xs
xsm
sm
md
lg

“เล่นดิน” ตรวจคุณภาพดินก่อนปลูกเทคโนโลยีน่าลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ซ้ายไปขวา) สมาชิกทีมพัฒนาเครื่องเล่น-ดิน นายอรัญ ตันตยานนท์, นายอานนท์ บุณยประเวศ พร้อมเครื่องต้นแบบสำหรับวัดดิน และ นายศรัญญู รุ่งตระกูล พร้อมแอปพลิเคชันประมวลผลจากเครื่องเล่นดิน ซึ่งปัจจุบันใช้งานเฉพาะวินโดว์โฟน และอยู่ระหว่างการพัฒนาสำหรับแอนดรอยด์ที่ใกล้จะแล้วเสร็จ และอนาคตจะพัฒนาเพื่อใช้งานสำหรับไอโอเอสต่อไป
หลังจากรวมตัวเข้าร่วมโครงการประกวดเกี่ยวกับความมั่นคงอาหารและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของบริษัทไอทียักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง พวกเขาก็มองหาต้นตอปัญหาของความมั่นคงทางอาหาร และได้แนวพระราชดำรัสชี้ทางว่า “ดิน” คือสิ่งกำหนดคุณภาพของพืชและเนื้อสัตว์ที่เป็นอาหาร แต่เกษตรกรกลับรู้จักดินของตัวเอง ทำให้ได้ผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร

“เล่นดิน” (Len-Din) เป็นเครื่องมือตรวจสอบคุณภาพดินที่วิเคราะห์ว่า ดินในพื้นที่ตรวจสอบนั้นเหมาะแก่การเพาะปลูกพืชชนิดใด และต้องปรับปรุงดินด้วยการเติมธาตุอาหารให้เหมาะสมแก่พืชที่ต้องการเพาะปลูกอย่างไร ซึ่งเป็นผลงานที่จะเกิดจากความร่วมมือของนักศึกษาจาก 5 มหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร มหาวิทยาลัยศรีปทุม สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล

ศรัญญู รุ่งตระกูลชัย นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เล่าให้ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ฟังถึงจุดเริ่มต้นในการพัฒนาเครื่อง “เล่นดิน” ว่า เขาและนักศึกษาจากสถาบันอื่นๆ รวมตัวกันในการประกวดนวัตกรรมของบริษัทไอทียักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง ในหัวข้อเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และได้มองหาว่าอะไรคือ “ปัญหา” ของความมั่นคงอาหาร

“เราพบว่าพืชผลหรือเนื้อสัตว์ต่างๆ นั้นมาจากการเกษตร ถ้าเกษตรกรเพาะปลูกพืชแล้วได้ผลผลิตไม่ดี ก็ทำความมั่นคงทางอาหารสั่นคลอน สิ่งที่เป็นตัวกำหนดว่าเกษตรกรจะได้ผลผลิตดีหรือไม่คือดิน แล้วเราก็ได้รู้จักโครงการแกล้งดินของในหลวงซึ่งเป็นโครงการปรับปรุงดิน ในหลวงทรงมีพระราชดำรัสว่าเมื่อดินดีก็ทำให้ปุ๋ยทำงาน เมื่อปุ๋ยทำงานก็จะได้ผลผลิตที่ดี เราอยากเดินตามแนวทางของพระองค์” ศรัญญูเป็นตัวแทนสมาชิกบอกถึงที่มาและแรงบันดาลใจในการพัฒนาอุปกรณ์ตรวจคุณภาพดิน

ทีมพัฒนาอธิบายต่ออีกว่าคนทั่วไปโดยเฉพาะเกษตรกรนั้นไม่ค่อยรู้จักดินของตัวเองที่ใช้เพาะปลูก และใช้ดินไม่ถูกต้อง เช่น ทำนาเสร็จและเผาดิน ทำให้ดินไม่ดี พืชที่ปลูกต่อไปก็ไม่แข็งแรง และใส่ปุ๋ยเคมีตามคำแนะนำของตัวแทนจำหน่ายปุ๋ย โดยไม่เข้าใจความต้องการที่แท้จริงของพืช เพราะพืชแต่ละชนิดต้องการปริมาณปุ๋ยที่ต่างกัน บางครั้งใส่ปุ๋ยมากเกินไปก็ทำให้พืชโตไม่ดี

“อุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นนั้นเราต้องการให้เกษตรกรรู้จักดิน และให้ความรู้แก่เกษตรกร โดยมุ่งไปที่การเพาะปลูกพืชไร่ทั้งหมด ซึ่งวิธีใช้งานนั้นให้เกษตรกรสุ่มเก็บตัวอย่างแต่ละจุดให้ทั่วพื้นที่เพาะปลูกแล้วนำมาคลุกผสมกันก่อนตัววัดด้วยเครื่อง จากนั้นเครื่องจะประมวลผลแล้วส่งสัญญาณผ่านบลูทูธไปยังแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟน แล้ววิเคราะห์ว่ามีดินมีธาตุอาหารอะไรบ้าง แล้วถ้าสนใจเพาะปลูกพืชชนิดไหนจะต้องเติมธาตุอาหารอะไรบ้างในปริมาณเท่าไร” อานนท์ บุณยประเวศ สมาชิกทีมจากคณะวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุมอธิบาย

ทีมพัฒนาอธิบายอีกว่าการพัฒนาอุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพดินนี้มีแนวคิดในการทำงานคล้าย “ปุ๋ยสั่งตัด” แต่ลดระยะเวลาและกระบวนการในการวิเคราะห์ดินให้น้อยลง จากปกติที่เกษตรต้องรวบรวมดินส่งไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจ ก่อนวิเคราะห์สูตรปุ๋ยที่เหมาะสมกับพื้นที่และพืชที่ต้องการปลูก เปลี่ยนมาเป็นการตรวจวิเคราะห์ได้ด้วยตัวเองผ่านอุปกรณ์ “เล่นดิน” นี้

ปัจจุบันความแม่นยำของเครื่องมืออยู่ที่ 75% แต่ทีมพัฒนาตั้งเป้าไว้ที่ 90% ภายในปี '58 ซึ่งความแม่นยำนี้ขึ้นอยุ่กับเซนเซอร์และการวัด ซึ่งเครื่องทำการวัดโดยอาศัยสัญญาณทางไฟฟ้าร่วมกับสัญญาณจากการทำปฏิกิริยาเคมี ซึ่งต่างจากเครื่องมืออื่นๆ ที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ที่วัดเพียงสัญญาไฟฟ้าอย่างเดียว โดยได้นำเซนเซอร์ที่พัฒนาขึ้นโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) มาพัฒนาต่อยอดเป็นอุปกรณ์ชิ้นนี้  

ทีมพัฒนาตั้งราคาของเครื่องเล่นดินไว้ที่ 8,500 บาท และมองว่าเป็นราคาที่เกษตรกรรับได้ เพราะโครงการปุ๋ยสั่งตัดช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตลงได้ถึง 20% ยกตัวอย่างการปลูกข้าวจะช่วยให้เกษตรกรได้กำไรจากการลดตุ้นทุนถึงไร่ละ 3,000 บาท และยังมีกลุ่มเป้าหมายที่เป็น “ชาวนาวันหยุด” หรือกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ที่สนใจใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการผลิตมากขึ้น

ล่าสุด “เล่น-ดิน” ได้รับรางวัล Investor Award จากการนำเสนอผลงานนี้ภายในงาน “เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยีพบนักลงทุน” ที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง บริษัท สามารถคอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เมื่อวันที่ 18 ก.ย.57 ณ โรงแรมโซฟิเทล กรุงเทพ สุขุมวิท และเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของโครงการ “เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี” เพื่อเฟ้นยอดนักคิดนักพัฒนานวัตกรรมต้นแบบ ภายใต้รางวัล  SAMART Innovation Award ประจำปี 2014 ซึ่งอยู่ระหว่างการเฟ้นหา

ติดตามผลงานของพวกเขาได้ที่
https://www.facebook.com/LenDinProject







*******************************

กำลังโหลดความคิดเห็น