ล็อกซเล่ย์ จับมือ สวทช. ปฏิวัตินวัตกรรมเดินหน้าผลิตยานยนต์ไฟฟ้า มุ่งพัฒนาอุปกรณ์แบตเตอรี่, ระบบชาร์จไฟ, ระบบเบรคไฟฟ้า สู่พาหนะทางเลือกใหม่ไร้มลพิษตามกระแสสังคมโลก คาดอีก 2 ปีคนไทยได้ใช้รถบัสไฟฟ้าเต็มรูปแบบ และจะมีโรงงานผลิตชิ้นส่วนเองภายใน 5 ปี พร้อมดันไทยเป็นศูนย์กลางยานยนต์อาเซียน
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลนีแห่งชาติ (สวทช.) จับมือ บ. ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ณ ห้องโถง ทาวเวอร์ซี อาคารกลุ่มนวัตกรรม 2 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
ดร. ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลนีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า การวิจัยและพัฒนายานยนต์เป็นนโยบายที่ สวทช. สนับสนุนและดำเนินการวิจัยอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นนวัตกรรมสะอาดตอบโจทย์ทางด้านสิ่งแวดล้อม และความต้องการของสังคมได้เป็นอย่างดี ประกอบกับเมื่อช่วงปีที่ผ่านมา ทาง สวทช.ได้พูดคุยกับมหาวิทยาลัยในประเทศเยอรมนี ที่มาตั้งโรงงานเกี่ยวกับยานยนต์ที่ประเทศสิงคโปร์ จึงได้ร่วมกับ บ.ล็อกซเล่ย์ ที่มีนโยบายเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าอยู่แล้วเข้าพูดคุยและหารือ จากนั้นจึงเกิดเป็นโครงการความร่วมมือกันระหว่าง สวทช. ที่มีความพร้อมด้านการวิจัยจากบุคลากร และ บ. ล็อกซเล่ย์ ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านธุรกิจ
ในส่วนของการพัฒนาชิ้นงาน ดร.ณรงค์ ระบุว่า สวทช.มีงานวิจัยเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าอยู่แล้วบางส่วน อาทิ การออกแบบมอเตอร์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า การออกแบบอินเวอร์เตอร์สำหรับควบคุมมอเตอร์ และระบบแอร์ในรถไฟฟ้า การวิเคราะห์การใช้งานแบตเตอรี่ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพการออกแบบระบบระบายความร้อนมอเตอร์และแบตเตอรี่ อีกทั้งรถยนต์ประหยัดพลังงานที่มีใช้ในปัจจุบันบางยี่ห้อ สวทช.ก็เริ่มนำมาดัดแปลงทดลองใช้เป็นยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับขับในสำนักงานอีกด้วย
"สวทช. มีความพร้อมในการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในหลายๆด้าน ทั้งทางด้านบุคลากรและห้องปฏิบัติเพราะเรามีศูนย์เทคโนโลนีและวัสดุแห่งชาติ หรือ เอ็มเทค ที่ดูแลโดยตรง ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อต้นปีเราได้เริ่มลองใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ดัดแปลงจากรถอีโคคาร์ธรรมดามาใช้ชิ้นส่วนแบตเตอรี่ที่เราพัฒนาขึ้น โดยยานยนต์ไฟฟ้าที่ทำขึ้นก็มีสมรรถนะดี สามารถวิ่งได้ไกลถึง 120 กิโลเมตรต่อการชาร์จแบตเตอรี่ 1 ครั้ง เป็นยานยนต์พลังงานสะอาดที่มีแนวโน้มจะได้รับความนิยมมากขึ้นในอนาคต เพราะนอกจากจะเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงปัญหาน้ำมันราคาแพงยังเป็นนวัตกรรมที่ช่วยเหลือสิ่งแวดล้อม เพราะไม่ก่อให้เกิดมลพิษจากไอเสียอีกด้วย" ดร. โกศล เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
ทางด้าน ธงชัย ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บ. ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บ.ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ให้ความสำคัญทางด้านยานยนต์และพลังงานมาตลอด ทั้งพลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานจากขยะ พลังงานจากสาหร่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านพลังงานไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยพัฒนายานยนต์รูปแบบใหม่ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย การร่วมมือในครั้งนี้มีกำหนดเวลา 5 ปี แต่คาดหวังไว้ว่าภายในอีก 2 ปีข้างหน้า คนไทยจะได้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ไม่ใช่แบบลูกผสมหรือ ไฮบริดแบบที่เห็นในปัจจุบัน โดยเฉพาะยานยนต์ประเภทรถบัสความยาว 12 เมตร บรรทุกได้ 25 ที่นั่งที่จะออกมาสู่สายตาประชาชนก่อนแบบอื่น เพราะมีฐานความต้องการในทางการตลาดอยู่แล้ว และภายใน 5 ปีคาดว่าจะมีโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ
