xs
xsm
sm
md
lg

สงขลาตามรอยมาบตาพุด! “จะนะ-เทพา” โรงไฟฟ้าผุดราวดอกเห็ด นักวิชาการสับเละ EIA ไร้ความชอบธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แหล่งน้ำใน อ.เทพา และ อ.จะนะ ซึ่งเป็นแหล่งทำมาหากินของชาวบ้านกำลังถูกรายรอบไปด้วยโรงไฟฟ้าหลายแห่ง (ภาพ : วันชัย พุทธทอง)
 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - โรงไฟฟ้าชีวมวลกำลังการผลิต 25 เมกะวัตต์ จ่อผุดที่ อ.จะนะ อีก 1 โรง รายรอบโรงแยกก๊าซธรรมชาติ เชื่อเป็นไปตามแผนเปลี่ยนสงขลาเป็นเมืองอุตสาหกรรมหนักตามรอยมาบตาพุด นักวิชาการสับเละ EIA โรงไฟฟ้าใหญ่-เล็ก แต่กลับศึกษาผลกระทบต่อชุมในรัศมี 5 กิโลเมตรเท่ากัน

สืบเนื่องจากการที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา จะมีโรงไฟฟ้าชีวมวลขึ้นอีก 1 แห่ง คือ โรงไฟฟ้าจะนะกรีน ขนาดกำลังการผลิตสูงสุด 25 เมกะวัตต์ โดยจะตั้งบนเนื้อที่ 160 ไร่ ในตำบลคู อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา หลังโรงเรียนจะนะชนูปถัมป์ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ไม้ยางเป็นเชื้อเพลิงในการเผาเพื่อต้มน้ำให้กลายเป็นไอมาปั่นกังหันให้เกิดเป็นกระแสไฟฟ้า

ทั้งนี้ จะมีการรับฟังความคิดเห็นในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2559 นี้ เพื่อประกอบการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ในเอกสารเชิญชวนการร่วมเวทีรับฟังความเห็นระบุไว้ว่า จะทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในรัศมี 5 กิโลเมตร และเป็นที่น่าสังเกตว่า บริษัทรับทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพนั้น คือ บริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเดียวกันที่รับทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้แก่โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา
 
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
 
ต่อกรณีดังกล่าว นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ ระบุว่า ในเบื้องต้น ก็ถือเป็นสิ่งที่ดีที่โรงไฟฟ้าชีวมวลจะนะกรีน มีการทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยมีการวงขอบเขตการศึกษาไว้ 5 กิโลเมตร ประเด็นปัญหาสำคัญของจะนะ ก็คือ เรายังจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้ามากมายขนาดนี้อีกไหม เพราะปัจจุบันเรามีโรงไฟฟ้าจะนะแล้ว 1,500 เมกะวัตต์

“เรามีโรงไฟฟ้าชีวมวลขุนตัดหวายอีกแห่ง 9.9 เมกะวัตต์ แล้วกำลังจะมีโรงไฟฟ้าชีวมวลใหม่อีก 2 แห่ง คือ จะนะกรีน 25เมกะวัตต์ และขุนตัดหวายสอง อีก 9.9 เมกะวัตต์ ทั้งยังมีความพยายามจะสร้างโรงไฟฟ้าขยะโคกม้าอีก 2.3 เมกะวัตต์ด้วย การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมทีละโรงไม่พร้อมกันของใครของมัน แต่พอภาพรวมมีโรงไฟฟ้าสี่ห้าหกแห่งเช่นนี้ มันก็ดูจะไม่เป็นธรรมต่อชุมชน”

นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ยังตั้งข้อสังเกตว่า น่าแปลกใจที่โรงไฟฟ้าชีวมวลจะนะกรีน 25 เมกะวัตต์ ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม 5 กิโลเมตร แต่โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 2,200 เมกะวัตต์ ใหญ่กว่าเกือบ 100 เท่า กลับศึกษาผลกระทบที่ 5 กิโลเมตรเช่นกัน ทั้งยังเป็นการศึกษาโดยบริษัทรับจ้างทำ EIA บริษัทเดียวกัน

