ระยอง - ปตท.ร่วมลงทุนบริษัทญี่ปุ่น สร้างโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพแห่งแรกของโลก ในนิคมอุตสาหกรรมเอเซีย
วันนี้ (2 ก.ย.) ที่บริษัท พีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม จำกัดเลขที่ 3/1 หมู่ 2 ถนนเอเซียอเวย์นิว นิคมอุตสาหกรรมเอเซีย ต.บ้านฉาง อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นประธานพิธีวางศิลาฤกษ์ โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพชนิดพอลิบิวทิลีนซัคซิเนต ของบริษัท พีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม จำกัด มี นายวราวุธ ปิ่นเงิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นายสุชิน พูลหิรัญ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านฉาง นายธาดา สุนทรพันธ์ ผู้อำนวยการนิคมอุตสาหกรรมเอเซีย นายวรวัฒน์ พิทยศิริ กรรมการผู้จัดการบริษัท พีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม จำกัด เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย พร้อมแขกผู้มีเกียรติร่วมแสดงความยินดีจำนวนมาก
นายวรวัฒน์ พิทยศิริ กรรมการผู้จัดการบริษัท พีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม จำกัด กล่าวว่า โรงงานแห่งนี้เกิดขึ้นภายใต้การร่วมทุนระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท มิตซูบิชิ เคมิคอล คอร์เปอเรชั่น (MCC) จากประเทศญี่ปุ่น ที่มีเจตนารมณ์ร่วมกันในการสร้างนวัตกรรม และผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสอดคล้องต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ที่ยั่งยืนในอนาคต ตามแนวทาง Green For Life ของกลุ่ม ปตท. และการสร้างเทคโนโลยีที่คำนึงถึงความยั่งยืน และความเป็นอยู่ของมนุษย์ตามแนวทาง KAITEKI ของ MCC
ดังนั้น การผลิตเม็ดพลาสติกดังกล่าวจึงใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ การก่อสร้างดำเนินการโดยกิจการค้าร่วมระหว่างบริษัท ฮิตาชิ แพลนท์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท โตโยไทย คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) คาดว่าจะแล้วเสร็จและดำเนินการผลิตได้ในปี 2558 ซึ่งจะเป็นโรงงานที่ผลิตพลาสติกชนิดพอลิบิวทิลีนซัคซิเนต ที่ผลิตเพื่อการค้าแห่งแรกของโลก ด้วยกำลังการผลิต 20,000 ตันต่อปี
ดร.ไพรินทร์ กล่าวว่า งานวางศิลาฤกษ์โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพวันนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวที่สำคัญ และมีความชัดเจนของกลุ่ม ปตท. ในการเดินหน้าพัฒนาสู่การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างสมบูรณ์แบบ ในปีที่ผ่านมา ได้สร้าง “ป่านิเวศ ระยองวนารมย์ กลุ่ม ปตท.” บริเวณทางเข้านิคมอุตสาหกรรมเอเซีย พื้นที่ 5 ไร่ในเฟสแรก เมื่อเสร็จทั้ง 3 เฟส จะมีพื้นที่รวมกันประมาณ 91 ไร่ ปลูกต้นไม้ 550,000 ต้น
ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการสร้างพื้นที่สีเขียวโดยการปลูกป่าก่อนที่จะเริ่มสร้างโรงงาน แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาพื้นที่ของ ปตท.ในนิคมอุตสาหกรรมเอเซีย ให้เป็นต้นแบบของอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของประเทศไทย ตามแผนปฏิบัติการ Green Roadmap ของกลุ่ม ปตท.