ประกาศผลเป็นที่เรียบร้อยสำหรับการแข่งขันจรวดขวดน้ำระดับประเทศ ครั้งที่ 13 การแข่งขันชิงแชมป์จรวดขวดน้ำจากฝีมือนักเรียนไทยระดับประถม-มัธยม "ร.ร.เทศบาล4 วัดนพวงศาราม ปัตตานี - ร.ร. เดชอุดม อุบลราชธานี คว้าแชมป์ไปครอง" เผยการเรียนรู้นอกห้องเรียนทำให้รัก และเข้าใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีปิดการแข่งขันจรวดขวดน้ำระดับประเทศ ครั้งที่ 13 ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เมื่อวันเสาร์ที่ 11 ต.ค. 57 พร้อมกล่าวว่า การแข่งขันจรวดขวดน้ำ เป็นการแข่งขันที่ทำให้รู้จักกระบวนการคิดอย่างวิทยาศาสตร์ มีเหตุผล เพราะไม่ใช่การประดิษฐ์ของเล่นไร้สาระ แต่เป็นของเล่นของนักประดิษฐ์ที่ทุกกระบวนการ จำเป็นต้องใช้เหตุผล มีการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้จรวดที่มีคุณภาพดีที่สุดมาใช้ในการแข่งขัน
"จรวดขวดน้ำไม่ใช่สิ่งที่ไฮเทค แต่มันจะทำให้เด็กของเราไฮเทค เพราะจะเป็นสิ่งที่ช่วยจุดประกายให้เยาวชนหันมาสนใจ และเห็นคุณค่าของวิทยาศาสตร์มากขึ้น" ดร.พิเชฐกล่าว
ดร.พิเชฐ ระบุว่า โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ของเยาวชนยังมีอีกหลายโครงการที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เข้าไปมีบทบาทและให้การสนับสนุน ซึ่งโครงการมีด้วยกันหลายระดับตั้งแต่ระดับนักวิจัย มหาวิทยาลัย ที่จะเป็นการส่งเสริมในแง่ของนโยบายและทุนวิจัย อาทิ ผลงานนวัตกรรมแห่งชาติที่มีการมอบรางวัลไปเมื่อสัปดาห์ก่อน การสนับสนุนนักวิทยาศาสตร์ที่ทำให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะมีการมอบรางวัลในสัปดาห์หน้า และในส่วนของเด็กระดับที่เล็กลงมาหน่อย ทางกระทรวงก็ได้ส่งเสริมกิจกรรมวิทยาศาสตร์ ผลักดันให้เกิดค่ายพักแรมเพื่อกระตุ้นให้เด็กมีความสนใจในวิทยาศาสตร์มากขึ้น
"ความจริงแล้ว กระทรวงวิทย์ก็สนับสนุนทุกงาน โดยเฉพาะในรัฐบาลชุดนี้ เรามุ่งเน้นไปที่การทำให้ทุกคนเข้าใจสถานการณ์วิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น" ดร.พิเชฐกล่าว
เราต้องการกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์อีกมากตั้งแต่ระดับช่างเทคนิก วิศวกร นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ ซึ่งในปัจจุบันมีน้อย ที่เราจำเป็นต้องทำให้อาชีพในแวดวงนี้มีความหลากหลายมากขึ้น มีค่าตอบแทนที่ดี ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน ประกอบกับการปลูกฝังค่านิยมวิทยาศาสตร์ให้เยาวชนตั้งแต่เด็ก ซึ่งโครงการจรวดขวดน้ำ ถือเป็นกิจกรรมนอกห้องเรียนที่ชัดเจน เป็นรูปธรรมที่ทำให้เด็กเกิดความรู้ความเข้าใจได้อย่างแท้จริง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
รมต.กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอชมเชยเยาวชนทุกคนที่ฝ่าฟันมาจนถึงรอบชิงชนะเลิศได้ คนที่ได้รางวัลขอให้เรียนรู้ต่ออย่าสิ้นสุด คนที่ยังไม่ได้ให้คิดว่าวันนี้ยังไม่ใช่วันของเรา เพราะวิทยาศาสตร์คือการลองผิด ลองถูก แต่สิ่งที่ทุกคนได้เหมือนกันนคือ การเรียนรู้ที่ไม่มีวันจบสิ้น (Life Long Learning)
นางกรรณิการ์ วงศ์ทองศิริ รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า อพวช. ได้จัดการการแข่งขันจรวดขวดน้ำระดับประเทศติดต่อกันเป็นครั้งที่ 13 ซึ่งในปีนี้มีผู้เข้าร่วมการแข่งขันถึง 1,114 ทีมโดยได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด และสถาบันการศึกษาภูมิภาคในการจัดการแข่งขันรอบคัดเลือกระดับภูมิภาค ได้แก่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี และมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา โดยมีเยาวชนจากทั่วประเทศผ่านเข้ารองรองชนะเลิศ 288 ทีมและเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ 40 ทีม ซึ่งมาแข่งขันกันรอบสุดท้ายที่ คลองห้า อพวช.