"นอกจากจะเป็นการผลิตเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่คนในประเทศแล้ว ยังถือว่าเป็นก้าวใหม่ของอาเซียนอีกด้วย เพราะถ้าโครงการนี้ประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดีและมีผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่หลากหลายและเป็นที่ต้องการของตลาด แน่นอนว่าประเทศไทยจะก้าวขึ้นเป็นที่ 1 ของอาเซียนทางด้านยานยนต์ หรือที่เรียกว่าเป็นฮับของอาเซียนได้อย่างแน่นอน" นายธงชัย กล่าวบนเวที
เช่นเดียวกับ ดร.โกศล สุรโกศล ที่ปรึกษาสำนักกรรมการผู้จัดการใหญ่ บ.ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) เผยว่า บริษัทพร้อมที่จะดำเนินการผลิตและเดินหน้าทางธุรกิจยานยนต์รูปแบบใหม่ เพื่อเปิดช่องทางทางธุรกิจและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไปด้วยในขณะเดียวกัน การเข้ามาจับมือกับหน่วยงานทางภาครัฐ อย่าง สวทช.ที่มีความพร้อมในเรื่องการคิดค้นและพัฒนาย่อมเป็นการร่วมมือที่ตรงเป้าหมายเพราะตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในต่างประเทศกำลังเดินหน้าไปได้สวย ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ในเปอร์เซ็นที่ต่ำมาก เพราะแทบไม่มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเลย นอกจากองค์กรหรือ สถานศึกษาบางแห่งที่ใช้เป็นรถรับส่งภายใน
ดร.โกศล อธิบายเพิ่มเติมว่า ยานยนต์ไฟฟ้าที่จะพัฒนาขึ้นในอนาคตไม่เพียงแต่จะออกมาในรูปแบบของรถบัสเท่านั้น แต่รถเก๋ง รถมอเตอร์ไซค์ สกูตเตอร์ก็รวมอยู่ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องของอนาคตเพราะในขณะนี้มีแค่เพียงการดำเนินการในส่วนของโครงสร้าง และเครื่องมือที่สำคัญอย่างแบตเตอรี่และวงจรต่างๆ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากในการนำมาประกอบเป็นยานยนต์ไฟฟ้าแบบสมบูรณ์แบบ การเข้ามาร่วมมือกันของทั้งสององค์กรจึงเป็นสิ่งที่ควรรีบดำเนินการ และถ้าหากจะมีหน่วยงานอื่นๆหรือรัฐบาลยื่นมือเข้ามาให้การสนับสนุนด้วยก็ยิ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี
ดร.โกศลยกตัวอย่างประเทศจีนที่ทางรัฐบาลเข้ามาสนับสนุนการพัฒนาไปจนถึงการนำมาใช้จริงในกลุ่มรถแท็กซี่ถึง 50% ทำให้จีนเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางยานยนต์ไฟฟ้า และมีการใช้อย่างแพร่หลายที่สุดในโลกก็ว่าได้ แต่ผมยังไม่อยากให้มองไกลไปถึงขั้นรถยนต์ส่วนตัว ที่ควรเร่งทำตอนนี้คือการส่งเสริมอุปกรณ์ทั้งระบบไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี่ ระบบเบรค ระบบชาร์ตให้ดีเสียก่อน รวมถึงการศึกษาวิจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม คาร์บอนฟุตปริ้นท์ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เพื่อให้ยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังค่อยๆ ก่อตัวขึ้นเป็นนวัตกรรมที่ให้ประโยชน์แก่สังคมอย่างแท้จริง
"หากการดำเนินงานเป็นไปตามแผนความร่วมมือ และประสบความสำเร็จ มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยได้มาตรฐาน ผมเชื่อว่าในอนาคตยานยนต์ไฟฟ้าจะมีบทบาทในสังคมไทยมากทีเดียว คนไทยที่ไม่นิยมใช้รถที่ทำในไทยก็จะหันมาใช้มากขึ้น เพราะเป็นการช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและคุ้มค่ากว่าการใช้น้ำมัน แต่อย่างไรก็ดีการออกแบบรูปลักษณ์และการสร้างค่านิยมก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นที่นิยม" ดร.โกศล เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
ดร. ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล รองผู้อำนวยการ สวทช.
ดร.โกศล สุรโกศล ที่ปรึกษาสำนักกรรมการผู้จัดการใหญ่ บ.ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน)