเคลื่อนไหวผิดปกติ ทั้งที่คนผู้นั้นไม่เจ็บป่วยอะไร ก็ย่อมแสดงว่า คนผู้นั้นมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งได้สูง

มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นโรคมะเร็งชนิดหนึ่งที่พบมากที่สุดในหมู่ผู้ชายในสหรัฐฯ โดยจากข้อมูลของสมาคมโรคมะเร็งแห่งอเมริการะบุว่า ในปีนี้มีผู้ชายกว่า 220,000 คนจะได้รับการวินิจฉัยว่า ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก และเกือบ 27,500 คนจะเสียชีวิตด้วยโรคนี้ ขณะที่ผู้ชายราว 3 ล้านคน ที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบันได้รับการตรวจวินิจฉัยว่า เป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในระดับหนึ่งแล้ว

อนุภาคนาโนทองคำถูกนำมาใช้กันอย่างกว้างขวางในทางชีวการแพทย์ เนื่องจากมีคุณสมบัติในการกระจายตัวที่เบา ซึ่งช่วยทำให้การติดตามค้นหาร่องรอยต่าง ๆ ทำได้ง่าย โดยการวิจัยนี้ได้ผสมเลือด 2-3 หยดกับอนุภาคนาโนทองคำ เมื่ออนุภาคนาโนผสมอยู่ในเลือด มันจะดึงดูดโปรตีน รวมทั้งสารภูมิคุ้มกัน หรือแอนติบอดี

ภายหลังจากได้ทำการทดลอง คณะนักวิจัยของหัวก็พบว่า สารภูมิคุ้มกันเหล่านี้มีบางตัว ที่เกิดขึ้นจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเนื้องอก ที่เกิดขึ้นในระยะแรก


หัวและคณะนักวิจัยของเธอพบว่า หลังจากใส่สารเคมีบางชนิดในเลือดที่ผสมนี้ อนุภาคนาโนทองคำซึ่งมีสารภูมิคุ้มกัน ที่เกิดขึ้นจากการมีเนื้องอก จะจับตัวกัน เกิดเป็นก้อนขนาดใหญ่ ก้อนเหล่านี้ไม่พบในตัวอย่างจากคนที่ไม่มีมะเร็ง

ด้านดร.เลน ลิชเตนเฟลด์ รองหัวหน้าฝ่ายการแพทย์ของสมาคมโรคมะเร็งแห่งอเมริกา ซึ่งไม่เข้าร่วมในการทำวิจัยชิ้นนี้ ระบุว่า เป็นงานวิจัยที่มีความน่าสนใจในแง่ของเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีขั้นตอนอีกมากกว่าจะสามารถนำสิ่งที่ค้นพบในห้องปฏิบัติการ มาใช้กับผู้คน

งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานโครงการวิจัยป้องกันโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก และมีการพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Applied Materials and Interfaces


กำลังโหลดความคิดเห็น