xs
xsm
sm
md
lg

René Descartes บิดาเรขาคณิตวิเคราะห์

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

ภาพเหมือนของ René Descartes วาดโดย Frans Hals
René Descartes คือนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ผู้คิดวิธีหาสัจจะในวิชาวิทยาศาสตร์ และในชีวิต โดยเชื่อมั่นว่า ตรรกะ (logic) และวิธีพิสูจน์ของคณิตศาสตร์สามารถเชื่อมโยงและเป็นกุญแจไขความลึกลับต่างๆ ได้ องค์ความรู้สำคัญที่ Descartes สร้างคือ วิชาเรขาคณิตวิเคราะห์ (analytic geometry) ซึ่งได้จากการรวมพีชคณิต กับเรขาคณิตเป็นหนึ่งวิชา อันมีผลทำให้วิชาทั้งสองได้พัฒนาซึ่งกันและกันมาจนทุกวันนี้

René du Perron Descartes เกิดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ.1596 (ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช) ที่เมือง La Haye ในฝรั่งเศส (ปัจจุบันคือเมือง Descartes) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปารีส ในปีที่ Descartes เกิดนั้น Galileo มีอายุ 32 ปี และ Kepler มีอายุ 24 ปี บิดาชื่อ Joachim เป็นนักกฎหมายและที่ปรึกษาของสภาผู้แทนแห่งแคว้น Brittany ด้านบรรพบุรุษของมารดาซึ่งชื่อ Jeanne มีอาชีพเป็นทหาร หลังจากที่คลอด Descartes ได้ไม่นาน มารดาก็เสียชีวิต Descartes ในฐานะลูกคนที่สามมีสุขภาพไม่ดี ดังนั้น ญาติทุกคนจึงคิดว่า เขาคงมีชีวิตต่อไปอีกไม่นาน แม้จะเป็นลูกที่กำพร้าแม่ แต่ Descartes ก็ไม่เดือดร้อน เพราะมารดาได้ทิ้งมรดกไว้ให้ลูกๆ มีเงินใช้อย่างพอเพียงจนตลอดชีวิต

Descartes เป็นเด็กที่ค่อนข้างอ่อนแอ จึงต้องได้รับการดูแลและประคบประหงม มากทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน อีกทั้งเป็นคนเงียบ และชอบครุ่นคิดตลอดเวลา ทำให้บิดาตั้งฉายา Descartes ว่า “นักปรัชญาตัวน้อยของพ่อ”

เมื่ออายุ 10 ขวบ Descartes ได้เข้าโรงเรียนชื่อ La Fléche ที่เมือง Anjou ซึ่งมีบาทหลวง Jesuit เป็นผู้บริหาร และเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงมากที่สุดโรงเรียนหนึ่งของยุโรป Descartes เรียนวิชาคลาสสิก ตรรกวิทยา ปรัชญาของ Aristotle และเรียนคณิตศาสตร์ของ Clavius ได้ดีมากทั้งๆ ที่มีสุขภาพไม่ดี (เป็นวัณโรค) Descartes ผู้บิดาจึงขออนุญาตครูที่สอนให้ลูกชาย Descartes ไปโรงเรียนสายได้คือ สามารถนอนพักที่บ้านได้จนถึงเวลา 11 โมงเช้า และนี่ก็คือกิจวัตรที่เด็กชาย Descartes ทำทุกวันตั้งแต่วัยเด็กจนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิต

ตลอดเวลา 8 ปีที่เรียนหนังสือที่โรงเรียน Le Fléche Descartes ได้รับการศึกษาที่ทันสมัย และพบว่าชอบคณิตศาสตร์มากที่สุด เมื่อสำเร็จการศึกษา Descartes เชื่อมั่นว่า มนุษย์มีความรู้เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ค่อนข้างน้อย และสำหรับตัวเองเขารู้สึกว่า โง่มาก Descartes ยังคิดอีกว่า คณิตศาสตร์เป็นวิชาเดียวเท่านั้นที่ควรค่าในการศึกษา เพราะมีคำตอบที่แน่นอน และแม่นตรง แต่ยังมิได้ถูกนำไปประยุกต์เป็นพื้นฐานของวิทยาการสาขาอื่นมากเท่าที่ควร แม้จะมีความคิดเห็นในเชิงลบเช่นนี้ Descartes ก็ยังลอบเรียนคณิตศาสตร์ และศึกษาวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัย Poitiers เป็นเวลา 2 ปี

