xs
xsm
sm
md
lg

จากไร่ฝิ่นสู่ต้นแบบการจัดการน้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ เป็นประธานในพิธีเปิด พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริชุมชนบ้านห้วยปลาหลด
เมื่อคนกับป่าจำเป็นต้องอยู่ร่วมกัน แนวทางเช่นไรจึงจะทำให้ทั้งคู่ไดประโยชน์ ?? .. "เปลี่ยนชีวิตมูเซอดำ" .. พลิกแผ่นดินบ้านห้วยปลาหลด จ.ตากจากไร่ฝิ่นภูเขาหัวโล้นสู่ชุมชนต้นแบบการจัดการน้ำและแปลงเกษตรทำเงิน ด้วยค่านิยมคนรักษ์ป่าพัฒนาน้ำอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ


ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า เมื่อ 40 ปีก่อนชุมชนบ้านห้วยปลาหลด อ.แม่สอด จ.ตาก มีสภาพเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม เนื่องจากการเผาและตัดไม้ทำไร่เลื่อยลอยเพื่อปลูกฝิ่นและข้าวโพดของชาวเขาเผ่ามูเซอ กลายสภาพเป็นภูเขาหัวโล้นจนแทบไม่เหลือพื้นที่ป่า ที่นอกจากจะเป็นการทำลายธรรมชาติจนสภาพดินเสื่อมสภาพแล้ว ยังเป็นการกระทำที่ผิดกฏหมาย

ดร.สุเมธเผยถึงจุดเปลี่ยนของชุมชนว่า ในปีพ.ศ.2527 กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ขอคืนพื้นที่จากชุมชนบ้านห้วยปลาหลด เพื่อดำเนินการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ แต่ชุมชนไม่สามารถย้ายไปตั้งถิ่นฐานที่ไหนได้อีก เพราะพื้นที่อื่นล้วนถูกชาวเขาเผ่าอื่นจับจองหมดแล้ว ชุมชนจึงขอตกลงกับอุทยานฯหยุดการทำไร่เลื่อนลอย และเป็นจุดเริ่มต้นให้ชุมชนหันมาให้ความสนใจกับป่าของตน เริ่มจากการปลูกป่าไผ่และสร้างป่าชุมชนขึ้น แล้วร่วมกันดูแลอนุรักษ์ป่าต้นน้ำให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง

"แต่ว่าการฟื้นฟูป่าอย่างเดียวไม่ได้ทำให้ชาวบ้านมีกิน จึงต้องคิดต่อไปว่าจะฟื้นฟูยังไงให้ได้ทั้งป่าคืนมาแล้วก็ได้เงินงอกเงยด้วย" ดร.สุเมธ กล่าว

ดร.สุเมธเล่าว่า ในเดือนม.ค. ปี 2517 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรชุมชนบ้านห้วยปลาหลดและทรงมีพระกระแสรับสั่งให้ชาวบ้านปลูกพืชที่ทำรายได้ทดแทนฝิ่น และส่งเสริมให้ปลูกและจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรของชุมชนเพื่อเสริมสร้างรายได้ เป็นแรงบันดาลใจให้ชาวบ้านวางมือจากฝิ่นหันมาปลูกกาแฟพันธุ์ผสมในพื้นที่ป่ารวมถึงพืชผักตามฤดูกาลหลายชนิด ควบคู่กับการบริหารจัดการน้ำที่เป็นอีกปัจจัยหลักในการทำเกษตรกรรม

วัลลภา ถนอมพงศ์ดี หรือ นะอือ ชาวเขาเผ่ามูเซอเชเล ประธานกลุ่มเยาวชนบ้านห้วยปลาหลด กล่าวว่า ที่ผ่านมาชุมชนบ้านห้วยปลาหลดอยู่ภายใต้กติกาแนวคิดภูมิปัญญาท้องถิ่นในการอนุรักษ์ดินป่าน้ำ ที่ไม่ใช่การใช้ประโยชน์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการใช้อย่างรู้คุณค่าทำให้ป่าในชุมชนเป็นศูนย์รวมของทุกอย่าง ทั้งการทำมาหากินจากความหลากหลายของพืชและสัตว์ เป็นแหล่งอาหาร เป็นแหล่งน้ำที่ชาวบ้านทุกคนได้ใช้ประโยชน์ โดยในชุมชนยังมีกฏเหล็กว่าหากใครทำลายหรือตัดต้นไม้จะถูกปรับแปลงละ 5,000 บาทอีกด้วย

