xs
xsm
sm
md
lg

พบ สสส.ส่อผลประโยชน์ทับซ้อน เอ็นจีโอแนะปรับโครงสร้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เปิดหนังสือ สตง. ตรวจสอบ สสส. พบเสี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อน คกก. บริหารแผนดำรงตำแหน่งเกิน 2 วาระ ขณะที่กิจการเพื่อสังคมไม่บรรลุเป้าหมาย ด้านเอ็นจีโอรับทุน สสส. รวมตัวแถลงผลงานป้อง สสส. 22 ต.ค. ส่วนเครือข่ายเกษตรฯ ออกแถลงการณ์หนุนตรวจสอบ สสส. เปิดเผย โปร่งใส ปรับปรุงโครงสร้าง สสส.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ส่งหนังสือการตรวจสอบสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในประเด็นต่าง ๆ มากมาย อาทิ หนังสือเลขที่ ตผ. 0014/2952 ลงนามโดย นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการ สตง. เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2558 ส่งถึงผู้จัดการ สสส. ระบุถึงการตรวจสอบแผนงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม สสส. ในปีงบประมาณ 2553 - 2558 พบว่า 1. อัตราการเบิกจ่ายจริงต่ำกว่างบประมาณที่ได้รับ ทำให้การดำเนินงานไม่เป็นไปตามแผน เช่น แผนระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. 2553 - 19 มี.ค. 2555 มีการเบิกจ่ายจริงเพียง 20.18 ล้านบาทจากงบประมาณ 105.35 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 19.16 เป็นต้น 2. การรับรองกิจการเพื่อสังคมยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทำให้กิจการต่าง ๆ เสียโอกาสในการได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ เนื่องจากขาดหลักเกณฑ์และวิธีการในการยื่นคำขอหนังสือรับรองกิจการเพื่อสังคม

3. การดำเนินงานโครงการกองทุนสนับสนุนผู้ประกอบการเพื่อสังคมระยะเริ่มต้น ไม่บรรลุตามเป้าหมาย โดยพบว่า สสส. ได้อนุมัติงบประมาณ 14.90 ล้านบาท ให้กับสถาบัน Change Fusion เพื่อเป็นกองทุนต้นแบบพัฒนาศักยภาพและขยายเครือข่ายให้อยู่รอดและดำเนินธุรกิจได้นั้น ปรากฏว่า ไม่บรรลุเป้าหมาย เพราะมีกิจการบางส่วนไม่สามารถอยู่รอดและดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน คือ มีการยกเลิกกิจการจำนวน 10 แห่งจาก 26 แห่ง  และ 4. การดำเนินงานโครงการพัฒนาศูนย์ส่งเสริมนวัตกรรมทางสังคมและองค์กรทางสังคม มีปัญหาความล่าช้ากว่าแผน โดยพบว่าวันที่ 31 ม.ค. 2558 มีการเบิกจ่ายงบเพียง 1 แสนบาท จากทั้งหมด 35 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.29 ทำให้โครงการอื่นที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรเสียโอกาส และยังไม่มีการศึกษาข้อมูลเพื่อบริหารความเสี่ยงของการดำเนินงานให้ครบถ้วน

สตง.มีความเห็น ดังนี้ 1. ควรควบคุมกำกับการเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามแผน พร้อมทั้งประเมินผลการจ่ายเงินโครงการอย่างสม่ำเสมอ 2. จัดเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ เพื่อให้สามารถรองรับกิจการเพื่อสังคมตามหลักเกณฑ์ 3. กำหนดแผนการดำเนินงานเพื่อติดตามโครงการโดยเฉพาะกิจการที่ยังคงดำเนินอยู่ เพื่อให้ทราบสถานะของการดำเนินธุรกิจ ปัญหา แนวทางแก้ไข และการจ่ายเงินทุนหมุนเวียนให้กองทุน และ 4.พิจารณาทบทวนการดำเนินงานโครงการพัฒนาศูนย์ส่งเสริมนวัตกรรมทางสังคมและองค์กรทางสังคมโดยเร็ว เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อรัฐ นอกจากนี้ ในอนาคตควรมีการศึกษาข้อมูล เพื่อบริหารความเสี่ยงของการดำเนินงานให้ครบถ้วน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ นายพิศิษฐ์ ยังทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ ตผ.0014/6248 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2558 เรื่อง การตรวจสอบกรณีผลประโยชน์ทับซ้อนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ถึงประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (บอร์ด สสส.) โดยระบุว่า พบการดำเนินงาน 2 เรื่องของ สสส. ที่มีความเสี่ยงก่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนและความไม่โปร่งใส คือ 1. การจัดทำประมวลจริยธรรมไม่เป็นไปตามแนวทางของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ (ก.พ.ร.) โดยพบว่าระเบียบกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพว่าด้วยประมวลจริยธรรมของผู้จัดการและเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2553 ไม่มีในส่วนของคณะกรรมการต่าง ๆ

2. การกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการบริหารแผนไม่เป็นไปตามคู่มือการบริหารและกำกับดูแลคณะกรรมการองค์การมหาชนของ ก.พ.ร. ซึ่งกำหนดให้มีวาระการดำรงตำแหน่งได้ไม่เกินคราวละ 4 ปี ห้ามดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระ แต่จากหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินเพื่อการสนับสนุนโครงการและกิจกรรม พ.ศ. 2554 กำหนดให้คณะกรรมการบริหารแผนมีวาระการปฏิบัติหน้าที่คราวละ 3 ปี หรือตามที่บอร์ด สสส. กำหนด แต่ไม่มีการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่ง ทำให้คณะกรรมการบริหารแผนแต่ละคณะมีกรรมการบริหารแผนจำนวน 1 - 5 คน ดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระ

สตง. จึงมีข้อเสนอแนะให้ประธานบอร์ด สสส. พิจารณาดำเนินการ ดังนี้ 1. จัดทำประมวลจริยธรรมของคณะกรรมการต่าง ๆ ให้เป็นไปตามแนวทางของ ก.พ.ร. และ 2. กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการบริหารแผนและคณะกรรมการอื่น ๆ ให้เป็นไปตามคู่มือของ ก.พ.ร.

แหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุข กล่าวว่า เรื่องกิจการเพื่อสังคมนั้นมีการวิพากษ์วิจารณ์ ว่า ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ อดีตผู้จัดการ สสส. บริหารงานอย่างไม่เป็นธรรม เลือกปฏิบัติ เห็นได้จากมีการร้องเรียนผ่านจดหมายสนเท่ห์ และร้องเรียนไปยังศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ของรัฐบาล ว่า ทพ.กฤษดา เลือกปฏิบัติและไม่มีหลักเกณฑ์ในการขึ้นเงินเดือนและโบนัสให้กับผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารการตลาด โดยไม่เป็นไปตามระเบียบ ซึ่งในหน่วยงานทราบกันดีว่า ผอ.ฝ่ายสื่อสารการตลาด ซึ่งทำหน้าที่หลักในการจัดซื้อ (โฆษณา) สื่อ ทั้งโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ จำนวนปีละหลายร้อยล้านบาทนั้น มีความเกี่ยวข้องกับผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม (สกส.) และผู้จัดการดังกล่าวมีความสนิทกับ ทพ.กฤษดา ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเฟซบุ๊กของ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ อดีตผู้จัดการ สสส. ไม่มีการโพสต์ใด ๆ มีแต่เครือข่ายต่าง ๆ แท็กข้อความให้กำลังใจ  อาทิ เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์  ทพ.กฤษดา แต่ไม่สามารถติดต่อได้

ด้าน ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า วันที่ 22 ต.ค. 2558 เวลา 10.30 น. กลุ่มเอ็นจีโอที่เป็นภาคีเครือข่าย สสส. เช่น เครือข่ายเหล้า แรงงาน ครอบครัว เกษตร เครือข่ายผู้หญิง และเยาวชน  เป็นต้น จะมีการแถลงข่าวที่สำนักงานกลางนักเรียนคริสเตียน สะพานหัวช้าง เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทำโครงการต่าง ๆ ว่า เกี่ยวข้องกับสุขภาพ และสุขภาวะอย่างไรและประชาชนได้ประโยชน์อะไร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนและความมั่นคงทางอาหาร ได้ออกแถลงการณ์ว่า จากการที่มีหลายฝ่ายเข้ามาตรวจสอบการการใช้งบประมาณของ สสส. นั้น เครือข่ายขอสนับสนุนให้ดำเนินการอย่างเปิดเผย โปร่งใส ตามหลักธรรมาภิบาล เปิดโอกาสให้ผู้ถูกตรวจสอบได้ชี้แจง และสังคมมีส่วนร่วมโดยไม่เลือกปฏิบัติ ส่วนการวินิจฉัยว่า สสส. ใช้จ่ายงบประมาณผิดวัตถุประสงค์หรือไม่ ต้องยึดถือตาม พ.ร.บ. สสส. และวัตถุประสงค์ 6 ข้อ และขอให้ สสส. นำเอาข้อคิดเห็นและเสนอแนะจากทุกฝ่ายไปพัฒนาการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลต่อสังคมมากขึ้น และใช้งบประมาณโดยคำนึงถึงการสร้างความเป็นธรรมและความยั่งยืนต่อสุขภาพสังคม เพิ่มบทบาทผู้ที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนงาน สสส. ที่ไม่ใช่บุคลากรสายสาธารณสุขในสัดส่วนที่เหมาะสม ปรับปรุงระบบการประเมินผล การแต่งตั้งคณะกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นต้น

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น