เมื่ออายุ 20 ปี Descartes สำเร็จปริญญาตรีสาขากฎหมาย และตัดสินใจไม่เรียนต่อในระดับปริญญาโทและเอก แต่คิดเดินทางไปหาประสบการณ์และความรู้โดยการท่องเที่ยวไปในโลก เพราะได้รับมรดกเป็นเงินมหาศาล ทำให้ไม่ต้องพึ่งพาใคร Descartes ได้ตัดสินใจสมัครเป็นทหาร ซึ่งตามปกติคนที่มีฐานะดีเวลาเข้ามาเป็นทหารไม่ใช่เพื่อต่อสู้ข้าศึก แต่เพื่อความมีเกียรติ และการได้ตำแหน่งสูง นอกจากนี้ก็ยังเปิดโอกาสให้เดินทางไปต่างประเทศบ่อยด้วย ดังนั้น เมื่ออายุ 22 ปี Descartes จึงตัดสินใจสมัครเป็นทหารภายใต้การบังคับบัญชาของ Maurice of Nassau Orange ผู้เป็นเจ้าชายซึ่งกำลังต่อสู้กับทหารสเปนที่พยายามยึดครองอาณานิคมของฝรั่งเศสในฮอลแลนด์

หลังจากที่ใช้ชีวิตเป็นทหารในฮอลแลนด์นาน 1 ปี Descartes ได้สมัครไปเป็นทหารใต้บังคับบัญชาของท่านดยุคแห่ง Bavaria แต่ไม่ได้สู้รบใคร ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1619 Descartes เล่าว่า เขาฝันว่าได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งทำให้เขารู้วิธีที่จะค้นหาความรู้ Descartes จึงตัดสินใจว่า จะค้นหาความจริงนี้ โดยการทำงานคนเดียว ด้วยการตั้งประเด็นสงสัยในทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้เคยร่ำเรียนมา หรือที่อาจารย์สอน ซึ่งหมายความว่า สิ่งเดียวที่ Descartes มั่นใจในการค้นหาความจริงนี้คือ Descartes มีตัวตน ส่วนประเด็นที่เหลือเป็นที่สงสัยหมด

หลังจากที่ได้ลาออกจากราชการทหาร Descartes ได้เดินทางไปฝรั่งเศสและยุโรป โดยได้แวะเยี่ยมเพื่อนนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ จนถึงปี 1628 Descartes จึงตัดสินใจตั้งรกรากอยู่ในฮอลแลนด์ เพราะรู้สึกว่าชาวฮอลแลนด์ชอบรับฟังและยอมรับความคิดนอกกรอบได้ดีกว่าชนชาติอื่น และ Descartes รู้สึกมั่นใจว่าที่คิดนั้นถูก เพราะ Galileo Galilei ถูกสถาบันศาสนาในโรมตัดสินกักบริเวณ เมื่อ Galileo ปรักปรำสถาบันศาสนา และต่อต้านคำสอนในคัมภีร์ไบเบิล

Descartes ชอบใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว จึงไม่แต่งงานกับใคร และมีเพื่อนสนิทเพียงไม่กี่คน ในช่วงเวลาที่อยู่ในฮอลแลนด์ เมื่อมีชื่อเสียงจนเป็นที่รู้จักดี Descartes เปลี่ยนที่พักถึง 24 ครั้ง เพื่อไม่ให้ใครรู้ว่าเขาอยู่ที่ใด

Descartes ได้ผลิตผลงานเขียนมากที่สุดขณะพำนักอยู่ที่ฮอลแลนด์ เพราะเป็นคนต้องการรู้ความจริงทุกรูปแบบ ดังนั้น งานเขียนของ Descartes จึงครอบคลุมแทบทุกสาขาทั้งฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ อุตุนิยมวิทยา ทัศนศาสตร์ คัพภวิทยา กายวิภาควิทยา สรีรวิทยา จิตวิทยา ธรณีวิทยา แพทย์ศาสตร์ และโภชนาการศาสตร์
ภาพผลงานของ René Descartes แสดงแนวคิดเกี่ยวกับคณิตศาสตร์และเรขาคณิตต่อร่างกายมนุษย์
ผลงานสำคัญที่สุดในสายตาของ Descartes คือ งานที่ตีพิมพ์ในปี 1637 เรื่อง “A Discourse on the Method of Rightly Conducting Reason and Seeking Truth in the Sciences” ซึ่งมีใจความว่า เวลามีปัญหาที่ต้องการคำตอบ ให้แยกปัญหานั้นออกเป็นส่วนๆ แล้วแก้ปัญหาย่อยนั้น แต่โลกกลับคิดว่า ผลงานสุดยอดของ Descartes คือ บทความที่ยาว 106 หน้าในหนังสือ La Géométric ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับวิชาใหม่ ชื่อ เรขาคณิตวิเคราะห์ซึ่งเป็นผลงานที่ได้จากการสังเคราะห์พีชคณิตกับเรขาคณิต ทั้งๆ ที่ในอดีต นักคณิตศาสตร์ทั้งหลายเคยคิดว่า วิชาทั้งสองนี้ไม่เกี่ยวข้องกันเลย

สำหรับผลงานเรขาคณิตวิเคราะห์นี้ มีตำนานเล่าว่า วันหนึ่งขณะ Descartes ไปเยี่ยม Mersenne ที่ห้องพัก เขาเห็นแมลงวันบินวนไปมาในห้อง ในความพยายามจะระบุตำแหน่งของแมลงวันบนผนังห้อง Descartes ได้จินตนาการว่า ผนังห้องมีแกนสองแกนที่ตั้งฉากกัน จากนั้นตำแหน่งของแมลงวันก็สามารถระบุได้จากระยะทางที่มันอยู่ห่างจากแกนทั้งสอง ระบบการบอกตำแหน่งเช่นนี้ ปัจจุบันเรารู้จักในนามว่า กราฟ (graph) ซึ่งมีแกน y อยู่ในแนวดิ่ง และแกน x อยู่ในแนวราบ ถ้าแมลงวันคลานในทิศที่เอียงทำมุม 45 องศากับแกนทั้งสอง สมการทางเดินของแมลงวันในสองมิติคือ y = x วิทยาการสาขาใหม่ที่ Descartes สร้างนี้มีประโยชน์ในการเขียนกราฟและทำแผนที่ ซึ่งมีแกนสองแกนตั้งฉากกัน และจุดตัดของแกนทั้งสองเรียกจุดกำเนิด เมื่อกำหนดระยะทางบนแกนทั้งสอง Descartes ได้แสดงให้เห็นว่า ตำแหน่งของจุดทุกจุดบนระนาบ (เรียกระนาบคาร์ทีเซียน) สามารถระบุได้ด้วยตัวเลข 2 ค่า ซึ่งบอกระยะทางของจุดนั้นในแนวนอน และแนวดิ่ง จากนั้น Descartes ก็ได้แสดงให้เห็นว่า เส้นโค้งเรขาคณิต เช่น วงรี วงกลม ไฮเปอร์โบลา พาราโบลา ฯลฯ สามารถแทนได้ด้วยสมการพีชคณิต ดังนั้น การแก้โจทย์เรขาคณิต ก็อาจทำได้โดยการแก้โจทย์พีชคณิต ในเวลาต่อมาพิกัดคาร์ทีเซียนใน 2 มิติก็ได้รับการต่อยอดให้ครอบคลุม 3 มิติ

วิชาเรขาคณิตที่มีสมการพีชคณิตกำกับ ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถวิเคราะห์การเคลื่อนที่ทุกรูปแบบได้ โดยใช้คณิตศาสตร์ เพราะเวลามีสมการ เทคนิคคณิตศาสตร์สามารถแสดงให้เห็นว่า อะไรจะเกิดขึ้นถ้ากระสุนมีความเร็วมากขึ้น โดยไม่ต้องทดลองยิงจริง

การที่ Descartes นำเทคนิคพีชคณิตมาใช้ในวิชาเรขาคณิต ทำให้เห็นคุณสมบัติเชิงเรขาคณิตของรูปทรงต่างๆ ชัดขึ้น ผลงานนี้นับเป็นผลงานของ Descartes ที่จีรังยั่งยืนที่สุด จนถือได้ว่า Descartes คือบิดาของวิชาเรขาคณิตวิเคราะห์

ส่วน Pierre de Fermat แม้จะคิดวิชาเรขาคณิตวิเคราะห์ได้ก่อน Descartes แต่ de Fermat ก็มิได้ตีพิมพ์ผลงานของตน ดังนั้น เครดิตการสร้างวิชาเรขาคณิตวิเคราะห์จึงตกเป็นของ Descartes แต่เพียงผู้เดียว