วัลลภาระบุว่า พื้นที่ชุมชนบ้านห้วยปลาหลด ใช้แนวคิดในการบริหารจัดการป่าและน้ำโดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ที่สามารถแบ่งได้เป็น 5 สถานีย่อย

สถานีที่ 1 ระบบนิเวศน์ป่าต้นน้ำ ตั้งอยู่ที่บริเวณต้นน้ำมีการสร้างฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริและฝายคอนกรีตกว่า 400 ฝายในพื้นที่ป่าชุมชน 14,500 ไร่ ที่ไม่ใช่การกักน้ำแต่เป็นการทำให้น้ำไหลช้าลง เพื่อคงความชุ่มชื้นของผืนป่า และยืดเวลาให้น้ำอยู่ในพื้นที่นานมากขี้น

สถานีที่ 2 แปลงวนเกษตรเพื่อการเรียนรู้ ตั้งอยู่ที่บริเวณกลางน้ำ มีการทำวนเกษตรปลูกพืชหมุนเวียนในพื้นที่ป่า ที่จะสับเปลี่ยนกันไปในแต่ละช่วงของปีไม่ว่าจะเป็นลูกเนียง ต๋าวหรือลูกชิด เสาวรส กาแฟ ไผ่ลาย อะโวคาโด สะบ้า ผักกูด เพื่อสร้างความสมดุลของระบบนิเวศและเสริมสร้างรายได้ตลอดปี

ส่วนที่บริเวณปลายน้ำ เป็นที่ตั้งของสถานีที่ 3 การบริหารจัดการน้ำ และสถานีที่ 4 แปลงเกษตรผสมผสาน มีการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้พลังงานน้ำเพื่อการปั่นไฟขนาด 3 กิโลวัตต์บริเวณท้ายโรงเรียนบ้านห้วยปลาหลดเพื่อใช้ในชุมชน มีการวางระบบท่อส่งน้ำภูเขาเข้าสู่แหล่งสำรองน้ำของชุมชนเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภคในครัวเรือน การกระจายน้ำเข้าสู่แปลงเกษตรด้วยระบบท่อสปริงเกอร์ขนาดเล็กรองนับพื้นที่การเกษตร 150 ไร่

ทางด้านไพรัชต์ กีรติยุคีรี ชาวมูเซอดำ หัวหน้าชุมชนบ้านห้วยปลาหลดเผยถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้นว่า จากการปฏิบัติตามแนวพระราชดำริ ทำให้พื้นที่ที่เคยมีสภาพเสื่อมโทรมกลายเป็นภูเขาหัวโล้นเหมือนผืนดินไร้ประโยชน์ กลับมาเป็นป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์อีกครั้ง มีแหล่งน้ำไว้ให้ใช้ดื่มกิน พืชพันธุ์ไม้ต่างๆเจริญได้ผลตามที่ต้องการตลอดปี มีความหลากหลายชีวภาพสูงเพราะเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหายาก อาทิ นกป่า เก้ง ลิง เขียดแลว

สำคัญที่สุดคือ ทำให้ชาวบ้านมีกินมีใช้จากพืชเศรษฐกิจที่ปลูกขึ้นทั้งกาแฟอาราบิก้า หน่อไม้ มะขามป้อม และฟักแม้วที่จะถูกนำไปจำหน่ายที่ตลาดมูเซอ ตลาดที่เป็นแหล่งรองรับผลิตผลทางการเกษตรโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง สร้างรายได้เฉลี่ยในครัวเรือนสูงถึง 20,000-35,000 บาทต่อเดือน ซึ่งพอเพียงสำหรับการใช้จ่ายในครัวเรือนทำให้คนในพื้นที่ไม่จำเป็นต้องออกไปทำงานยังพื้นที่ห่างไกล หัวหน้าชุมชนบ้านห้วยปลาหลดเผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ระบุว่า ความสำเร็จที่ได้มาจากความสมัครสมานสามัคคีและความแน่วแน่ของคนในชุมชน ทำให้ชุมชนบ้านห้วยปลาหลดได้รับรางวัลดีเด่นในการประกวดโครงการการจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ในปี 2550 ประกอบกับผลสัมฤทธิ์ที่ได้พิสูจน์แล้วว่า "คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างสร้างสรรค์" ทำให้ชุมชนบ้านห้วยปลาหลดได้รับเลือกจากมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับอุทยานแห่งชาติตากสินมหาราชให้เป็น "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริชุมชนบ้านห้วยปลาหลด" เพื่อเป็นแบบอย่างให้ชุมชนอื่นมาศึกษาเรียนรู้ได้ โดยใช้พื้นที่จริงของชุมชนในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำ ที่มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 26 ก.ค 57 ที่ผ่านมา

