เปิดตัว "ธัมบ์ไดร์ฟ" จากยางพาราผสมพลาสติกชีวภาพผลงานไทยชิ้นแรก ผลพวงการค้นคว้าวิจัยนานกว่า 2 ปี ตอบโจทย์ความต้องการตลาด แต่หาผู้ผลิตไม่ได้
ณัฎฐยา อรรจนานันท์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท คอนเซปต์ทรี จำกัด เผยว่า ทางบริษัทมีแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีวัสดั 3 ประเภทที่นำมาใช้ คือ วัสดุรีไซเคิล เส้นใยธรรมชาติ และพลาสติกชีวภาพ
"ในส่วนของพลาสติกชีวภาพทางบริษัทได้ทำวิจัยเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา พบว่าสินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าตั้งโต๊ะอาหาร เช่น จาน ชาม แก้วกาแฟ เป็นต้น แต่ทางบริษัทเน้นสินค้าไลฟ์สไตล์ เรานำเข้าสินค้าจำพวกปากกา ธัมบ์ไดร์ฟจากต่างประเทศ ซี่งพบว่าได้กระแสตอบรับดี แต่ไม่มีคนไทยทำ"
ทางคอนเซปต์ทรีจึงเข้าไปปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งสนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาเชิงพาณิชย์ โดยได้เชิญนักวิจัยจากหลายสถาบันมาช่วยแก้ปัญหา โดยมี ผศ.ดร.ธาริณี นามพิชญ์ จากภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหนึ่งในทีมวิจัย
ผศ.ดร.ธาริณี ระบุว่าศึกษาเรื่องพลาสติกชีวภาพมานานกว่า 6 ปี และได้โจทย์ในการพัฒนาพลาสติกชีวภาพสำหรับผลิตธัมบ์ไดร์ฟจากทาง วช. ซึ่งได้พัฒนาสูตรพลาสติกชีวภาพที่เหมาะสม และผสมยางพาราลงไปด้วย เพื่อเพิ่มคุณสมบัติเชิงกลของวัสดุให้ดีขึ้น และช่วยเพิ่มความเหนียวให้แก่พลาสติกชีวภาพด้วย โดยสามารถผสมยางพาราได้ในสัดส่วนสูงสุด 20% และจุดเด่นคือย่อยสลายได้ 100% เมื่อฝังกลบ
หลังพัฒนาสูตรพลาสติกที่เหมาะสมรวมถึงพัฒนากระบวนการขึ้นรูปเป็นเวลากว่า 2 ปี จึงได้ธัมบ์ไดร์ฟพลาสติกชีวภาพผสมยางพาราในชื่อ "ไทยธัมบ์" (Thai Thumb) ที่มีความจุ 4 กิกะไบท์ และได้เปิดตัวเมื่อวันที่ 29 ต.ค.57 ณ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)
ในการพัฒนาธัมบ์ไดร์ฟจากพลาสติกชีวภาพนี้ ยังได้ความร่วมมือจากการพัฒนากระบวนการขึ้นรูปจากสถาบันพลาสติก กระทรวงอุตสาหกรรม โดยดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการของสถาบันกล่าวว่า การฉีดขึ้นรูปพลาสติกนั้นยาก หากช่างไม่ชำนาญและทำเสียรูปก็จะกลายเป็นต้นทุนที่สูงขึ้น
"ทางสถาบันได้ศึกษาการขึ้นรูปพลาสติกชีวภาพในหลายรูปแบบ และหาทางลดต้นทุน ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ทำให้สถาบันได้องค์ความรู้ในการปรับกระบวนการขึ้นรูปด้วย โดยปัจจุบันช่วยออกแบบกระบวนการผลิตในระดับเล็กที่สามารถผลิตชิ้นได้ 1,000-2,000 ชิ้นต่อวัน แต่หากมีความต้องการชิ้นก็สามารถออกกำลังผลิตให้มากกว่านี้ได้" ดร.เกรียงศักดิ์กล่าว
เมื่อเปรียบต้นทุนกับเม็ดพลาสติกจากปิโตรเคมีแล้วเม็ดพลาสติกชีวภาพมีต้นทุนสูงกว่าเท่า และถ้ารวมความเสียจากกระบวนการขึ้นรูปด้วยแล้ว ดร.เกรียงศักดิ์กล่าวว่า ต้นทุนจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า แต่ปัจจุบันราคาเม็ดพลาสติกชีวภาพเริ่มถูกลงตามเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น ขณะที่เม็ดพลาสติกปิโตรเลียมก็แพงขึ้นตามราคาน้ำมัน และอนาคตเมื่อราคาเม็ดพลาสติกทั้งสองชนิดมีราคาใกล้เคียงกันก็จะเป็นโอกาสสำหรับพลาสติกชีวภาพ
"ทางสถาบันพลาสติกมองว่าพลาสติกชีวภาพเป็นอนาคตของอุตสาหกรรมพลาสติก แต่ขอแนะนำว่า พลาสติกชีวภาพเป็นวัสดุใหม่และอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งเอกชนต้องฝ่าฟันและแนะนำแก่ผู้บริโภคให้มาก" ผอ.สถาบันพลาสติกกล่าว และเพิ่มเติมว่าพลาสติกชีวภาพของต่างประเทศได้จากข้าวโพด ส่วนของไทยได้จากน้ำตาลที่มาจากอ้อยและมันสำปะหลัง
ผู้จัดการทั่วไปของคอนเซปต์ทรี ยังกล่าวถึงแนวทางการทำตลาดธัมบ์ไดร์ฟพลาสติกชีวภาพว่า เน้นเข้าหาองค์กรที่มีนโยบายจัดซื้อจัดจ้างวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และจัดซื้อสินค้าแจกเป็นของขวัญ ซึ่งจะเป็นโอกาสในการสร้างประสบการณ์ใช้สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยตั้งราคาขายที่ 250-270 บาท ซึ่งราคาใกล้เคียงธัมบ์ไดร์ฟนำเข้าที่มีราคา 200-300 บาท และก่อนหน้านี้นำเข้ากว่า 5,000 ชิ้น
ทางด้าน อุไร เชื้อเย็น หัวหน้าฝ่ายบริหารแผนงานและโครงการพิเศษและเร่งด่วน กองบริหารแผนและงบประมาณการวิจัย วช.กล่าวว่า ธัมบ์ไดร์ฟจากพลาสติกชีวภาพเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพ โดย วช.ยังสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีก อาทิ ถุงหิ้ว และถุงแกงร้อน ที่จะเปิดตัวต่อไปในอนาคต
*******************************