ปัจจุบันนี้ใครที่ใช้กราฟ ใช้แผนที่ศึกษาเส้นรุ้งและเส้นแวง ล้วนเป็นการใช้ประโยชน์ของวิชาเรขาคณิตวิเคราะห์ของ Descartes ทั้งสิ้น วิชานี้จึงเป็นผลงานของ Descartes ที่ยืนยงยิ่งกว่าผลงานเขียนด้านอื่นๆ ทั้งหมด

ในปี 1649 ชื่อเสียงของ Descartes ได้แพร่กระจายไปทั่วในฐานะนักปรัชญา นักคณิตศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของยุโรป ความมีชื่อเสียงทำให้พระราชินีแห่งสวีเดนทรงเชิญให้ Descartes เป็นพระอาจารย์ในพระองค์ และเป็นผู้บริหารของสถาบัน Swedish Academy of Science หลังจากที่พระราชินี Christina ซึ่งขณะนั้นทรงมีพระชนมายุ 23 พรรษาได้เพียรพยายามเชิญ Descartes มาเข้าร่วมทำงานกับนักวิชาการที่กรุง Stockholm ในสวีเดนเป็นเวลานานถึง 3 ปี Descartes จึงตกลงใจตอบรับคำเชิญ และพระราชินี Christina จึงทรงส่งเรือมารับ Descartes ไปสวีเดน ทั้งๆ ที่ ณ เวลานั้นสวีเดนทั้งประเทศกำลังมีฤดูหนาว สมเด็จพระราชินีผู้ทรงมีพระจริยาวัตรไม่เอื้ออาทรใคร ทรงขอให้ Descartes ตื่นแต่เช้าตรู่แล้วเดินมาถวายพระอักษรด้านปรัชญาแด่พระนางสัปดาห์ละ 3 ครั้ง โดย Descartes เริ่มสอนตั้งแต่เวลาตี 5 จนถึงเวลา 11 โมง

ด้วยสุขภาพที่ไม่แข็งแรง และอากาศที่หนาวจัด Descartes ได้ล้มป่วย และเสียชีวิตที่ Stockholm เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1650 หลังจากที่ได้ป่วยเป็นโรคปอดบวมเป็นเวลานาน 10 วัน

Descartes เชื่อว่า วิทยาศาสตร์สามารถอธิบายธรรมชาติได้ (คำว่าธรรมชาติในที่นี้ Descartes หมายความถึงมนุษย์ด้วย) การเป็นคนชอบสันโดษ และไม่แสดงออกซึ่งอารมณ์ ทำให้คนบางคนคิดว่า เขาเป็นคนที่ต่อต้านความรู้สึกจะผูกพันกับใคร และต่อต้านสังคม แต่ Descartes ก็มีลูกสาวลับคนหนึ่งชื่อ Francine ซึ่ง Descartes รักมาก และแม่ของเด็ก คือ คนรับใช้ของ Descartes นั่นเอง

เมื่อถึงปี 1640 เด็กคนนี้ก็เสียชีวิตด้วยโรคดำแดง และ Descartes ได้เขียนหนังสืออุทิศให้เธอ โดยให้ชื่อของเธอปรากฏที่หน้าหนึ่งของหนังสือนั้น แต่ไม่มีการกล่าวถึงชื่อแม่ของเธอแต่อย่างใด

ผลงานวิทยาศาสตร์อื่นๆ ของ Descartes ที่สำคัญ คือการพบว่า แสงเป็นคลื่น และวิธีวิเคราะห์ความคลาดเชิงทรงกลม (spherical aberration) ที่มักเกิดเวลานักทดลองใช้เลนส์หรือกระจกโค้งขนาดใหญ่ ซึ่งมีผลทำให้เลนส์หรือกระจกโค้งไม่สามารถโฟกัสแสงได้ดี ในปี ค.ศ.1611 Descartes ได้เรียบเรียงตำราชื่อ “On the Rays of Sight and Light” ซึ่งได้กล่าวถึงที่มาของรุ้งกินน้ำ 2 ตัว (ปฐมภูมิ และทุติยภูมิ) สำหรับรุ้งปฐมภูมินั้น Marco Antonio de Dominis ได้อธิบายว่าเกิดจากการสะท้อนของแสงในหยดน้ำเพียงครั้งเดียว แล้วแสงหักเหออก และ Descartes ได้อธิบายรุ้งทุติยภูมิว่า เกิดจากการสะท้อนของแสงในหยดน้ำสองครั้ง แล้วหักเหออก Descartes ยังได้พบอีกว่า สารต่างชนิดกันมีความสามารถในการรับและคายความร้อนได้ไม่เท่ากัน นี่คือความรู้เรื่องความร้อนจำเพาะที่นักเรียนปัจจุบันรู้จัก

