xs
xsm
sm
md
lg

“เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น” ประกาศเดินหน้าปกป้องทะเลจากอุตสาหกรรมหนักจนถึงที่สุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สมาคมรักษ์ทะเลจะนะ และเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น อ่านคำแถลงการณ์ปกป้องแหล่งผลิตอาหารทะเลจะนะ ตามเจตนารมณ์ดั้งเดิมที่ได้ทำกิจกรรมอนุรักษ์ทะเลแห่งนี้มานานกว่า 20 ปี ชี้การประกาศให้ อ.จะนะ เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมของภาครัฐ มีแต่จะสร้างความทุกข์ให้แก่ประชาชนที่ดำรงชีวิตได้ดีอยู่แล้วบนพื้นฐานของการเกษตร และการประมง จี้ทบทวนโครงการโดยด่วน

วันนี้ (10 ส.ค.) ที่งาน “อะโบ๊ยหมะ!! เลจะนะหรอยจ้าน” ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นที่ชายหาดบ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา นายดลรอนี ยะหมานยะ นายกสมาคมรักษ์ทะเลจะนะ ได้เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์ประกาศจุดยืนปกป้องแหล่งผลิตอาหารทะเลจะนะ จากอุตสาหกรรม ใจความว่า

“กว่า 20 ปี ที่ชุมชนชาวประมงชายฝั่งทะเลจะนะ ได้ร่วมไม้ร่วมมือกันปกป้องอนุรักษ์และฟื้นฟูทะเลจะนะ จนกลายเป็นทะเลที่สมบูรณ์ โดยการทำ “อูหยำ” หรือ ซั้ง ทำปะการังเทียมและดูแลห้ามไม่ให้เครื่องมือจับสัตว์น้ำที่ผิดกฎหมาย อย่าง อวนลาก, อวนรุน, เรือปืนไฟปลากะตักในเวลากลางคืน, การระเบิดปลา, การทำโป๊ะ เข้ามารุกล้ำทำลายสัตว์วัยอ่อน ที่ใช้ชายฝั่งทะเลจะนะเป็นที่ฟักไข่ และอาศัย

 
รวมถึงการทำข้อมูลความอุดมสมบูรณ์ของทะเลจะนะ ซึ่งฐานข้อมูล พบว่า ทะเลจะนะมีปลาเศรษฐกิจถึง 94 ชนิด กุ้ง 12 ชนิด หมึก 7 ชนิด ปู 10 ชนิด และหอย 21 ชนิด อาหารสดๆ จากทะเลจะนะ ที่ชาวประมงจับขึ้นมานั้น ได้สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาทต่อปี และเลี้ยงดูคนสงขลาอีก 9 อำเภอ อีกทั้งยังส่งออกขายไปยังประเทศต่างๆ เช่น เกาหลี จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ นับเป็นการสร้างรายได้ และนำเงินตราเข้าสู่ประเทศอย่างมหาศาล

ด้วยฐานข้อมูลดังกล่าว ทางชาวประมงได้ผลักดันทะเลจะนะ เป็นแหล่งผลิตอาหารเพื่อคนสงขลา และอาเซียน และได้ลงนามปฏิญญาทะเลจะนะแหล่งผลิตอาหารทะเลเพื่อคนสงขลาและอาเซียน ในวันที่ 31 มีนาคม 2556 โดยการลงนาม นำโดยตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายกเทศบาลนาทับ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่งชัน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสะกอม และเครือข่ายภาคประชาชน ประชาสังคม จนนำไปสู่การขับเคลื่อนเรื่องความมั่นคงทางอาหาร โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อยกร่างยุทธศาสตร์ระบบอาหารจังหวัดสงขลา นี่นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของภาคประชาชนที่ร่วมกันผลักดันนโยบายไปสู่ระดับจังหวัด

ในขณะเดียวกัน ภาคชุมชนประมงชายฝั่งทะเลจะนะ ได้จดทะเบียนในนาม “สมาคมรักษ์ทะเลจะนะ” โดยมีเป้าหมาย และภารกิจใหญ่ คือ การปกป้องดูแลอนุรักษ์ฟื้นฟูทะเลจะนะ และสร้างจิตสำนึก รณรงค์ให้ทะเลจะนะ เป็นแหล่งผลิตอาหารเพื่อคนสงขลา และอาเซียน

 
การจัดงาน “อะโบ๊ยหมะ เลจะนะหรอยจ้าน 2“ นี้ จึงเป็นกิจกรรมที่สำคัญอีกกิจกรรมหนึ่ง เพื่อยืนยันว่า ชุมชนประมงและภาคีเครือข่ายจะร่วมมือปกป้องทะเลจะนะให้เป็นแหล่งผลิตอาหารต่อไป และที่สำคัญอยากจะสื่อสารต่อทางภาครัฐ ผู้กำหนดนโยบาย ให้เห็นถึงความสำคัญที่จะร่วมผลักดันพื้นที่ทะเลจะนะเป็นแหล่งผลิตอาหารทะเลอย่างต่อเนื่องอย่างที่ดำเนินการกันมาแล้ว

เราอยากให้ภาครัฐ ภาคเอกชนที่มีส่วนกำหนดนโยบายในแผนงานสะพานเศรษฐกิจ ที่จะดำเนินการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก ท่าเรืออุตสาหกรรม บริเวณทะเลจะนะ ซึ่งปัจจุบันทางภาครัฐได้ทำการอนุมัติงบประมาณลงทุนโครงการ 1.2 หมื่นล้านบาท และกำหนดให้เริ่มดำเนินการในงบประมาณปี 2558 คือ ในเดือนตุลาคม 2557-กันยายน 2558 ที่จะถึงนี้ และใช้ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี ในระหว่างปี 2559-2562 ทบทวนนโยบายดังกล่าว เพราะนั่นหมายถึงเราต้องสูญเสียรายได้จำนวนมหาศาล และที่สำคัญเรากำลังสูญเสียแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของคนทั้งประเทศ”



 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น