xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.ลุยสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2 พันเมกะวัตต์ที่สงขลา ชาวบ้านหวั่นก่อมลพิษทำลายแหล่งผลิตอาหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - กฟผ. ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านมวลชนสัมพันธ์ พบปะแกนนำองค์กรภาคประชาชน ก่อนเดินหน้าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำ EHIA โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 1,000 เมกะวัตต์ จำนวน 2 โรง พร้อมท่าเรือขนถ่ายถ่านหินใน อ.เทพา จ.สงขลา ด้านกรรมการยกร่างยุทธศาสตร์ระบบความมั่นคงทางอาหาร จ.สงขลา หวั่นก่อมลพิษทำลายฐานทรัพยากรที่เป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญของประเทศ

วันนี้ (28 ส.ค.) ที่โรงแรม วี.แอล. อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ได้เชิญตัวแทนองค์กรภาคประชาชนใน จ.สงขลา มารับฟังข้อมูลแผนการดำเนินงานของ กฟผ.ที่มีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ จำนวน 2 โรง ในพื้นที่ อ.เทพา จ.สงขลา บริเวณเขตรอยต่อระหว่าง จ.สงขลา กับ จ.ปัตตานี

นอกจากนี้ จะมีการก่อสร้างท่าเรือบริเวณชายฝั่งทะเล อ.เทพา เพื่อใช้เป็นท่าเรือสำหรับขนถ่ายถ่านหินไปใช้ในโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่ง โดยมีลักษณะเป็นท่าเรือรูปตัว U ซึ่งจะต้องถมชายฝั่งเป็นท่าเรือยื่นออกไปในทะเล เป็นระยะทางไม่ต่ำกว่า 5 กิโลเมตร โดยจะสร้างในทำเลที่มีร่องน้ำลึกไม่ต่ำกว่า 10 เมตร เพื่อรองรับเรือบรรทุกถ่านหินขนาด 7,000-12,000 ตัน

นายชัยพร พิมมะรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญระดับ 12 ฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. เปิดเผยว่า ความคืบหน้าของโครงการในขณะนี้อยู่ระหว่างการจ้างบริษัทที่ปรึกษา เพื่อศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA ภายใต้ชื่อโครงการโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด และโครงการท่าเทียบเรือ อ.เทพา จ.สงขลา

“เราเตรียมการในเรื่องนี้มาไม่ตำกว่า 1 ปีแล้ว โดยก่อนหน้านี้ได้พาตัวแทนชาวบ้านไปศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าถ่านหินในต่างประเทศมาแล้ว” นายชัยพร กล่าว

 
ด้านนายกิติภพ สุทธิสว่าง กรรมการยกร่างยุทธศาสตร์ระบบความมั่นคงทางอาหาร จ.สงขลา เปิดเผย “ASTVผู้จัดการภาคใต้” ว่า ตัวแทนองค์กรภาคประชาชนที่ กฟผ.เชิญมาพูดคุยในครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบอาชีพทำนากุ้ง ทั้งในพื้นที่ จ.สงขลา และ จ.สตูล โดย กฟผ.ให้เหตุผลในการที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2 โรง กำลังการผลิตกระแสไฟฟ้ารวม 2,000 เมกะวัตต์ ใน อ.เทพา ว่า สืบเนื่องจากการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยเกือบร้อยละ 70 เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติ โดยอ้างว่าการใช้ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันเชื้อเพลิงมีต้นทุนสูง และก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยกำลังจะหมดลง จึงต้องใช้ถ่านหินซึ่งมีราคาถูกกว่ามาเป็นพลังงานหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า

“การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน กฟผ.จะอ้างเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน หรือตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องสอบถามความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่ก่อนว่า ต้องการให้ภาครัฐพัฒนาพื้นที่ไปในทิศทางไหน เพราะชายฝั่งทะเลทั้งอ่าวไทย และอันดามัน เป็นแหล่งรายได้หล่อเลี้ยงชุมชน และประเทศจากรายได้ที่มาจากการท่องเที่ยว เกษตร และการประมง ขณะเดียวกัน พื้นที่ อ.จะนะ และ อ.เทพา ได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการยกร่างยุทธศาสตร์ระบบความมั่นคงทางอาหาร จ.สงขลา ที่แต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการจังหวัด ประกาศให้ทั้ง 2 อำเภอ เป็นแหล่งผลิตอาหารของ จ.สงขลา และภูมิภาคอาเซียน ซึ่งไม่สอดคล้องกันหาก กฟผ.จะมาสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทับซ้อนแหล่งผลิตอาหารของคนในพื้นที่” นายกิติภพ กล่าวและว่า

 
ชาวบ้านส่วนใหญ่มีความกังวลเรื่องผลกระทบจากมลพิษของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งทาง กฟผ.อ้างว่าสามารถจัดการได้ด้วยเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด แต่ข้อเท็จจริงพบว่า เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดไม่สามารถทำได้จริงเนื่องจากมีต้นทุนสูง และต้องล้มเลิกมาแล้วในหลายประเทศ ขณะที่ในประเทศไทย กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จ.ลำปาง ทุกวันนี้สารพิษที่ปนเปื้อนในอากาศ แหล่งน้ำ และพื้นดิน ยังคงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนโดยที่ยังไม่มีวิธีแก้ไข และป้องกันได้ ขณะที่โรงไฟฟ้าจะนะ 2 โรง ที่ใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติ พบว่ามีการลอบปล่อยน้ำเสียลงในคลองนาทับ ซึ่งชาวบ้านเข้าไปตรวจสอบพบด้วยตัวเองเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้

“เมื่อเร็วๆ นี้มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งศึกษาพบว่า การเข้ามาตั้งโรงงานอุตสาหกรรมใน อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งปัจจุบันพบว่า มีจำนวน 167 โรง รวมโรงแยกก๊าซ ไทย-มาเลเซีย และโรงไฟฟ้าจะนะ ทั้ง 2 โรง ผลการศึกษาพบว่า การมีโรงงานอุตสาหกรรม 167 โรงอยู่ในพื้นที่ ไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องการสร้างความเป็นอยู่ที่ดี และไม่ได้สร้างความสุขให้แก่คนในพื้นที่แต่อย่างใด การจะเข้ามาสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอีก 2 โรง ของ กฟผ.จึงตอบโจทย์นักลงทุนด้านอุตสาหกรรมมากกว่าจะมาสร้างความสุขให้แก่คนในชุมชน ขณะเดียวกัน พื้นที่ชายฝั่งทะเล อ.เทพา ปัจจุบันเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนภาคใต้ตอนล่าง โดยมีเกาะขาม เป็นแหล่งดำน้ำที่มีชื่อเสียงอีกแห่งของภาคใต้ สิ่งเหล่านี้คือความสุขของคนในพื้นที่ ไม่ใช่โรงไฟฟ้า หรือโรงงานอุตสาหกรรม” นายกิติภพ กล่าว

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น