ขณะพำนักที่ฮอลแลนด์ Descartes ได้รู้จักนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น Christiaan Huygens และได้วิจัยด้านทัศนศาสตร์หลายเรื่อง เช่น พบกฎการหักเหของแสงในตัวกลาง ในเวลาไล่เรี่ยกับ Williebrord Snell และรู้ว่าเลนส์ตาคนมีบทบาทในการทำให้เห็นภาพ สำหรับผลงานด้านอุตุนิยมวิทยานั้น ตำรา Les Meteores ของ Descartes ก็มีส่วนทำให้ Robert Boyle พบกฎของ Boyle ในด้านธรณีวิทยา เมื่อตำรา Le Monde ou Traité de la Lumière ที่ Descartes เขียนมีเนื้อหาที่ขัดแย้งกับคำสอนของคริสต์ศาสนา Descartes จึงยับยั้งการตีพิมพ์ เพราะกลัวจะเหมือน Galileo ที่ถูกจับด้วยข้อหาว่า ตำหนิคำสอนของศาสนาหลายเรื่อง จะอย่างไรก็ตามหนังสือเล่มนี้ ก็ได้ปรากฏในบรรณโลก หลังจากที่ Descartes เสียชีวิตไปแล้ว

Descartes เชื่อว่ากลศาสตร์ที่มีคณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือสามารถอธิบายเหตุการณ์ทางกายภาพในเอกภพได้ แต่ Descartes ไม่เชื่อเรื่องแรงโน้มถ่วงของนิวตัน โดยให้เหตุผลว่า ถ้าวัตถุไม่อยู่ติดกัน แรงกระทำระหว่างวัตถุไม่น่าจะมี และในกรณีดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ Descartes เชื่อว่า เพราะถูกกระแสคลื่น ether ในอวกาศผลัก และ ether นี้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้แสงอาทิตย์เดินทางผ่านถึงโลก

ในปี 1637 Descartes ได้เรียบเรียงหนังสือชื่อ “The Discourse on Methods” ซึ่งมีอิทธิพลต่อความคิดของนักวิทยาศาสตร์ในเวลาต่อมามาก เช่น Descartes ย้ำว่า นักวิทยาศาสตร์ไม่ควรถกเถียงกับนักบวชว่า คำสอนในคัมภีร์ไบเบิลเป็นเรื่องจริงหรือไม่ แต่ควรสงสัยความจริงทุกสิ่งทุกอย่าง และให้เลิกสงสัย เมื่อสิ่งนั้นได้รับการพิสูจน์ อีกทั้งควรเชื่อว่า การจะรู้ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถเป็นไปได้ และเมื่อมนุษย์รู้จักคิด ไม่ว่าจะคิดผิด คิดถูก หรือคิดเพี้ยน การคิดจะทำให้รู้ว่าเขามีตัวตน และ Descartes ได้เอ่ยคำกล่าวที่เป็นอมตะว่า Cogito, ergo sum ซึ่งแปลว่า I think, therefore I am หนังสือเล่มนี้ยังสอนอีกว่า ความรู้ที่ได้จากประสบการณ์อาจเปลี่ยนแปลงได้ และนักวิทยาศาสตร์ต้องใช้ความคิดในการแก้ปัญหาทุกเรื่อง อนึ่งเวลาแก้ปัญหา นักวิทยาศาสตร์ควรพยายามหาคำตอบที่ง่ายที่สุดก่อน แล้วจึงพยายามหาคำตอบที่ซับซ้อนขึ้น ตามความหมายนี้ Descartes คิดว่าคำตอบน่าจะเป็นเรื่องง่ายที่ตรงไปตรงมามากกว่าเป็นเรื่องที่สับสน เพราะเส้นตรงมีรูปทรงที่ง่ายกว่าเส้นโค้ง และเมื่อได้คำตอบแล้ว ก็ให้พิจารณาดูว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นว่าจะเป็นเช่นไรเพื่อให้รู้ว่า คำตอบนั้นถูกหรือผิดเพียงไร

