ญี่ปุ่นแนะนำระบบเตือนภัยสึนามิด้วยเอสเอ็มเอส แนะเส้นทางหนีที่ปลอดภัย ใช้ได้แม้สัญญาณมือถือหรืออินเทอร์เน็ตล่ม อาศัยช่องทางการสื่อสารผ่านดาวเทียมระบบนำทางของญี่ปุ่นที่ส่งข้อความมายังมือถือได้
ผศ.นาโอฮิโกะ โคตาเกะ (Naohiko Kohtake) ผู้ช่วยศาสตรจารย์จากบัณฑิตวิทยาลัยการออกแบบและการจัดการระบบ มหาวิทยาลัยเคโอ (Keio University) ญี่ปุ่น แนะนำระบบเตือนภัยสึนามิด้วยระบบนำทางด้วยดาวเทียม (Global Navigation Satellite Systems: GNSS) ที่สมารถใช้งานในเมืองไทยซึ่งประสบภัยสึนามิเช่นเดียวกับญี่ปุ่น
ทั้งนี้ ระบบดังกล่าวทำงานโดยรับสัญญาณดาวเทียม QZSS (Quasi-Zenite Satellite Systems) ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นดาวเทียมระบบนำทางเชืนเดียวกับดาวเทียมจีพีเอส (GPS) ของสหรัฐฯ
ผศ.โตตาเกะระบุว่า หลังญี่ปุ่นเผชิญภัยสึนามิเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ได้ประสบปัญหาในการเตือนภัย เนื่องจากสัญญาณอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายมือถือล่มจนไม่สามารถสื่อสารได้ จึงเกิดแนวคิดเตือนภัยผ่านดาวเทียม
สำหรับดาวเทียม QZSS นั้น เป็นดาวเทียมที่ญี่ปุ่นพัฒนาขึ้นมา เพื่อแก้ข้อจำกัดจากการเข้าถึงสัญญาณดาวเทียมจีพีเอสและดาวเทียมระบบนำทางอื่นๆ เนื่องจากญี่ปุ่นมีตึกสูงมากมาย ทำให้สัญญาณไม่ครอบคลุม โดยดาวเทียมระบบนำทางของญี่ปุ่นจะลอยอยู่ในมุมตั้งฉากนานหลายชั่วโมง
หลังจากประสบปัญหาการสื่อสารระหว่างเกิดภัยสึนามิ ทางญี่ปุ่นจึงเพิ่มคำสั่งให้ดาวเทียม QZSS ที่ส่งขึ้นฟ้าไปแล้ว ให้สามารถส่งข้อความลงมายังสมาร์ทโฟน ซึ่งปกติมีระบบรับสัญญาณดาวเทียมนำทางหรือ GNSS อยู่แล้ว ปัจจุบันญี่ปุ่นส่งดาวเทียมชุดนี้ไปแล้ว 1 ดวง และจะส่งขึ้นไปอีก 3 ตัวใน 2-3 ปีข้างหน้าเพื่อการทำงานที่สมบูรณ์
อย่างไรก็ดี สำหรับระบบเตือนภัยพิบัติผ่านดาวเทียม QZSS นี้ ผศ.โคตาเกะระบุว่า ยังต้องอาศัยอุปกรณ์รับสัญญาณ ซึ่งเชื่อมต่อสมาร์ทโฟนผ่านบลูทูธ และสมาร์ทโฟนต้องติดตั้งแอปพลิเคชั่นนำทางเมื่อเกิดภัยพิบัติ โดยเบื้องต้นญี่ปุ่นได้พัฒนาแอปพลิเคชั่นนำร่องในการเตือนภัย
"อนาคตหากสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ ติดตั้งชิปรับสัญญาณดาวเทียม QZSS ซึ่งเข้าถึงได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์รับสัญญาณ" ผศ.โคตาเกะกล่าว
ในส่วนการทำงานของแอปพลิเคชั่นนั้น เมื่อดาวเทียมได้รับสัญญาณสึนามิหรือภัยพิบัติอื่นๆ จะส่งข้อความเตือนมายังผู้ใช้สมาร์ทโฟน พร้อมระบุจุดปลอดภัยในการอพยพ โดยอาศัยข้อมูลตำแหน่งผู้ใช้จากดาวเทียม รวมถึงข้อมูลการอพยพสู่จุดปลอดภัยจากศูนย์เตือนภัยระดับชาติ และหากผู้ใช้อยู่ในจุดปลอดภัยแล้วก็ไม่จำเป็นต้องเคลื่อนที่ไปไหน
สำหรับระบบเตือนภัยพิบัติผ่านดาวเทียม QZSS เป็นความร่วมมือของรัฐบาลญี่ปุ่น บริษัทเอ็นทีที (NTT) ของญี่ปุ่น และมหาวิทยาลัยเคโอ และไม่เพียงแค่เตือนภัยสึนามิ แต่ ผศ.โคตาเกะ ระบุว่ายังนำไปใช้เตือนภัยอื่นๆ ได้ โดยยกตัวอย่างว่ามีความร่วมมือกับออสเตรเลียในการนำระบบไปเตือนภัยไฟป่า และอนาคตจะมีความร่วมมือกับอินโดนีเซียด้วย
"สัญญาณจากดาวเทียม QZSS ครอบคลุมพื้นที่ทวีปเอเชียและออสเตรเลีย ซึ่งไทยที่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วมและสึนามิเช่นเดียวกับญี่ปุ่นก็สามารถนำมาใช้ได้ และยุโรปซึ่งเห็นตัวอย่างจากญี่ปุ่นก็มีแนวคิดในการพัฒนาดาวเทียมและระบบเตือนภัยรูปแบบเดียวกันนี้ โดยดาวเทียมของยุโรปจะครอบคลุมไปถึงแอฟริกา และหากพัฒนาโดยใช้มาตรฐานเดียวกัน เราจะใช้สมาร์ทโฟนเพื่อรับการเตือนภัยได้เหมือนกันทั้งโลก" ผศ.โคตาเกะกล่าว
พร้อมกันนี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคโอและบริษัทเอ็นทีทียังได้สาธิตระบบเตือนภัยดังกล่าวที่ชายหาดป่าตอง จ.ภูเก็ต โดยให้ทางญี่ปุ่นส่งสัญญาณหลอกแจ้งเตือนสึนามิมายังระบบ แล้วหาที่ปลอดภัยตามคำแนะนำของแอปพลิเคชั่น
การสาธิตการทำงานของระบบครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการสัญญาณดาวเทียมที่มีความแม่นยำสูงระดับภูมิภาคเอเชีย-โอเชียเนีย (Asia-Oceania Regional Workshop on GNSS) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-11 ต.ค.57 ณ จังหวัดภูเก็ต โดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกลุ่มจีเอ็นเอสเอส (GNSS) ในภูมิภาคเอเชีย-โอเชียเนีย
*******************************