รอง ผอ.อพวช.ระบุว่า การแข่งขันในครั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 ระดับด้วยกัน คือระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา แบ่งรางวัลออกเป็น 3 ประเภท 4 รางวัล คือ รางวัลการนำเสนอ รางวัลประเภทจรวดยิงไกล รางวัลประเภทจรวดยิงแม่น และรางวัลคะแนนรวม โดยการวัดผลการแข่งขันประเภทนำเสนอผลงาน จะให้รางวัลจากการพูดนำเสนอผลงาน ความรู้ความเข้าใจต่อหน้ากรรมการที่มีการนำเสนอไปเมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา ส่วนการวัดผลประเภทแม่นยำจะวัดจากการยิงให้เข้าเป้าหมายที่กำหนดไว้ ทีมที่ยิงใกล้เป้าหมายมากกว่าจะได้คะแนนสะสมมากกว่า และการวัดผลประเภทยิงไกลจะใช้การวัดผลจากกล้องวัดระยะ (Total station) ที่ให้ความแม่นยำและนิยมใช้ในเชิงวิศวกรรมศาสตร์
"อุปกรณ์การประดิษฐ์ทางอพวช. กำหนดให้ทุกทีมใช้ขวดน้ำไม่เกิน 15 ขวด และจำกัดแรงดันไม่เกิน 40 บาร์เพื่อควบคุมตัวแปรให้ทุกทีมเม่าเทียมกัน แต่ให้อิสระในการออกแบบและประดิษฐ์เต็มที่ ซึ่งจรวดทุกลำที่นำมาใช้แข่งในวันนี้ เป็นจรวดที่น้องๆสร้างขึ้นเองในการเก็บตัวเมื่อวาน จึงมั่นใจได้ว่าเป็นจรวดฝีมือเยาวชนอย่างแท้จริง ซึ่งนำมาใช้ในการแข่งขันตอนช่วงเช้าของวันนี้ ณ สนามแข่งจรวด อพวช. ที่มีขนาดใหญ่เกือบเท่าสนามฟุตบอลขนาดย่อม รองผอ.อพวช.ระบุ
ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทการนำเสนอจะได้รับโล่อพวช. ทุนการศึกษา 10,000 บาท และของรางวัลจากทรูวิชั่นส์, รางวัลชนะเลิศประเภทความแม่นยำ ประเภทความไกล และประเภทคะแนนรวมจะได้รับโล่ อพวช. ทุนการศึกษา 20,000 บาท และของรางวัลจากทรู วิชั่นส์ ทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา นอกจากจะประกาศผลทีมชนะเลิศแล้ว ยังมีรางวัลรองชนะเลิศประเภทต่างๆ รวมถึง 24 รางวัล ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ แอบสังเกตการณ์เห็น 2 ทีมสุดยอดของการแข่งขันในครั้งนี้ ที่โกยรางวัลไปโรงเรียนละ 3 รางวัล จึงตามไปสอบถามความรู้สึกที่พวกเขาได้รับรางวัลในครั้งนี้มาครอง
ทีม "รักษ์ตานี 1" จากโรงเรียนเทศบาล 4 วัดนพวงศาราม จ.ปัตตานี ซึ่งเข้าร่วมการแข่งขันจรวดขวดน้ำมาตั้งแต่ครั้งที่ 9 กวาดไปถึง 2 รางวัล ได้แก่ รางวัลชนะเลิศการนำเสนอผลงาน และรางวัลชนะเลิศประเภทคะแนนรวมในระดับชั้นประถมศึกษา พวกเธอเผยว่า ดีใจมาก ไม่คิดว่าจะได้รางวัล เพราะในทีมทั้งหมด 5 คนมีคนที่เคยเข้าร่วมการแข่งขันปีที่แล้วคนเดียว คนอื่นๆไม่เคยรู้ว่าสนามจริงๆเป็นอย่างไร ขอบคุณคุณครูที่ช่วยฝึกสอนให้สามารถทำจรวดเป็นจนในที่สุดก็คว้ารางวัลมาได้