“ทำไมใหญ่ๆ เล็กๆ ทำการศึกษาที่ 5 กิโลเมตรเท่ากัน เอาหลักวิชาการอะไรมาจับ แบบนี้ย่อมไม่เป็นธรรมต่อคนเทพา”
 
ผศ.ดร.สมพร ช่วยอารีย์
 
ต่อประเด็นเรื่องที่โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาขนาดใหญ่กว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลจะนะกรีน เกือบ 100 เท่า แต่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพียง 5 กิโลเมตรเท่ากันนั้น ผศ.ดร.สมพร ช่วยอารีย์ จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวให้ความเห็นว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา มีปล่องควันสูง 200 เมตร ซึ่งสูงมาก ลมบนหากพัดที่ความเร็ว 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง ฝุ่นควันมลพิษใน 2 ชั่วโมง ก็ไปไกลเป็น 100 กิโลเมตรแล้ว

“ดังนั้น การที่โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ศึกษามลพิษทั้งระบบเพียง 5 กิโลเมตรนั้นไม่ถูกต้องแน่นอน ชีวมวลจะนะกรีน 25 เมกะวัตต์ ยังศึกษา 5 กิโลเมตร ของเทพาใหญ่เกือบร้อยเท่าควรศึกษาอย่างน้อย 100 กิโลเมตร จึงถูกต้องตามหลักวิชาการ และที่สำคัญ การที่บริษัทรับจ้างทำการศึกษา EIA เป็นบริษัทเดียวกัน แต่ทำไมกรอบการศึกษาจึงต่างกันเช่นนี้ การศึกษาวงแคบเกินไปของ EHIA โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ทำให้ไม่สามารถตอบคำถามทางวิชาการได้ ความน่าเชื่อก็ตอบไม่ได้”

ผศ.ดร.สมพร ช่วยอารีย์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ปล่องโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาสูง 200 เมตรนั้น สูงมาก ที่ต้องทำสูงมากเพราะมลพิษมากจึงต้องทำให้สูงเพื่อให้เกิดการกระจายของมลพิษในวงกว้าง มลพิษจะได้เจือจาง

“หากถ่านหินสะอาดมลพิษน้อยจริง ทำปล่องสูง 10-20 เมตรก็ได้ ไม่ต้องให้สูงขนาดนั้น หากปล่องควันสูงสัก 10-20 เมตร แล้วศึกษาผลกระทบสัก 5 กิโลเมตรก็พอจะยอมรับได้ แต่ปล่องสูง200 เมตร หรือเท่าตึก 60 ชั้น ต้องศึกษา 100 กิโลเมตรจึงจะถูกต้อง”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักสังเกตการณ์เกี่ยวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ ระบุว่า การผุดขึ้นราวดอกเห็ดของโรงไฟฟ้าในพื้นที่ อ.เทพา และ อ.จะนะ จ.สงขลา ทั้งโครงการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ชีวมวล และโรงไฟฟ้าขยะ ซึ่งอยู่บริเวณรายรอยโรงแยกก๊าซธรรมชาติจะนะ ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า จ.สงขลา กำลังถูกพลิกโฉมหน้าให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมหนักเต็มรูปแบบ กลุ่มทุนจึงเร่งสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานรองรับการเกิดขึ้นของนิคมอุตสาหกรรมที่จะตามมา โดยจะมีลักษณะเช่นเดียวกับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งโครงการใหญ่ใช้เงินลงทุนมหาศาลนี้จะส่งผลกระทบต่อชุมชนในหลายมิติตามมาอย่างแน่นอน

อ่านรายละเอียดโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 25 เมกะวัตต์ จากรูปภาพ
 






 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น