หลังจากที่ Descartes เสียชีวิตไป 16 ปี โลงศพของ Descartes ก็ถูกนำออกจากบริเวณสุสานของโบสถ์ Adolf Fredriks ในกรุง Stockholm ประเทศสวีเดนเพื่อนำไปเก็บที่บ้านพักของท่านเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสวีเดน ชื่อ Hugues de Terlon ซึ่งเมื่อเปิดฝาโลงออก ได้นำชิ้นส่วนต่างๆ ของศพใส่ในโลงทองแดงเพื่อนำไปเก็บในสถานที่เหมาะสมกว่าคือที่โบสถ์ St. Genevieve ในกรุงปารีส

ในหนังสือ Descartes’s Bones: A Skeletal History of the Conflict Between Faith and Reason ที่ Russell Shorto เรียบเรียง และจัดพิมพ์โดย Doubleday ในปี 2008 Shorto เล่าว่า หลังจาก Descartes ตาย บรรดาสานุศิษย์ และคนที่ศรัทธาในความสามารถของ Descartes ได้พากันเก็บชิ้นส่วนต่างๆ ของกระดูกเพื่อนำไปบูชาหรือนำไปเป็นที่ระลึก รวมถึงมอบต่อเป็นมรดกให้ลูกหลาน เช่น กระดูกนิ้วชี้มือขวาของ Descartes ถูกตัดแยกออกจากโครงกระดูกทั้งหมด เพราะคนที่คลั่งในตัว Descartes เชื่อว่า นิ้วชี้นิ้วมีบทบาทมากในการเขียนความคิดทางปรัชญาของผู้ตาย และครอบครัวชาวสวีเดนครอบครัวหนึ่งอ้างว่าได้ตัดส่วนที่เป็นกระโหลกศีรษะของ Descartes ออกไปเก็บเป็นที่ระลึก เพราะถือว่าอวัยวะส่วนนี้ของ Descartes คือ ต้นกำเนิดของแนวคิดอย่างมีเหตุผลของมนุษย์

ครั้นเมื่อเกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่ในฝรั่งเศส Alexandre Lenoir ผู้รับผิดชอบการดูแลรักษากระดูกของคนสำคัญของฝรั่งเศสทุกคนได้รับคำสั่งให้นำกระดูกของ Descartes จากโบสถ์ St. Genevieve ไปบรรจุที่ Pantheon ตามคำบัญชาของคณะปฏิวัติ แต่เขาไม่ทำตาม กลับนำไปเก็บในสวนส่วนตัว จึงไม่มีใครรู้ชัดว่าชิ้นส่วนต่างๆ ที่ Lenoir เก็บในสวนนั้นเป็นของ Descartes ทั้งหมดหรือไม่ เพราะในระหว่างปี 1640 – 1660 มีนักเก็บสะสมของแปลกที่หายากชาวอังกฤษชื่อ John Bargrave ซึ่งหลังจากได้เดินทางไปแสวงหาของหายากในยุโรปแล้ว เมื่อกลับถึงอังกฤษ เขาได้มอบมรดกที่ตนเก็บสะสมมาเป็นเวลานานแก่ท่านบาดหลวงแห่ง Canterbury Cathedral เป็นกระดูกของนักบุญ 31 องค์ แหวน สร้อย ฯลฯ โดยมีคำบรรยายว่า Bargrave หาสิ่งเหล่านี้ได้จากที่ใด คืออะไร และซื้อเมื่อใด ประเด็นที่น่าสนใจคือ บรรดาสิ่งที่ Bargrave เก็บสะสมนั้นท่านอ้างว่า มีกระดูกนิ้วมือขวาของ Descartes ด้วย

ส่วนที่เป็นกระโหลกศรีษะของ Descartes นั้น ก็มีคนอ้างว่ามีเก็บไว้หลายคน เช่นในปี 1821 นักชีววิทยาชื่อ George Cuvier อ้างว่า มีกระโหลกของ Descartes ในครอบครอง แต่ไม่มีใครพิสูจน์ยืนยันและ ณ วันนี้ กระโหลกนี้อยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Musée de L’ Homme ใน Palais de Chaillot
ภาพผลงานของ René Descartes แสดงแนวคิดเกี่ยวกับคณิตศาสตร์และเรขาคณิตต่อการทำงานของร่างกาย
อ่านเพิ่มเติมจาก Descartes’ Error: Emotion, Reason and the Human Brain โดย António R. Damasio จัดพิมพ์โดย Grosset/Putnam ในปี 1994 ซึ่งกล่าวถึงผลงานปรัชญาที่เกี่ยวข้องกับความนึกคิดและความมีเหตุผลของมนุษย์

เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์


Instagram








*******************************



*******************************
กำลังโหลดความคิดเห็น