ดร.สุเมธ อธิบายถึงความสำคัญของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ฯแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า เมื่อ 3 ปีก่อนผมได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระองค์รับสั่งชัดเจนว่าชุมชนที่ประสบความสำเร็จแล้วต้องช่วยเหลือชุมชนอื่นต่อ การตั้งชุมชนบ้านห้วยปลาหลดให้เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำฯ จะเป็นฐานข้อมูลที่ดีให้ชุมชนอื่นได้ศึกษา เหมือนเพื่อนช่วยเพื่อน ชุมชนช่วยชุมชน ที่เป็นการกระตุ้นจิตสำนึกให้ไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน จนชุมชนที่ยังคงประสบปัญหาอยู่สามารถดูแลตัวเองและอยู่แบบพอเพียงได้

"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้สอนให้จนนะ ความพอเพียงไม่ได้แปลว่าพวกเราจะต้องจน แต่พระองค์สอนให้รู้ว่ารวยอย่างไรถึงจะยั่งยืน สอนให้รู้จักการแบ่งปันและสอนให้รู้ว่าจะมีความสุขกับสิ่งเท่าที่มีได้อย่างไร"ดร.สุเมธ กล่าวทิ้งท้าย


ฝายต้นน้ำตามแนวพระราชดำริ

ฝายคอนกรีต ถูกสร้างขึ้นเป็นระยะเพื่อเก็บกับความชุ่มชื้นของผืนป่า
ฝายคอนกรีต ถูกสร้างขึ้นเป็นระยะเพื่อเก็บกับความชุ่มชื้นของผืนป่า
นางนะโบ คงคาอนุรักษ์  ชาวมูเซอดำ เกษตรกรผู้ปลูกพืชแบบวนเกษตร
ผลผลิตที่ได้จากการทำวนเกษตรหมุนเวียนอาทิ พริก ลูกต๋าว เสาวรส แครอท ผักกูด ฟัก
เมล็ดกาแฟอาราบิก้า หนึ่งในพืชเศรษฐกิจสร้างรายได้
ประปาหมู่บ้าน
แหล่งน้ำบริเวณต้นน้ำ ที่นอกจากจะใช้ดื่มกินอุปโภคบริโภคแล้ว ยังเป็นพื้นที่กันแนวไฟป่าชั้นดี
ระบบท่อขนาดเล็ก ช่วยกระจายน้ำเข้าสู่แปลงเกษตร
นะอือ วัลลภา ถนอมพงศ์ดี ชาวเขาเผ่ามูเซอเชเล ประธานกลุ่มเยาวชนบ้านห้วยปลาหลด
บรรดาหญิงสาวต่างพากันแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่ามูเซอดำ เพื่อร่วมพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำฯ
ไพรัชต์ กีรติยุคีรี ชาวมูเซอดำ หัวหน้าชุมชนบ้านห้วยปลาหลด
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กล่าวให้โอวาทในพิธีเปิดฯ
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ร่วมรับฟังการบรรยายจากหัวหน้าชุมชนในโอกาสพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำฯ
ดร.สุเมธ จันติเวชกุล ถ่ายภาพร่วมกับชาวมูเซอดำ
ชาวบ้านชุมชนใกล้เคียง และผู้ที่สนใจเข้าร่วมพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำฯ
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล รับฟังปัญหาและให้คำแนะนำแก่ชาวบ้านชุมชนห้วยปลาหลด อย่างใกล้ชิด






*******************************


*******************************
กำลังโหลดความคิดเห็น