xs
xsm
sm
md
lg

อนาคตสัญญาณ “ดาวเทียมนำร่อง” จะหนาแน่นที่สุดในอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ด้วยอานิสงส์จากการแข่งขันส่งดาวเทียมระบุพิกัดของหลายชาติ ส่งผลให้อนาคตไทยและภูมิภาคอาเซียนจะกลายเป็นย่านที่มีสัญญาณดาวเทียมนำร่องที่หนาแน่นที่สุด ซึ่งเป็นโอกาสในการประยุกต์ใช้งานในหลายๆ ด้าน และอาจเป็นประโยชน์สำหรับคนไทย

ดร.สวัสดิ์ ตันติพันธุ์วดี ที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการการวิจัย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า นอกจากดาวเทียมจีพีเอส (GPS) ดาวเทียมนำร่องของสหรัฐฯ ที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปแล้ว หลายประเทศก็มีความพยายามในการพัฒนาดาวเทียมประเภทนี้เป็นของตัวเอง เนื่องจากสัญญาณที่สหรัฐฯ ปล่อยให้ใช้ฟรีนั้นอาจไม่ตอบสนองต่อความต้องการ

“ปัจจุบันดาวเทียมจีพีเอสของสหรัฐฯ มีอยู่ราว 30 ดวงโคจรไปรอบโลก และส่งสัญญาณ 2 แบบ คือ สัญญาณสำหรับทหารซึ่งมีความละเอียดระดับเซ็นติเมตร และสัญญาณสำหรับพลเรือนซึ่งมีความหยาบมากกว่า แต่ก็มีหลายประเทศที่เริ่มพัฒนาดาวเทียมประเภทนี้เป็นของตัวเอง ยุโรปมีกาลิเลโอ (Galileo) ที่ส่งขึ้นไปแล้ว 2-3 ดวง รัสเซียมีโกลนาส (Glonass) จีนมีเป่ยโต่ว (BeiDou) ซึ่งดาวเทียมเหล่านี้เป็นดาวเทียมนำร่องระดับโลก และยังมีดาวเทียมของอินเดียและญี่ปุ่นที่โคจรอยู่เหนือประเทศตัวเอง” ดร.สวัสดิ์กล่าว

ที่ปรึกษาด้านบริหารการจัดการการวิจัย สวทช.ระบุว่า หากดาวเทียมเหล่านี้ถูกส่งขึ้นไปครบ จะทำให้ไทยและแถบอาเซียนมีสัญญาณของดาวเทียมนำร่องที่หนาแน่นที่สุด ตัวอย่างเช่น สหรัฐฯ ไม่สามารถรับสัญญาณจากดาวเทียม QZSS (Quasi-Zenite Satellite Systems) ของญี่ปุ่นได้ เนื่องจากเส้นโคจรหลักอยู่เหนือญี่ปุ่นและออสเตรเลีย ซึ่งไทยและอาเซียนอยู่ในรัศมีที่จะรับสัญญาณได้ หรือดาวเทียมกาแกน (GAGAN) ของอินเดียที่นำทางอยู่ในอินเดียแต่ส่งสัญญาณมาถึงไทย เป็นต้น

ลักษณะการทำงานของดาวเทียมระบบนำทาง (Global Navigation Satellite Systems: GNSS) หรือดาวเทียมนำร่องนั้นนั้น ดร.สวัสดิ์เปรียบเทียบว่าเหมือนการส่งเสียงตะโกนลงมาว่า ดาวเทียมดวงนั้นๆ อยู่ที่ตำแหน่งไหนบนท้องฟ้าในแต่ละเวลา เมื่อเครื่องรับสัญญาณจากดาวเทียมประเภทนี้ครบ 4 ดวง ก็สามารถระบุพิกัดบนโลกได้ โดยอาศัยการคำนวณเรขาคณิตทั่วๆ ไป

สำหรับการประยุกต์ใช้งานจากดาวเทียมเหล่านี้คือการพัฒนาเครื่องรับสัญญาณเพื่อการใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ โดย ดร.สวัสดิ์ ได้ยกตัวอย่างญี่ปุ่นที่พัฒนาระบบเตือนภัยสึนามิและภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่นๆ โดยใช้สัญญาณจากดาวเทียม  QZSS โดยได้พัฒนาแอปพลิเคชันที่อาศัยทั้งข้อมูลดาวเทียมและข้อมูลจากูนย์เตือนภัยพิบัติระดับชาติ เพื่อแจ้งเตือนแก่ผู้ใช้แล้วนำทางไปยังจุดที่ปลอดภัย โดยไม่ต้องอาศัยสัญญาณจากเครือข่ายโทรศัพท์มือถือหรือสัญญาณอินเทอร์เน็ต

“ปัจจุบันสมาร์ทโฟนทุกเครื่องมีอุปกรณ์ที่สามารถรับสัญญาณจากดาวเทียมจีพีเอสได้ แต่เชื่อว่าอีก 1-2 ปี สมาร์ทโฟนส่วนใหญ่จะสามารถรับสัญญาณจากดาวเทียมนำร่องของหลายๆ ประเทศได้ และย่านอาเซียนจะเป็นจุดที่มีรับสัญญาณจากดาวเทียมประเภทนี้หนาแน่นที่สุด” ดร.สวัสดิ์

เมื่อเร็วๆ นี้ยังได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการสัญญาณดาวเทียมที่มีความแม่นยำสูงระดับภูมิภาคเอเชีย-โอเชียเนีย (Asia-Oceania Regional Workshop on GNSS) ขึ้นที่ จ.ภูเก็ต โดยความร่วมมือระหว่าง สวทช. และกลุ่มจีเอ็นเอสเอส (GNSS) ในภูมิภาคเอเชีย-โอเชียเนีย ซึ่ง ดร.สวัสดิ์กล่าวว่า เป็นโอกาสอันดีในการแลกเปลี่ยนความก้าวหน้าและเทคโนโลยีใหม่สุดทางด้านนี้ เนื่องจากมีผู้เชี่ยวชาญจากหลายประเทศมารวมตัวกัน







*******************************

กำลังโหลดความคิดเห็น