แม้องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ จะประกาศระงับใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีพืชในสกุลเดียวกับสมุนไพร “ไคร้เครือ” มาได้สิบกว่าปีแล้ว เนื่องจากพบว่ามีสารพิษที่ก่อมะเร็งท่อไตและเชิงกราน แต่ยังพบการจำหน่ายสมุนไพรที่มีพืชก่อมะเร็งอยู่ เภสัช จุฬาฯ จึงตรวจดีเอ็นเอสมุนไพรเพื่อป้องกันอันตรายจากตำรับยาที่มีสมุนไพรดังกล่าวเป็นส่วนประกอบ
ภญ.พิรุณรัตน์ เดชบำรุง นิสิตปริญญาโท ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า มีรายงานทางวิชาการว่า สมุนไพรของจีนจากพืชในสกุลอาริสโทโลเชีย (Aristolochia) มีอาริสโทโลชิคแอซิดซึ่งเป็นสารพิษที่ก่อให้มะเร็งบริเวณท่อไตและเชิงกราน
ในปี 2545 องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ หรือ (FDA) ประกาศระงับใช้ผลิตภัณฑ์ทุกชนิดจากพืชสกุลดังกล่าว ต่อมาในปี 2553 ทางองค์การอนามัยโลกประกาศให้สารพิษดังกล่าวเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์และสัตว์ ผ่านกลไกการเปลี่ยนแปลงของพันธุกรรมภายในเซลล์ โดยที่ความเป็นพิษไม่ขึ้นกับขนาดการใช้ และเมื่อปี 2556 ที่ผ่านมาคณะกรรมการยาของไทยได้มีมติให้ตัดไคร้เครืออกจากทะเบียนตำรับยาที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว
ตามตำรับยาไทย “ไคร้เครือ” เป็นสมุนไพรที่ได้จากรากของพืช ซึ่งเครื่องยาไคร้เครือในท้องตลาดมักใช้พืชในสกุลอาริสโทโลเชีย วงศ์อาริสโทโลเชียซี ได้แก่ หนอนตาย กระเช้าผีมด และกระเช้าถุงทอง เป็นส่วนประกอบ ซึ่ง ภญ.พิรุณรัตน์ เผยว่าพบสารพิษก่อมะเร็งในสมุนไพรของไทยดังกล่าวซึ่งเป็นสกุลเดียวกับสมุนไพรของจีนที่พบสารพิษเช่นกัน
จากการสุ่มตรวจสมุนไพรจากร้านขายยา 5-6 ราย ในอยุธยา นครราชสีมา นครศรีธรรมราช ปราจีนบุรี และกรุงเทพฯ ภญ.พิรุณรัตน์พบว่ายังมีสมุนไพรดังกล่าวอยู่ จึงได้นำเทคโนโลยีตรวจดีเอ็นชนิดตรวจลำดับนิวคลีโอไทด์ เพื่อตรวจสอบเครื่องยาไคร้เครือว่ามีสมุนไพรในสกุลสร้างสารก่อมะเร็งหรือไม่
ทั้งนี้ ไคร้เครือเป็นยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติและยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ 14 ตำรับ ได้แก่ ยาหอมนวโกฐ ยาหอมอินทจักร์ ยาธาตุบรรจบ ยาประสะกานพลู ยาประสะเจตพังดี ยามันฑธาตุ ยาวิสัมพยาใหญ่ ยาเขียวหอม ยาอำมฤควาที ยาหอมแก้วิงเวียน ยาแก้ไข้ บาบรรเทาหัด อีสุกอีใส และยาตรีหอม
ด้าน รศ.รต.อ.หญิง ดร.สุชาดา สุขหร่อง อาจารย์ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เสริมว่า ตรวจดีเอ็นเอของสมุนไพรไคร้เครือเป็นส่วนหนึ่งของการพิสูจน์เอกลักษณ์สมุนไพร ซึ่งเป็นความร่วมมือของภาควิชากับหน่วยวิจัยสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ภายใต้โครงการศูนย์นวัตกรรมทางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยใช้ลายพิมพ์ดีเอ็นเอ (DNA Barcoding) ลักษณะทางสัณฐานวิทยา ร่วมกับข้อมูลทางพฤกษเคมี และได้รวบรวมข้อมูลของสมุนไพรไทยแล้วกว่า 100 ชนิด อีกทั้งยังเปิดให้บริการตรวจสอบเอกลักษณ์สมุนไพรด้วย
สำหรับความสำคัญของการตรวจเอกลักษณ์สมุนไพรโดยใช้พันธุกรรมนั้น รศ.รต.อ.หญิง ดร.สุชาดา กล่าวว่า เรื่องการพิสูจน์เอกลักษณ์สมุนไพรมักเป็นเรื่องที่เรามองข้าม แต่ปัญหาคือหลายครั้งสมุนไพรมีชื่อเดียวกันแต่เป็นคนละชนิดเดียวกัน หรือบางสมุนไพรที่ลักษณะใกล้เคียงกันต่ถูกนำมาใช้ปะปนกัน อย่าง “ใบบัวบก” ที่ต้องมีก้านออกที่ริมเว้าของใบ ขณะที่ “แว่นแก้ว” มีก้านออกตรงกลางใบ ซึ่งหากใช้ผิดชนิดก็ไม่ได้รับสารสำคัญที่ต้องการ หรือสมุนไพรบางชนิดก็มีพิษที่เป็นอันตราย เช่น ไคร้เครือ เป็นต้น
“การพิสูจน์เอกลักษณ์สมุนไพรด้วยสารเคมีอย่างเดียวอาจทำให้คลาดเคลื่อน เพราะฤดูกาลเพาะปลูกมีผลต่อการผลิตสารเคมี ซึ่งการตรวจด้วยดีเอ็นเอจะให้ผลที่ชัดเจนกว่า โดยหน่วยวิจัยทำลายพิมพ์ดีเอ็นของสมุนไพรขึ้นเป็นหน่วยแรกของไทย ลายพิมพ์ดีเอ็นเอก็คือดีเอ็นเอช่วงสั้นๆ ที่บ่งบอกเอกลักษณ์ของสิ่งมีชีวิต เราต้องหาดีเอ็นเอถึง 5 บริเวณเพื่อบอกถึงความแตกต่างของสิ่งมีชีวิต” รศ.รต.อ.หญิง ดร.สุชาดา กล่าว
*******************************
*******************************