"ไม่คิดว่าจะได้ค่ะ ทำให้ดีที่สุดก็พอ พวกหนูซ้อมมาหนัก และฝึกฝนที่โรงเรียนบ่อยๆ สิ่งที่ทำให้พวกหนูชนะคือ ความสามัคคีเพราะตลอดเวลาที่ทีมอยู่ร่วมกัน พวกเราไม่เคยทะเลาะกัน" ตัวแทนทีมรักษ์ตานี 1 กล่าว
ส่วนทีม "เดชอุดมซี" จากโรงเรียนเดชอุดม จ.อุบลราชธานี กวาดรางวัลระดับมัธยมไปถึง 3 รางวัล คือ รางวัลชนะเลิศประเภทความไกล, รางวัลชนะเลิศประเภทคะแนนรวม และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทการนำเสนอผลงานเผยว่า โรงเรียนมาร่วมแข่งขันโครงการจรวดขวดน้ำเป็นปีที่ 5 แล้ว แต่ไม่เคยได้รับรางวัลเลย แต่มีสิ่งหนึ่งที่ทำให้ทุกคนยังมาแข่งต่อ เพราะโรงเรียนมีชุมนุมจรวดขวดน้ำ และมีรุ่นพี่ที่จบไปแล้วหรือที่เคยมาแข่งขันช่วยติวน้องๆ และหาเทคนิคดีๆ มาช่วยพัฒนาจรวดอยู่เสมอทำให้การแข่งขันในครั้งนี้ยิงได้ไกลถึง 240.75 เมตร ชนะทีมที่ได้อันดับ 2 ถึง 10 เมตร
"ในปีนี้โรงเรียนส่งเข้าแข่งขันถึง 4 ทีมและคิดว่าปีหน้าๆ ชุมนุมจรวดขวดน้ำจะยิ่งเป็นที่สนใจของคนในโรงเรียนจากรางวัลที่ได้ในวันนี้ ข้อดีของทีมเราคือเราซ้อมเยอะ อยู่ที่โรงเรียนการหัดยิงจรวดคือเรื่องปกติ และอีกอย่างคือความสามัคคีทุกคนในกลุ่มจะรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน เพื่อนำมาพัฒนาจรวด ซึ่งการสร้างจรวดนี้จำเป็นต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจทางคณิตศาสตร์และฟิสิกส์เป็นอย่างมาก แต่จรวดทำให้เข้าใจความรู้วิชายากๆ เหล่านี้ได้ง่ายมากขึ้นจากการลงมือทำ ทำให้รักวิทยาศาสตร์ และเชื่อว่ารางวัลที่ได้กลับไปนี้จะทำให้คนที่โรงเรียนสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้นด้วย" ทีมเดชอุดมซีกล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
************* หมายเหตุ ************
ผลรางวัลทั้ง 2 ระดับใน 4 ประเภท มีดังนี้ ผลการแข่งขันระดับประถมศึกษา
- ประเภทการนำเสนอผลงาน ได้แก่ โรงเรียนเทศบาล 4 วัดนพวงศาราม จ.ปัตตานี
- ประเภทความแม่นยำ ได้แก่ โรงเรียนบวรวิทยา 2 จ.พระนครศรีอยุธยา
- ประเภทความไกล ได้แก่ โรงเรียนวัดศิริจันทาราม จ.ปทุมธานี
- ประเภทคะแนนรวม ได้แก่ โรงเรียนเทศบาล 4 วัดนพวงศาราม จ.ปัตตานี
ผลการแข่งขันชนะเลิศระดับมัธยมศึกษา
ประเภทการนำเสนอผลงาน ได้แก่ โรงเรียนชุมแพศึกษา จ.ขอนแก่น
ประเภทความแม่นยำ ได้แก่ โรงเรียนเขาฉกรรจ์วิทยา จ.จันทบุรี
ประเภทความไกล ได้แก่ โรงเรียนเดชอุดม จ.อุบลราชธานี
ประเภทคะแนนรวม ได้แก่ โรงเรียนเดชอุดม จ.อุบลราชธานี
*******************************